‘จอห์น ล็อค’ นักปรัชญาผู้วางรากฐาน การเมืองสมัยใหม่

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

กว่าหลักการพื้นฐานที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” หรือ “อำนาจปกครองเป็นของประชาชน” จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในยุคปัจจุบัน

ความคิดนี้เคยเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ท้าทายสำนึกทางการเมืองของผู้คนมาก่อน

คือหากย้อนกลับไปในยุโรปยุคกลางหรือยุคมืด ครั้งที่ศาสนจักรยังคงมีอิทธิพลเหนืออาณาจักรต่างๆ ทั่วยุโรป และผู้คนยังไม่ตระหนักถึงเสรีภาพที่ตัวเองมีอยู่แต่กำเนิด ทำให้แต่ละคนไม่เชื่อว่าตนมีอำนาจปกครองตัวเองไปด้วย

นำมาสู่ระบอบการปกครองที่อิงอยู่กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าได้รับมาจากพระเจ้า

ดังที่รู้จักกันในฐานะ “เทวสิทธิ์” (Divine Right) หรือสิทธิการปกครองอันชอบธรรมที่ได้รับมอบมาจากพระผู้เป็นเป็นเจ้า

จนกระทั่งช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ.1632 ชายผู้หนึ่งนามว่า “จอห์น ล็อค” (John Locke) ได้ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ

ซึ่งในกาลต่อมาราว 57 ปี ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในทางปรัชญาการเมืองชื่อ “หนังสือสองเล่มว่าด้วยการปกครอง” (Two Treatises of Government) อันประกอบไปด้วยเล่มที่ 1 กับเล่มที่ 2 โดยโต้แย้งความคิดเรื่องเทวสิทธิ์ที่มีมาก่อน

แล้วแทนที่ด้วยแนวคิดเรื่อง “สิทธิธรรมชาติ” (Natural Rights) ซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญทางการเมืองการปกครองในสมัยปัจจุบัน

 

แนวคิดเรื่องเทวสิทธิ์ที่จอห์น ล็อค ตั้งใจจะหักล้างนี้เป็นทฤษฎีของนักคิดทางการเมืองคนหนึ่งชื่อว่า “โรเบิร์ต ฟิลเมอร์” (Robert Filmer) ซึ่งได้นำเสนอความคิดนี้ไว้ในงานชิ้นสำคัญของเขาชื่อ “ปิตาธิปไตย” (Patriarcha)

โดยฟิลเมอร์อ้างว่าผู้ที่มีสิทธิอันชอบธรรมในการปกครองประชาชนทั้งปวงก็คือกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว และในบริบทเฉพาะของเหตุการณ์นี้ก็คือกษัตริย์อังกฤษองค์ปัจจุบันในตอนนั้น

ส่วนประชาชนคนอื่นก็เป็นผู้อยู่ใต้การปกครองโดยมิอาจโต้แย้ง

เหตุผลที่ฟิลเมอร์อ้างก็คือเพราะพระเจ้าได้สร้างโลกและสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้น รวมทั้งมนุษย์ด้วย

มนุษย์คนแรกที่พระเจ้าสร้างก็เป็นชายชื่ออาดัม ต่อมาจึงสร้างผู้หญิงชื่ออีฟขึ้นจากซี่โครงของอาดัมอีกที

จุดกำเนิดอำนาจปกครองก็มาจากการที่พระเจ้าทรงมอบอำนาจการปกครองมนุษย์ให้กับอาดัม

แล้วอำนาจปกครองดังกล่าวกลายเป็นมรดกตกทอดไปสู่ทายาทของอาดัมรุ่นต่อมา กระทั่งไปถึงกษัตริย์อังกฤษในที่สุด

ดังนั้น กษัตริย์อังกฤษจึงมีสิทธิอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองราษฎรทั้งปวง

แนวความคิดนี้แพร่หลายไปทั่วในยุคสมัยนั้น ทำให้ผู้คนยอมรับสถานะที่ตนเป็นโดยไม่โต้แย้ง

แต่เมื่อหนังสือสองเล่มว่าด้วยการปกครองของจอห์น ล็อค ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน ทฤษฎีเทวสิทธิ์ก็ถูกท้าทายจนสั่นสะเทือน

 

ล็อคเสนอให้ผู้คนลองจินตนาการดูว่าหากไม่มีรัฐบาลและรัฐใดๆ อยู่เลย เขาเรียกสภาพที่ไร้รัฐใดๆ แบบนี้ว่า “สภาวะธรรมชาติ” (State of Nature) ในสภาวะธรรมชาตินี้มนุษย์แต่ละคนเมื่อเกิดมาโดยอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของใครหรือไม่ แน่นอนว่าคำตอบคือ “ไม่”

แล้วถ้าอย่างนั้นชีวิตของแต่ละคนขึ้นอยู่อำนาจการปกครองของใคร ล็อคเห็นว่าเป็นอำนาจการปกครองของตัวเอง

พูดให้ง่ายก็คือทุกคนเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อาณัติอำนาจของใครมาแต่กำเนิด

หากใครสักคนจะมีอำนาจเหนือผู้อื่นขึ้นมาได้สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้นภายหลัง

วิธีการอ้างเหตุผลแบบคิดจินตนาการนี้เรียกว่า “การทดลองทางความคิด” (Thought Experiment) ซึ่งบรรดานักคิดทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญาหรือนักวิทยาศาสตร์ต่างก็ใช้กันอย่างมากมาย และไม่ได้มีล็อคคนเดียวที่ใช้วิธีคิดแบบนี้

เพราะก่อนหน้านั้น “โธมัส ฮ็อบส์” (Thomas Hobbes, ค.ศ.1588-1679) นักปรัชญาชื่อดังชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งได้ใช้มาก่อนแล้ว

แต่ถึงจะใช้วิธีคิดตั้งต้นเหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องของสภาวะธรรมชาติ ทว่าบทสรุปของฮ็อบส์กับล็อคก็แตกต่างกันแบบตรงกันข้าม

กล่าวคือ ฮ็อบส์มองว่าถึงแม้ในสภาวะธรรมชาติมนุษย์จะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่ออำนาจปกครองของใครมาโดยกำเนิด

แต่เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต มนุษย์จึงยินยอมพร้อมใจกันมอบอำนาจทั้งหมดของตนให้กับผู้ที่แข็งแกร่งกว่าเป็นคนปกปักรักษาเป็นการถาวร (permanent) และสัมบูรณ์ (absolute)

ในขณะที่ล็อคกลับเห็นว่ามนุษย์ยินยอมมอบอำนาจบางส่วนของตนให้ผู้อื่นได้จัดการดูแลเป็นการชั่วคราว (temporary) และจำกัด (limited) เท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อทำให้แต่ละคนได้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

จะเห็นได้ว่าแนวคิดของฮ็อบส์และล็อคในเรื่องการอ้างสิทธิการปกครองนั้นแตกต่างจากฟิลเมอร์มาตั้งแต่แรก

เพราะฮ็อบส์และล็อคไม่ได้ยกเรื่องเทวสิทธิ์มาอ้างเป็นเหตุผลในการเป็นผู้ปกครองเลย ไม่เหมือนกับฟิลเมอร์ที่ยกเรื่องเทวสิทธิ์มาใช้เป็นพื้นฐานการคิด

แต่คนที่ตอบโต้แนวคิดเทวสิทธิ์อย่างจริงจังก็คือล็อค เขาแย้งฟิลเมอร์ว่าไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่าพระเจ้ามอบอำนาจปกครองมาให้อาดัม แล้วอาดัมส่งต่อสิทธิอำนาจนี้ให้กับทายาท

และถึงจะทราบว่ามีการมอบอำนาจก็ไม่รู้อยู่ดีว่าสิทธิอำนาจนี้ปัจจุบันไปตกอยู่ในมือใคร

ดังนั้น ข้ออ้างของฟิลเมอร์ว่ากษัตริย์อังกฤษได้รับสิทธิอำนาจในการปกครองนี้มาจากพระเจ้าจึงใช้การไม่ได้

ล็อคเห็นว่าในเมื่อไม่มีใครมีสิทธิในการปกครองผู้อื่นมาแต่เดิม จึงทำให้ทุกคนมีสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองอย่างเต็มที่

หากใครสักคนจะมีอำนาจปกครองคนอื่นได้ก็ต้องเป็นเพราะคนเหล่านั้น “ยินยอม” (consent) มอบอำนาจของแต่ละคนไปให้โดยสมัครใจ (voluntary) เท่านั้น

และการมอบอำนาจให้นี้ก็เป็นไปอย่างจำกัดและเป็นระยะเวลาชั่วคราวด้วย

 

ความคิดเหล่านี้ได้นำมาสู่หลักการเรื่อง “รัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด” (Limited Government)

วาระของการครองอำนาจ และ “ตัวแทน” (representative) ผู้ทำหน้าที่แทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ตามที่เห็นกันโดยทั่วไปในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ซึ่งผู้แทนของประชาชนในบริบทของสังคมไทยก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.นั่นเอง จากนั้น ส.ส.จึงตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีอีกทอดหนึ่ง

ส่วนกระบวนการเลือกตั้งแม้ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่กรีกโบราณแล้ว แต่รูปแบบการเลือกตั้งหยั่งเสียงประชาชนดังที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันเป็นผลจากแนวคิดแบบการเมืองสมัยใหม่ที่ตกทอดมาจากยุโรป “ยุคเรืองปัญญา” (Age of Enlightenment) เสียมากกว่า โดยมีตัวพ่อก็คือจอห์น ล็อค

เพราะฉะนั้น ความสำคัญของการเลือกตั้งจึงไม่ใช่เพียงเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้แบบนี้จึงต้องจัดให้มีขึ้นประหนึ่งพิธีกรรม

แต่เพราะว่ามันเป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ว่าเขาสมัครใจยินยอมมอบอำนาจที่ตนมีอยู่แต่กำเนิดไปให้ใครบริหารจัดการเป็นการชั่วคราว

ภายใต้วาระหรือกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนชัดเจน

 


หมายเหตุ : ผู้เขียนบันทึกคำบรรยายแนวคิดทางการเมืองของจอห์น ล็อค เอาไว้ใน YouTube ด้วย ผู้สนใจหากต้องการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามชมได้ทางลิงก์นี้ https://youtu.be/bPKd5xkIeCY