14 พฤษภาฯ-วันประชาชนกำหนดอนาคต

วงค์ ตาวัน

การยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม เกิดขึ้นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะหมดวาระอีกเพียงแค่ 3 วัน โดยวันหมดอายุของสภาคือเที่ยงคืนวันที่ 23 มีนาคม เป็นวันครบ 4 ปี นับจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วคือวันที่ 24 มีนาคม 2562

บ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามยื้อเวลาอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด เพื่อให้ตัวเองเป็นรัฐบาลมีอำนาจเต็มอยู่ยาวมากที่สุด

อันที่จริงจะอยู่จนครบเทอมคือถึงวันที่ 23 มีนาคม โดยไม่ต้องยุบสภาก็ได้ เพราะอย่างไรสภาก็ครบวาระ จากนั้นก็เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องยุบสภา เพื่อช่วยลดเวลาในการย้ายเข้าสังกัดพรรคใหม่ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ลงเหลือ 30 วัน เพราะหากปล่อยให้สภาหมดอายุตามวาระ จะต้องเข้าสังกัดพรรคใหม่ในเวลา 90 วัน

ช่วยลดเวลาเพื่อประโยชน์ของพรรค พล.อ.ประยุทธ์เอง ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคการเมืองใหม่ ผู้สมัครที่มีอยู่ในเวลานี้ยังไม่ใช่แม่เหล็กสักเท่าไหร่ ยังต้องพยายามเจรจาดึงตัวคนดังๆ เข้ามาอีก ทั้งต้องการอยู่ในอำนาจเป็นรัฐบาลปกตินานที่สุด แต่ก็ต้องยุบสภา เพื่อประโยชน์ในการดึงตัวผู้สมัคร ส.ส.

เพราะปรารถนาในทั้ง 2 อย่าง ก็เลยต้องยุบสภา แต่ยุบแบบยืดให้จนใกล้ถึงวันครบอายุมากที่สุดด้วย

แต่เอาเป็นว่า หลังจากยุบสภาแล้ว การกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต. ก็ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการเสียที คือวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม โดยให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคม

14 พฤษภาคม 2566 นี้จะเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกวัน

เป็นวันที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้ใช้อำนาจในมือของเราๆ ท่านๆ เพื่อเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันเป็นการกำหนดอนาคตของประเทศไทย

ยิ่งกำลังมีการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันไปเลือกตั้ง แบบช่วยกันปิดสวิตช์ 250 ส.ว.

ยิ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีประเด็นท้าทายประชาชน ให้ไปช่วยกันหยุดกลไกอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม ด้วยการเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้เข้ามาแบบถล่มทลาย เพื่อทำให้เสียง 250 ส.ว.หมดความหมาย ไม่มามีส่วนกำหนดชี้ขาดตัวนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงๆ ก็จะเป็นวันเลือกตั้งที่ประชาชนช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง!

 

ปกติคำประกาศยุบสภานั้น มักจะต้องอ้างอิงเหตุผลว่า เนื่องจากเกิดวิกฤตทางการเมือง เช่น ฝ่ายบริหารขัดแย้งกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างหนัก หรือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลขัดแย้งกันเอง จนทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ จึงต้องใช้การยุบสภา เพื่อเป็นทางออกทางการเมือง

แต่กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคมนั้น อ้างเหตุผลว่า ได้ปิดสมัยประชุมสามัญในปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงสมควรยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นการทั่วไป อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ เพราะไม่มีสถานการณ์ความขัดแย้งใดๆ ในสภาจริงๆ จึงไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้

ส่วนเหตุผลจริงๆ ก็เอามาใส่ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะต้องการลดเวลาเข้าสังกัดพรรคใหม่ของ ส.ส.เหลือเพียง 30 วัน แทนที่จะต้องเป็น 90 วัน และเพราะรัฐบาลต้องการอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุด ก็เลยดึงเวลามาจนจวนเจียนจะหมดอายุสภาอีกแค่ 3 วัน

จริงๆ แล้ว เดิมทีวันเวลาการยุบสภา ที่กลุ่ม 3 ป.วางเอาไว้นั้น เตรียมจะยุบสภาในปลายปี 2565 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

ตอนนั้นปรากฏเป็นข่าวมากมายว่า รัฐบาลขอเวลาจัดงานใหญ่คือการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อโชว์ผลงานระดับนานาชาติ และเพื่อโชว์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำอินเตอร์ กระทบไหล่ผู้นำระดับโลก

พอประชุมเอเปคจบ ก็จะยุบสภาในช่วงปลายปี โดยใช้คำว่า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

แต่การเมืองในกลุ่ม 3 ป.เกิดพลิกผัน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตกลงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการมีฐานะกุมการนำพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจนมากกว่านี้

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแยกไปอยู่พรรคใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ทำให้ต้องปรับแผนยุบสภา ด้วยการลากต่อไปให้เป็นรัฐบาลมีอำนาจยาวนานที่สุด จะได้ใช้ความเป็นรัฐบาลอนุมัติโครงการต่างๆ แบบเทกะจาด เพื่อสร้างคะแนนนิยม

รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์จะได้ใช้ความเป็นนายกฯ อ้างการออกตรวจงานในต่างจังหวัดอย่างถี่ยิบ เพื่อเป็นการหาเสียงแบบเนียนๆ

จึงเป็นเหตุให้ การยุบสภา จึงเพิ่งมาเกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม แล้วก็อ้างเหตุผลวิกฤตการเมืองไม่ได้ ก็เลยอ้างได้แต่ว่า เพื่อเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน

แต่เอาเป็นว่า ข้อความที่อ้างในประกาศยุบสภา จะช่วยเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนคนไทยได้ตระหนักว่า

เขาต้องคืนอำนาจให้กับเราๆ ท่านๆ แล้วไปตัดสินใจกำหนดผู้บริหารประเทศชุดต่อไป ในวันเข้าคูหา 14 พฤษภาคม

เพื่อให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ มีคนใหม่ๆ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล และเพื่อหยุดอำนาจ 250 ส.ว.ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

 

กระแสการเลือกตั้งปี 2566 นี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ประชาชนต้องการโอกาสเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อให้ได้ผู้นำที่เก่งกาจด้านเศรษฐกิจ มาพลิกฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนที่ยากลำบากมา 8-9 ปี

โดยเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของประชาชนผ่านสื่อต่างๆ หลังข่าวการยุบสภา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจที่ยุบสภาเสียที เพื่อจะได้เลือกตั้งใหม่ เป็นโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลง ได้คนเก่งๆ เข้ามาแก้ไขเศรษฐกิจ

จึงกล่าวได้ว่า ประเด็นทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องใหญ่สุด ในการคิดตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกใคร พรรคไหน

แถมยังให้ความสำคัญอีกด้วยว่า ต้องการพรรคที่เก่งด้านพลิกฟื้นเศรษฐกิจรวดเร็ว และยิ่งเป็นพรรคที่เคยทำให้เห็นมาแล้ว ว่าเก่งจริง ทำได้จริง ก็จะยิ่งเข้าตาประชาชน

ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องประชาธิปไตย เป็นอีกกระแสสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

โดยส่วนหนึ่ง เป็นกระแสเรียกร้องให้ช่วยกันเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ให้เข้ามามากที่สุด จนมีสัดส่วนที่ทำให้เสียง 250 ส.ว. หมดความหมายไป

นี่คือกระแสการเลือกตั้งแนวประชาธิปไตย พุ่งเป้าไปที่การหยุดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้มามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโหวตนายกฯ

ในกระแสประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง ยังมีอีกประเด็นที่กล่าวขวัญกันมาก

คือเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีฝีมือแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ และยังสามารถประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจอื่นๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป

หรือจะเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่ไม่ประนีประนอมกับอำนาจเก่า เดินหน้าผลักดันการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างตรงไปตรงมา แก้ไปถึงปัญหาโครงสร้างของประเทศ

กรณีนี้ จึงเกิดการถกเถียงกันในหมู่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย ว่าจะเลือกประชาธิปไตยแบบไหน

แบบพรรคเพื่อไทย หรือแบบพรรคก้าวไกล

ในช่วงที่เหลือเวลาอีก 1 เดือนกว่าๆ คงจะต้องถกเถียงกันไปอีกยกใหญ่

แต่ที่แน่ๆ กระแสของการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องมีเรื่องการแก้เศรษฐกิจปากท้อง และเลือกโดยให้เสียงฝ่ายประชาธิปไตยเหนือกว่ากลไกเผด็จการ เป็นประเด็นสำคัญ!!