บิ๊กธุรกิจให้โจทย์รัฐบาลใหม่ แก้คอร์รัปชั่น ปฏิรูปภาคเกษตร

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

บิ๊กธุรกิจให้โจทย์รัฐบาลใหม่

แก้คอร์รัปชั่น

ปฏิรูปภาคเกษตร

 

หลังการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 เปิดทางให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ท่ามกลางความหวังของประชาชนและนักธุรกิจที่อยากเห็นการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการนำประเทศชาติไปสู่ความรุ่งเรืองในอนาคต

ทั้งนี้ นักธุรกิจชั้นนำจำนวน 6 คนได้ให้คำแนะนำรัฐบาลชุดใหม่ถึงเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการทันทีที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า รัฐบาลใหม่มีเรื่องเร่งด่วนที่ควรต้องทำทันทีก็คือ “การแก้รัฐธรรมนูญ” เพราะเชื่อว่าประเทศใดที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ใช้ระบบเสรีนิยมและประเทศที่มีกลไกตรวจสอบ มีสังคมที่ไม่ยอมรับให้มีการคอร์รัปชั่น จะทำให้เป็นประเทศที่มั่งคั่งและทั่วถึง

โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีจุดอ่อนมากมายที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยยังห่างไกลดัชนี Democracy Index จึงอยากเห็นรัฐบาลใหม่ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ

ส่วนนโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรทำก็คือ การลดขนาดของรัฐลง ลดบทบาทของรัฐและลดอำนาจของรัฐลง เพราะทั้ง 3 อย่างเป็นบ่อเกิดของการ “คอร์รัปชั่น” นอกจากลดขนาดแล้วจะต้องมีกลไกเข้าไปตรวจสอบด้วย วิธีไม่ให้ทุนธุรกิจยุ่งกับการเมืองก็คือ ไปลดประโยชน์ที่ทุนจะได้จากการเมือง โดยการปล่อยให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งประเทศอื่นทำสำเร็จมาแล้วอย่างน้อย 40 ประเทศ

ทำไมประเทศไทยจะทำไม่ได้

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP เห็นว่า รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน 1 ใน 3 ของประเทศ

ที่ผ่านมาภาคการเกษตรยังอยู่ในระดับการใช้เทคโนโลยีระดับเฉลี่ย 1.0 เป็นเกษตรรายย่อยครัวเรือน ยังไม่สามารถพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรมได้

รัฐบาลใหม่ควรมองถึงแนวทางในการพัฒนา “ระบบสหกรณ์” ใหม่ จากสหกรณ์ปัจจุบันที่มีมากถึง 5,000 แห่ง “แต่ 2 ใน 3 ของสหกรณ์เหล่านี้มีการดำเนินงานที่ไม่ประสบความสำเร็จ”

ต้องปลดล็อกให้เกิดการพัฒนาสหกรณ์เป็น “องค์กร” หรือ “วิสาหกิจชุมชน” ที่สามารถนำพาเกษตรกรไทยให้เปลี่ยนผ่านสร้างการเติบโตได้ ทั้งยังมองไปถึงโอกาสที่จะใช้ระบบสหกรณ์ผ่าน PPP หรือ Public Private Partnership เพื่อให้สหกรณ์เป็นผู้ลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำ เพราะเรื่องชลประทานถือเป็นปัญหาใหญ่ของการทำเกษตรกรรมในประเทศ

นอกจากภาคเกษตรแล้ว นายศุภชัยมองว่า เรื่องการศึกษา การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญมาก ไทยควรพัฒนาคนเพื่อมุ่งสู่การเป็น Tech Hub ซึ่งเกี่ยวโยงกับสตาร์ตอัพจำนวนมาก ไทยควรให้ทุนเด็กได้ลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนา Tech Startup หากทำได้ 20,000 Tech Startup รายหนึ่งมีคน 50 คน จะทำให้ไทยมีคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการมากถึง 1 ล้านคน

ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม (Innovation Center) ของภูมิภาคได้

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เห็นว่า อนาคตประเทศไทยหลังจากการเลือกตั้ง “เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางดีขึ้น” จากเหตุผลที่ว่า ประเทศไทยมีทำเลเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาค มีจุดแข็งด้านสาธารณูปโภคและสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

ดังนั้น รัฐบาลใหม่ต้องมาสานต่อเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องการสร้างความเติบโตให้ประเทศในด้านการลงทุน ด้วยการใช้นโยบายส่งเสริมแบบ “โปรแอ็กทีฟ” ไทยต้องเลิกตั้งรับ ต้องวางกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปโภคบริโภค และต้องไม่ใช่ดึงแค่บริษัท แต่ต้องดึงมาทั้งคลัสเตอร์ เริ่มจากดึง “แม่เหล็กในคลัสเตอร์” มาได้ ซัพพลายทั้งหมดก็จะตามมา

“รัฐบาลใหม่ไม่ว่ามาจากพรรคไหน อาชีพอะไร นั่นเป็นเพียงแบ๊กกราวด์ แต่เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วแปลว่า ต้องมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ไม่ดูเฉพาะนโยบายพรรคตัวเอง ขอให้มององค์รวม ทำงานให้ประเทศ คือทีมงานเดียวกันต้องมีไดเร็กชั่นเดียวกันด้วย”

น.ส.จรีพรกล่าว

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC บริษัทให้บริการไอทีระดับแถวหน้าของประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ที่สุดก็คือ ปัญหาเรื่องความสามารถในการประกอบกิจการของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME)

โดยมองว่า SME คือภาคที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

ถ้า SME เติบโตแข็งแรง ประเทศก็จะโตไปด้วย เพราะรัฐจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น มีงบประมาณสำหรับบริหารจัดการและแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ได้มากขึ้น

ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ SME มีความสามารถในการแข่งขันและขยายเติบโตได้ก็คือ “การใช้ไอที” การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีกำลังที่จะทำได้เองเหมือนบริษัทใหญ่

“อีกปัจจัยที่สะท้อนว่า SME ในประเทศไทยไม่แข็งแรงก็คือ ประเทศไทยมีคนจำนวนมากที่ทำงานต่ำกว่าศักยภาพของตัวเอง เพราะประเทศไทยมี ‘งาน’ ที่ต้องการใช้คนที่มีศักยภาพสูงในปริมาณน้อย แม้แต่ในวงการไอทีก็ตาม”

ดังนั้น เพื่อจะช่วยให้ SME มีความสามารถในการแข่งขันและแข็งแรงขึ้นได้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลต้องช่วยสองด้าน ด้านหนึ่ง ต้องทำให้ซอฟต์แวร์ราคาถูกลง

และอีกด้านหนึ่ง รัฐต้องช่วยสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการใช้ไอที เพราะหากมีซอฟต์แวร์-มีระบบที่ดีแล้ว แต่ไม่มีคนที่ใช้งานเป็น ไม่มีคนที่ดู DATA เป็น ก็ไม่สามารถใช้ประโชน์จากซอฟต์แวร์ราคาแพงได้ “ไทยก็ไม่สามารถไปต่อได้”

ขณะที่ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ได้สะท้อนถึงปัญหาที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญ นั้นก็คือ การสร้าง “เอนจิ้น” ตัวใหม่ที่จะมาช่วยผลักดันหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ประเทศไทยยังไม่มี “โปรดักต์” อะไรที่ใช้ความสามารถผลิตจากวัตถุดิบที่เกิดในประเทศ ใช้กระบวนการและทรัพยากรในประเทศและสามารถขายทั้งในประเทศและส่งออก หรือถ้ามีก็อาจจะอยู่ในระดับที่เล็กมากจนไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้

“รัฐบาลต้องมองว่า ไทยจะไปอยู่ตรงจุดไหนในซัพพลายเชนของโลก และพยายามหาจุดนั้นให้เจอ เพื่อนำมาปรับให้เป็นนโยบาย สร้างเป็นโกรสเอนจิ้นตัวใหม่ของประเทศเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ เรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาก็คือ “ปัญหาเรื่องคน” อยากให้ทบทวนอย่างเร่งด่วนเพราะอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะ “แบรนด์จีน” ที่รัฐบาลไปชักชวนมาลงทุนในประเทศไทยน่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ ซึ่งถึงตอนนั้น จะเกิดการแย่งงานกันแน่นอน

“เอาแค่โรงงานละ 1,000 คน 5 โรงงานก็ราวๆ 5,000 คน นี่ยังไม่รวมผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าที่มีอยู่ในบ้านเราที่ต้องขยายไลน์การผลิตเพิ่มเติม ปัญหานี้คือเรื่องเร่งด่วนเพราะแรงงานที่ต้องการส่วนใหญ่เป็นประเภทพร้อมใช้ ไม่ใช่เอาไปแล้วต้องไปฝึกทักษะกันอีก”

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) มือปั้นสตาร์ตอัพรุ่นแรกของไทย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะมีอนาคตได้ ต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย

ในระยะสั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเป็น PRIORITY ก็คือ การแก้หนี้ครัวเรือน แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ถัดจากนั้นก็คือ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ใน 4 ปีแรกรัฐบาลต้องสร้างรากฐานของประเทศขึ้นมาใหม่ แล้วใน 4 ปีถัดไปจะมีโอกาสสร้างอนาคต

“เศรษฐกิจประเทศไทยยังเป็นการรับจ้างใช้แรงงาน ยังทำผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อย ดังนั้น ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องรีสกิลคนทั้งประเทศเพื่อให้มีแรงงานป้อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องมี ENABLING INFRASTRUCTURE เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดโอกาสให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานอย่างชาญฉลาด และทำงานอย่างมีความสุข และรัฐบาลต้องสนับสนุนสตาร์ตอัพ” นายเรืองโรจน์กล่าว

ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ จะเป็นช่วงเวลาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ที่จะเติบโต

“หากประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย ไทยจะตกขบวน”