‘Leonor will Never Die’ คุณูปการของมหรสพความบันเทิง ‘เกรดบี’

คนมองหนัง

“Leonor will Never Die” คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “มาร์ติกา รามิเรซ เอสโกบาร์” ผู้กำกับฯ หญิงชาวฟิลิปปินส์ ที่สนุก มีอารมณ์ขัน และน่าสนใจมากๆ

หนังมีจุดยืนที่ชัดเจนในการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวัฒนธรรมละครน้ำเน่าทางโทรทัศน์ รวมถึงหนังบู๊เกรดบียุค 80 (แฟนหนัง-ละครชาวไทยน่าจะอินได้ไม่ยาก) ผ่านชะตากรรมของตัวละครอดีตนักเขียนบทหญิงผู้ยิ่งใหญ่ที่ตกอับในวัยชรา ซึ่งพยายามจะรื้อฟื้นคุณค่า-ความใฝ่ฝันของตนเอง

หนังเล่าเรื่องราวของ “ลีโอนอร์” อดีตบุคลากรหญิงคนสำคัญของอุตสาหกรรมบันเทิงที่กำลังตกอยู่ในภาวะถังแตกและไร้พลังในการทำงาน เธอใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้านที่เริ่มถูกตัดไฟกับลูกชายคนเล็กชื่อ “รูดี้” ซึ่งกำลังวางแผนจะหนีแม่ไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศ

ในบ้านของ “ลีโอนอร์” ยังมีวิญญาณตนหนึ่งคอยมาวนเวียนอยู่ นั่นคือวิญญาณของลูกชายคนโตที่เสียชีวิตไปแล้ว ขณะเดียวกัน อดีตสามีของนักเขียนบทหญิงก็แยกไปใช้ชีวิตของตนเอง และกำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น

อยู่มาวันหนึ่ง “ลีโอนอร์” ได้ประสบอุบัติเหตุแบบน่าชวนหวัว จนสิ้นสติกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ทว่า สภาวะดังกล่าวกลับกลายเป็นเส้นทางที่นำพานักเขียนบทรายนี้ให้หวนกลับไปสู่โลกจินตนาการที่เธอเสกสรรค์ปั้นแต่งเอาไว้

สําหรับผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “Leonor will Never Die” “มหรสพความบันเทิงเกรดบี” ที่เข้าถึงประชาชนหมู่มาก ดูจะมิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่โลกสมมุติปลอมๆ ที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือหลีกหนีออกจากโลกความจริงอันเจ็บปวดหรือไร้ที่ทางสำหรับตนเอง

ทั้งยังไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลรื่นเริงระยะสั้นๆ ซึ่งช่วยเจาะรูระบายให้คน (ผู้ชม) ที่ไร้อำนาจได้ปลดปล่อยอารมณ์ขันออกมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ระหว่างนั่งดูความไม่สมเหตุสมผล ผิดที่ผิดทาง หรือความเชยตกยุคต่างๆ นานา (ที่ถูกมองว่าเป็นความมีเสน่ห์หรือความ exotic) ปรากฏขึ้นบนจอภาพยนตร์

แต่ความบันเทิงแขนงนี้คือโลกของ “ความเป็นไปได้” หรือ “ความเป็นจริง” แบบอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตของผู้เกี่ยวข้อง (ทั้งคนทำและคนดู) มีคุณค่า-ความหมายขึ้นมา ในฐานะผู้กระทำการที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการอันเพริศแพร้ว และความคาดหวังถึงโลกใบที่ดีกว่าเดิม

อีกหนึ่งประเด็นที่หนังนำเสนอได้อย่างชวนขบคิด ก็คือ ท่าทีในทำนองว่าพวกละคร-หนังบู๊เกรดบีทั้งหลาย นั้นเป็นช่องทางที่ทำให้คนธรรมดา คนตัวเล็กตัวน้อย คนยากคนจน มีโอกาสได้ต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันหรือ “ต่อสู้ทางชนชั้น” กับคนมีเงิน คนมีอำนาจ ที่ใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน ฉ้อฉล

นี่ดูจะสวนทางกับมหรสพความบันเทิงชนิดเดียวกันในบ้านเรา ที่มีโครงเรื่องแบบ “ฝ่ายขวา” มากกว่า ผ่านพล็อตบู๊เพื่อชาติ บู๊เพื่อล้างแค้นศัตรูต่างชาติ บู๊ในนามคุณธรรมความดีเพื่อปราบปรามฝ่ายอธรรม ฯลฯ

โดยส่วนตัว มีรายละเอียด 3 จุดในหนังเรื่องนี้ที่ผมชอบมากๆ

จุดแรก คือ พอตัวละคร “ลีโอนอร์” ปรากฏตัวขึ้น แล้วภาพยนตร์ก็เริ่มแนะนำว่าเธอเป็นอดีตคนทำหนัง/ละครผู้ยิ่งใหญ่

รูปลักษณ์และชีวประวัติของตัวละครชาวฟิลิปปินส์รายนี้ก็เคลื่อนไปซ้อนทับกับภาพของ “นันทนา วีระชน” (คนเขียนนิยายในตลาดแมสที่ถูกนำมาผลิตเป็นละครโทรทัศน์หลายต่อหลายเรื่อง, คนเขียนบทละครทีวีร่วมสมัยและจักรๆ วงศ์ๆ จำนวนมากของช่อง 7 รวมถึงยังเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ด้วย) อย่างน่าทึ่ง

จุดที่สอง คือ ตัวละคร “ผีโปร่งแสง” ลูกชายคนโตของ “ลีโอนอร์” ที่ยังคงมีชีวิต-ตัวตนอยู่ในสายตาของสมาชิกครอบครัวรายอื่นๆ นั้นอาจทำให้เรานึกถึงตัวละครคล้ายๆ กันในหนังเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” โดย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

แต่ “ผีโปร่งแสง” ใน “Leonor will Never Die” ก็ดูจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า ด้วยบุคลิกลักษณะแบบ “ตัวละครในจอโทรทัศน์”

จุดสุดท้ายที่อาจทำให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งน้ำตาซึมได้ง่ายๆ คือ เหตุการณ์ตอนที่ “รูดี้” ลูกชายคนรองของ “ลีโอนอร์” (เหมือนหนังจะชี้ให้เห็นแบบรางๆ ว่าเขาเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ) เห็นแม่ไปโผล่อยู่ในทีวีที่โรงพยาบาล

สุดท้าย “รูดี้” จึงตัดสินใจเอาหัวโหม่งจอโทรทัศน์ให้แตกเพื่อจะเข้าไปหาแม่ แน่นอนว่าหลายคนคงหัวเราะก๊ากออกมาในแว้บแรกที่ได้ดูซีนนี้ แต่พอ “รูดี้” ดันกลายเป็นมนุษย์สามัญอีกรายที่โผล่เข้าไปโลดแล่นในโลกของละคร พร้อมบาดแผลบริเวณศีรษะ

นี่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันชัดเจนว่า “โลกของละครทีวี-โลกของหนัง-โลกของความบันเทิง” มิได้เป็นเพียงแค่พื้นที่สมมุติที่ใช้หลีกหนีออกจากความจริง แต่มันคือ “ความจริง” อีกชนิดหนึ่ง เป็น “ความจริงเพียงจริง” ที่จับต้องได้ และหลอมรวมอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน •

| คนมองหนัง