เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม-137 สุดอันตราย-สารก่อมะเร็ง ผวาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม จี้รัฐดำเนินคดีโรงไฟฟ้า

อาชญากรรม | อาชญาข่าวสด

 

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม-137

สุดอันตราย-สารก่อมะเร็ง

ผวาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

จี้รัฐดำเนินคดีโรงไฟฟ้า

 

ถูกจับตามองว่าจะกลายเป็นหายนะในอนาคตหรือไม่ สำหรับกรณีวัตถุบรรจุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่สูญหายไปจากโรงงานผลิตไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จนกระทั่งกลายเป็นข่าวเมื่อมีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ตามด้วยการส่งทีมค้นหาตามแหล่งรับซื้อของเก่า และพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน และในที่สุดก็พบสารกัมมันตรังสีดังกล่าว

แต่อยู่ในสภาพที่ถูกหลอมละลายเอาวัตถุภายนอกออก โดยพบรังสีซีเซียม-137 ปนอยู่ในฝุ่นแดงที่ผ่านการถลุงเรียบร้อย

กลายเป็นความหวาดผวาของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญระบุว่าฝุ่นละอองสามารถพัดไปได้ไกลกว่า 1 พันกิโลเมตร สามารถปนเปื้อนเข้าไปในทุกที่ ทั้งแหล่งน้ำ ดิน อากาศ ส่งผลกระทบต่อพืชพรรณธัญญาหารต่างๆ

สามารถสะสมในร่างกายจนกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ เป็นภัยเงียบที่ยากจะจินตนาการว่าจะส่งผลอย่างไรในอนาคต

ในขณะที่ยังคงสับสน คำถามก็พุ่งตรงไปที่แนวทางการจัดการภาครัฐที่ควรเข้าบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการควบคุมสารกัมมันตรังสี การตรวจสอบการปนเปื้อน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่มีการปกปิด

รวมทั้งสืบสวนสอบสวนหาที่มาที่ไปว่าวัตถุดังกล่าวหายไปได้อย่างไร

เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ!!!

วัสดุที่หาย

ไทม์ไลน์ซีเซียม-137 หายปริศนา

สําหรับเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รับรู้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม โดยการเปิดเผยของ พ.ต.อ.มงคล โท้เป๋า ผกก.สภ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ระบุว่า ได้รับแจ้งจากโรงไฟฟ้า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ว่าท่อบรรจุสารนิวเคลียร์ซีเซียม-137 หายไปตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีการแจ้งความในวันที่ 10 มีนาคม

หลังรับเรื่องได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สสจ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบหาวัตถุดังกล่าว ขณะที่มีการระบุว่าจะให้รางวัลผู้แจ้งเบาะแสเป็นเงิน 5 หมื่นบาท และเพิ่มเป็น 1 แสนบาทในเวลาต่อมา

โดยเจ้าหน้าที่ใช้แนวทางการตรวจสอบค่ารังสี ตามร้านรับซื้อของเก่า ภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง และโรงงานต่างๆ ในรัศมีใกล้กับโรงไฟฟ้า รวมทั้งใช้โดรนบินตรวจจับสัญญาณกัมมันตรังสี รวมทั้งใช้รถเข้าสำรวจในแต่ละชุมชนเพื่อวัดค่ารังสี แต่ก็ยังไม่พบ

จนกระทั่งช่วงค่ำของวันที่ 19 มีนาคม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี 5 แห่ง โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ไอโซโทปรังสี ในการตรวจสอบเพื่อใช้สำรวจปริมาณรังสี และวิเคราะห์ชนิดของสารกัมมันตรังสี จากวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นสารกัมมันตรังสี หรือวัตถุที่อาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137

ผลการตรวจสอบพบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่งมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากการผลิตโลหะ

สันนิษฐานว่าจะมาจากวัตถุบรรจุสารซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้า และผ่านระบบเข้าโรงหลอมเรียบร้อย

กลายเป็นความหวาดผวาว่าจะฟุ้งกระจาย และปนเปื้อนลงสู่แหล่งธรรมชาติ

รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน!!

ผู้ว่าแถลง

รบ.ยันไม่ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม นายรณรงค์ นครจินดา ผวจ.ปราจีนบุรี เปิดแถลงชี้แจงกรณีดังกล่าว ระบุว่า จากการตรวจสอบโรงงานหลอมเหล็กจากเศษเหล็กใช้แล้ว ใน จ.ปราจีนบุรี พบโรงงานแห่งหนึ่งมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิตอยู่ภายในถุงบิ๊กแบ๊กที่ใช้สำหรับใส่ฝุ่นโลหะ แต่ไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในสภาพอากาศและน้ำโดยรอบ

ฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิตจะมีลักษณะเป็นผลึกคล้ายเกลือ ไม่ใช่เป็นฝุ่นผงที่มีการฟุ้งกระจายในอากาศ ขณะที่โรงงานดังกล่าวมีกระบวนการผลิตในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้น ฝุ่นที่ปนเปื้อนมีระบบกรองป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

อีกทั้งฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้าย และจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติดำเนินการตรวจวัดการปนเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงาน

สรุปได้ว่าฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ยืนยันสารซีเซียม-137 ที่พบในโรงงานหลอมเหล็กดังกล่าวเป็นท่อบรรจุสารซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าหรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เผยว่า การตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่าโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิตไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 แต่เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่ในบริเวณโรงงานพบว่าระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ

นอกจากนี้ ตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำบริเวณโดยรอบของโรงงาน ระดับรังสีอยู่ในระดับปริมาณตามปกติปริมาณรังสีในธรรมชาติเช่นกัน ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม

และจากการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน จำนวน 70 คน ไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด

สรุปได้ว่า ฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนในบริเวณจำกัด ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารซีเซียม-137 ทั้งดิน น้ำ และอากาศ

ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง

เป็นคำยืนยันจากภาครัฐ!!!

ตรวจสารปนเปื้อน

นักวิชาการจี้เฝ้าระวัง 5 ปี

สําหรับซีเซียม-137 นั้น เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี สลายตัวโดยปล่อยรังสีเบตา และรังสีแกมมาที่มีพลังงานสูง มีการนำซีเซียม-137 มาใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม ใช้ปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี รวมถึงใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมา

ซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง สภาพคล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายและเปื้อนได้ง่ายหากแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว้ ดังนั้น ผู้ที่สัมผัสกับผงซีเซียม-137 อาจได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือการหายใจ และรับประทานผงซีเซียม-137 เข้าไป เมื่อซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายจะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue) ของอวัยวะต่างๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของอวัยวะที่ซีเซียม-137 เข้าไปสะสมอยู่

โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมออกแถลงการณ์ชี้ให้เห็นความไม่รัดกุมในการจัดการวัตถุอันตรายของเจ้าของโรงไฟฟ้า และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แจ้งความบริษัทในข้อหาไม่แจ้งการสูญหายโดยพลัน

ขณะที่เรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการปล่อยปละละเลยและละเมิดกฎหมายตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในฐานะผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีอันตราย ไม่อาจรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

ทำให้สาธารณชนต้องตกอยู่ในความหวาดหวั่นและเสี่ยงภัย

การปล่อยปละให้ไม่ได้รับการดูแล ย่อมเป็นความผิดมหันต์ของผู้ครอบครองรวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้วย เรื่องราวที่น่าเคลือบแคลงนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงและเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส

จี้ให้ตรวจสอบการปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อมและของเสีย ประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยให้ชัดเจน ไม่ผลักภาระให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องรับผิดชอบเอง

ขณะที่ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า หายนะแท่งซีเซียมถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก มีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศ ขี้เถ้าหนัก รวมทั้งฝุ่นในโรงงานคืออนุภาคซีเซียมที่ปล่อยรังสีแกมมาและเบตาออกมา คือสารก่อมะเร็ง ในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กิโลเมตร ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ

รังสีที่แผ่ออกมาจากฝุ่นซีเซียม-137 จะทำให้เซลล์ในร่างกายเกิด Mutation หรือกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ บางส่วนของรังสีจะไปกระตุ้นดีเอ็นเอในยีนให้เปลี่ยนรูป สุดท้ายประมาณ 5-10 ปีก็อาจกลายเป็นมะเร็งได้

ผลกระทบต่อสุขภาพในปัจจุบันอาจไม่ค่อยเห็น แต่ระยะยาวมีผลกระทบแน่ ดังนั้น ภาครัฐต้องเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงานและประชาชนรวมทั้งในสิ่งแวดล้อมและในอาหารสัตว์น้ำ พืช ผัก ผลไม้ที่ปลูกใกล้เคียงโรงงานอย่างน้อย 1-2 ปี ให้แน่ใจว่าไม่มีตกค้างในห่วงโซ่อาหาร แล้วจึงค่อยวางมือ

ขณะเดียวกันต้องบอกความจริงเกี่ยวกับผลของการตรวจวัดรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างน้อย 5 ปีด้วย

หากเห็นชีวิตประชาชนสำคัญ ก็ต้องเร่งดำเนินการ

รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่ละเลยจนเกิดความเสียหายเช่นนี้ด้วย!!!