ยุบสภาแล้ว ยุบสภาอยู่ (ยุบสภา) แล้วยังไงต่อ?

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

เริ่มต้นวันแรกของสัปดาห์นี้ด้วยสิ่งที่หลายท่านเฝ้ารอคอยอยู่นานสองนาน นั่นก็คือ ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการประกาศยุบสภาเป็นที่เรียบร้อยเสียที

ที่ผมใช้คำว่า “หลายท่าน” นั้น ณ ที่นี้คงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ “เหล่าบรรดานักการเมือง” ซึ่งขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างขะมักเขม้น รวมทั้งวิ่งหา “บ้านใหม่” กันชนิดที่ต้องเรียกว่าอุตลุดจนหยดสุดท้ายหรอกนะครับ

หากแต่มันยังหมายถึง “ประชาชน” อย่างเราๆ ที่มือสั่นซ้อมจับปากกาอยู่ทุกวี่ทุกวัน

ว่าง่ายๆ เลยก็คือ ประชาชนเขาพร้อมทุกเมื่อที่จะเข้าคูหากากบาทเลือกผู้แทนฯ ของตนเองเพื่อฟอร์มทีมรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ อยู่มากมายหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกฎหมาย เพียงแค่บอกมาคำเดียวว่าจะมีการเลือกตั้งวันไหนเท่านั้นแหละ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เสียงเฮลั่นสนั่นเมืองและโซเชียลมีเดียจึงเกิดขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายเมื่อทราบว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภา ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการแล้วนั่นเอง

 

อย่างไรก็ดี เอาเข้าจริงการประกาศยุบสภาในสัปดาห์นี้ก็เป็นสิ่งที่คาดได้หมายรู้กันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้ผมแปลกประหลาดใจอะไร

ที่พูดแบบนี้ก็เพราะหากหยิบเอา “เข็มทิศทางการเมือง” อย่าง “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมากางเปิดดูก็จะพบว่ามีการบ่งชี้ถึงกรอบระยะเวลาไว้หมด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อมโยงกับกติกาของการย้ายบ้าน ที่กลไกการยุบสภาสามารถลดระยะเวลาของการสังกัดพรรคการเมืองจาก 90 เป็น 30 วัน

ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องสะดุดหยุดชะงักอยู่บ้างกับการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนหน้านี้

แต่เมื่อมีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา จึงต้องมีการยุบสภาก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 มีนาคม ตามลำดับ

เมื่อปัจจุบันเราอยู่ในช่วงของการยุบสภา วันนี้สิ่งที่จะขอหยิบยกขึ้นอธิบายให้ผู้อ่านได้ทราบกันจึงหนีไม่พ้นเรื่องของการยุบสภาครับ

แต่อาจเป็นการพูดถึงในประเด็นที่กว้างกว่าที่ใครหลายๆ พูดกัน

 

กล่าวคือ ไม่ใช่การกล่าวถึงเพียงแค่หลังจากการยุบสภาแล้วมีขั้นตอนในการเลือกตั้งอย่างไร

เพราะหากพูดกันตามหลักการแล้ว การยุบสภาไม่ได้มีผลแต่เพียงแค่ว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะของ กกต. ในฐานะองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่มันยังส่งผลต่อการกำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ อย่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลาของการยุบสภาหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาปกติ

ซึ่งกรณีดังกล่าวหลายท่านอาจยังไม่ทราบกัน

หลังจากอารัมภบทมาค่อนข้างมาก ขอเริ่มเข้าประเด็นกันเลย

 

ทําความเข้าใจเบื้องต้นเสียก่อนว่า เมื่อเรากำลังอยู่ในช่วงของการยุบสภา ต้องเข้าใจด้วยว่าคำว่า “สภา” หมายถึง “สภาผู้แทนราษฎร” ฉะนั้น เมื่อเราพูดว่านายกฯ ประกาศยุบสภาจึงมีความหมายเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นนะครับที่ถูกยุบ

ไม่ได้หมายความรวมถึงวุฒิสภาแต่อย่างใด

วุฒิสภาจึงทำงานของเขาต่อไปตามปกติไม่ได้หายไปไหน

เพียงแต่รัฐธรรมนูญจะเข้าไปจำกัดบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภาไม่ให้สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้เหมือนเดิม ซึ่งเดี๋ยวจะได้อธิบายในรายละเอียดกันต่อไป

คำถามสำคัญที่หลายท่านอยากทราบคำตอบตอนนี้ก็คือ เมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งจะต้องเริ่มนับหนึ่งตรงไหนอย่างไรและใครเป็นผู้ดำเนินการบ้าง?

ประเด็นนี้อาจตอบได้ว่า เจ้าภาพหลักคือ กกต. ครับ

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เมื่อมีการประกาศยุบสภาแล้วถือเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่าง กกต.ครับที่จะต้องรีบจัดทำประกาศเพื่อ “กำหนดวันเลือกตั้ง” แล้วเผยแพร่ให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน

ทั้งนี้ วันเลือกตั้งที่ กกต.กำหนดจะต้องอยู่ระหว่าง 45 ถึง 60 วันนับตั้งแต่วันประกาศยุบสภา ซึ่งทาง กกต.กำหนดไว้แล้วว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566

ส่วนวันเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566

แต่…เดี๋ยว…ยังไม่จบครับ!

 

นอกจากกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว กกต.ยังต้องกำหนดวันรับสมัครผู้ลงแข่งขันการเลือกตั้ง (แบบแบ่งเขต) โดยต้องเปิดรับสมัครภายใน 25 วัน และการเปิดรับสมัครต้องไม่น้อยกว่า 5 วัน

โดยเมื่อครบวันรับสมัครแล้ว กกต.ต้องรีบทำการประกาศรายชื่อผู้สมัครพร้อมชื่อพรรคและเบอร์ที่จะใช้ในการลงคะแนนเสียงภายใน 7 วัน ปัจจุบันเป็นวันที่ 3-7 เมษายน 2566

ตอนนี้เองที่ผู้สมัครของแต่ละพรรคจะได้ทราบว่าจะต้องชูมือชูหมายแสดงสัญลักษณ์เบอร์ที่ได้อย่างไรในการออกไปหาเสียง

ในขณะที่ประชาชนอย่างเราๆ ก็จะได้รู้เช่นกันว่า คนที่เราชื่นชอบนั้นเบอร์อะไร เพื่อที่จะได้เข้าไปกาในคูหาวันเลือกตั้ง

สำหรับบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เรียกกันติดปากว่า “ปาร์ตี้ลิสต์” นั้น กกต.ได้กำหนดให้พรรคการเมืองทำการส่งรายชื่อ พร้อมแจ้ง “บัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคเสนอให้แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ภายในวันที่ 4-7 เมษายน 2566 อีกด้วย

และที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิในการหย่อนบัตรเลือกตั้งของเราๆ กกต.เองจะต้องรีบจัดทำให้เสร็จพร้อมประกาศภายใน 25 วันก่อนวันเลือกตั้งครับ

 

คราวนี้หันไปดูที่องค์กรอื่นอย่างสภากันบ้างว่าเมื่อมีการยุบสภาแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติจะปฏิบัติหน้าที่กันอย่างไร

ซึ่งผมเองได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การยุบสภานั้นในทางรัฐธรรมนูญส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ต้องสิ้นสถานภาพไป

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต้องไปเลือกตั้งเพื่อหา ส.ส.เข้ามานั่งทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนในสภาผู้แทนราษฎรกันใหม่ แต่จะพูดว่าในช่วงยุบสภา ประเทศไทยไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่เสียเลยก็คงจะไม่ถูกต้องนัก

พูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เรายังคงมีวุฒิสภาอยู่

แต่รัฐธรรมนูญห้ามมิให้วุฒิสภาเปิดประชุมเพื่อใช้อำนาจเหมือนเวลาปกติได้

หมายความว่า วุฒิสภาจะไม่สามารถนั่งประชุมเพื่อพิจารณาออกกฎหมายใดๆ ได้

เว้นแต่จะเป็นบางกรณี เช่น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การประกาศสงคราม การพิจารณาบุคคลที่จะมาดำรงในองค์กรอิสระ ฯลฯ

กรณีเหล่านี้รัฐธรรมนูญอนุญาตให้กระทำได้โดยต้องขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเป็นการเฉพาะกิจเฉพาะการไป

แต่หากเป็นการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของ “สภาเล็ก” อย่างคณะกรรมาธิการต่างๆ ของวุฒิสภานั้นสามารถกระทำได้ตามปกติครับไม่ต้องห้ามใดๆ

 

หลายท่านอาจสงสัยต่อไปว่า แล้วงานที่คั่งค้างอยู่ล่ะ เช่น พวกกฎหมายต่างๆ จะทำอย่างไร?

ต้องบอกว่า “บรรดากฎหมายต่างๆ ที่ค้างท่ออยู่” ที่หมายถึง กฎหมายที่รัฐสภายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ซึ่งก็คือยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบกรณีหนึ่ง และกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภาอีกกรณีหนึ่ง กฎหมายทั้งหมดนี้ต้องตกไปทั้งหมดครับ

คำถามถัดมาที่ผมมักจะถูกสอบถามอยู่เสมอคือ รัฐบาลนี่แหละในฐานะผู้ตัดสินใจยุบสภาว่า ในระหว่างยุบสภา เขาจะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติหรือไม่อย่างไร?

เมื่อพลิกดูรัฐธรรมนูญก็จะสามารถตอบคำถามนี้ได้ว่า คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบไปด้วยนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็จะสิ้นสถานภาพไปพร้อมกับ ส.ส.

เพียงแต่ว่ายังคงต้องอยู่ทำหน้าที่บริหารประเทศในฐานะ “รัฐบาลรักษาการ” ต่อไปจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดสภาวะสุญญากาศหรือการหยุดชะงักในการบริหารประเทศจนเกิดความโกลาหลนั่นเอง

แต่มีสิ่งที่เน้นย้ำให้ทุกท่านได้ทราบและเข้าใจกันซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากก็คือ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการครับ

 

กล่าวคือ รัฐบาลรักษาการนี้จะไม่มีอำนาจเต็มเหมือนรัฐบาลปกติก่อนที่จะมีการยุบสภา

เนื่องจากในสายของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลรักษาการจะมีสถานะเป็นเพียง “รัฐบาลชั่วคราวที่รอส่งไม้ต่อให้รัฐบาลถาวร” จึงได้กำหนดให้ทำหน้าที่แต่เพียงการดำเนินภารกิจที่เป็นกิจวัตรทั่วไป หรือ “งานประเภทรูทีน” เท่านั้น

“ไม่สามารถ” ใช้อำนาจในการตัดสินใจกรณีสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ห้ามมิให้การอนุมัติงาน หรือโครงการใดๆ

2. ห้ามมิให้ดำเนินการอันมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป

3. ห้ามมิให้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตําแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน

4. ห้ามมิให้อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน และ

5. ห้ามมิให้ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

รัฐบาลรักษาการจึงต้องระมัดระวังและเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้

หากปรากฏกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน 5 ข้อข้างต้น ย่อมถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งอันมีบทลงโทษ

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ห้ามไว้ก็เพราะป้องกัน “การทิ้งทวน” ก่อนพ้นตำแหน่งไปประการหนึ่ง

และป้องกันการอาศัยตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในฐานะรัฐบาลไปใช้ประโยชน์ “สร้างความได้เปรียบและไม่เป็นธรรม” กับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่นเพื่อชนะการเลือกตั้งได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งอีกประการหนึ่งนั่นเอง

 

จากที่ผมได้อธิบายข้างต้นมาทั้งหมดคิดว่า คงพอที่จะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยว่าภายหลังจากการประกาศยุบสภา และในระหว่างห้วงช่วงเวลาดังกล่าว รัฐธรรมนูญไม่ได้เพียงแต่กำหนดให้เฉพาะ กกต.เท่านั้นที่มีภารกิจหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ

หากแต่ยังกำหนดบทบาทหน้าที่พร้อมเงื่อนไขบางประการที่แตกต่างจากช่วงปกติให้วุฒิสภาในฐานะของฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลรักษาการในฐานะฝ่ายบริหาร ต้องกระทำการพร้อมกันไปด้วยจนกว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศต่อไป

เพราะการใช้อำนาจในระหว่างยุบสภาในทุกองค์กรย่อมนำไปสู่การกระทำสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมด้วย

เอาล่ะ! นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในด้านหนึ่งนอกจาก กกต. วุฒิสภา และรัฐบาลรักษาการ คงจะทำหน้าที่ของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว

อีกด้านหนึ่ง พรรคการเมืองแต่ละพรรคน่าจะมีอะไรให้ติดตามอย่างชนิดที่เรียกว่าคลาดสายตาไม่ได้เลย

เพราะผมเชื่อว่าจะมีการอภิปรายหาเสียงกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน การนำเสนอนโยบายใหม่ปังๆ การประกาศจุดยืนจุดขายทางการเมืองที่ชัดยิ่งขึ้น

รวมตลอดถึงการเสนอแคนดิเดตนายกฯ ตัวตึงเพิ่มเติม ทั้งหมดเพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนกันแบบไม่เกรงใจใคร

เพราะศึก (เลือกตั้ง) ครั้งนี้สำหรับบางคนบางพรรคแล้ว เขาจะแพ้ไม่ได้

เรามาดู ลุ้นและตัดสินใจไปพร้อมๆ กันครับ