ระบอบ 3 ป.ยังไม่ตาย ยึดแล้ว-ยังอยู่-จะไปต่อ

ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ฟังดูเข้าท่าดี คล้ายกับว่าเข้าใจลึกซึ้งถึงหลักคิดปรัชญาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ “อำนาจ” ของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องแบ่งแยก ถ่วงดุลและยับยั้งซึ่งกันและกัน

การยุบสภาจึงเป็นการเคารพ “เสียง” ประชาชน คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใหม่ เลือกผู้แทนฯ กันใหม่ เพื่อที่จะได้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลใหม่

แต่โดยเนื้อแท้แล้วการ “ยุบสภา” ครั้งนี้เป็นเพียงแค่กลยุทธ์หนึ่งในเกมสืบทอดอำนาจ (อีกครั้ง) ของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งเป็นคนคนเดียวกับที่เคยเป็นผู้นำยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แม้ความผิดทางอาญาของ “ประยุทธ์” และคณะรัฐประหารจะถูกลบล้างไปด้วยการนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง แต่ที่ล้างไม่สิ้นก็คือ “มลทินติดตัว”

คุณไม่ใช่เสรีนิยม

“ประยุทธ์” เป็นผู้ทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ให้กับประเทศไทย เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ประยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อว่า “ขอเวลาไม่นาน” จากนั้นก็แต่งตั้งพรรคพวกเป็น “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ให้เขียนกติกาหรือรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมา

“ประยุทธ์” เข้าใจหรือไม่ว่า “อำนาจนิติบัญญัติ” เป็นต้นธารแห่งอำนาจทั้งหลาย เช่น อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ โดยที่ “ประชาชน” เป็นแหล่งกำเนิดของอำนาจนั้น

การที่ “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” แต่งตั้งพรรคพวกให้ทำหน้าที่ “นิติบัญญัติ” เขียนกติกาเปิดทางให้สืบทอดอำนาจจึงผิดตั้งแต่แรก

หนักไปกว่านั้น “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” ยังแต่งตั้ง “สมาชิกวุฒิสภา” 250 คน เอาไว้ให้ยกมือโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน “ประยุทธ์” ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 ต่อเนื่องกันมา

 

จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2566 “ประยุทธ์” ก็ยุบสภาครั้งที่ 14 ให้กับประเทศไทย ทั้งๆ ที่ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมิได้มีข้อขัดแย้งอะไรกัน

“ประยุทธ์” ไม่เข้าใจหรอกว่า ฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติต้องถ่วงดุลอะไรกันนั่น

ที่มุ่งมั่นตั้งใจคือ จะขอไปต่อ!

วันนี้จึง “มีความจำเป็น” ต้องเข้าสังกัดพรรคการเมืองเพื่อเล่นเกม “ขอเสียง” จากประชาชน!

ครั้นจะฝากความหวังกับทหารหรือก็เริ่มจะวังเวงเพราะทหารรุ่นใหม่ในทุกเหล่าทัพเริ่มจับทางได้ว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกนายที่ทะเยอทะยานทางการเมืองใช้เป็น “เครื่องมือ”

ใช้รัฐประหารเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่ “อำนาจ”

ถ้าพลาดขึ้นมา “กำลังพล” อาจต้องโทษถึง “ประหารชีวิต” ใครจะรับผิดชอบ

เกือบ 9 ปีเต็มที่ “ประยุทธ์” ยึดมา ยังอยู่ และจะขอไปต่ออีกนั้น ใช่หรือไม่ว่าทุกด้านของบ้านเมืองมีแต่เสื่อมทรุด เกียรติภูมิทหารตกต่ำ ผู้นำกับชนชั้นสูงจำนวนหยิบมือเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากรัฐประหาร “ฝ่ายบริหาร” กับ “นิติบัญญัติ” กว่าครึ่งรัฐสภาไม่ได้ถ่วงดุล ยับยั้งซึ่งกันและกัน ฝ่ายตรวจสอบและควรจะเป็นกรรมการกลางก็เอาตัวรอดคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว

ไม่มีความปรองดองในยุค “ประยุทธ์” ผู้นำก้าวร้าวหยาบคาย ตั้งตนเป็นคู่ขัดแย้ง แบ่งพรรคแยกพวกชัดแจ้ง จุดไฟความเกลียดชังด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับคนเห็นต่างทางการเมือง เอนเอียง เลือกปฏิบัติ เข้มงวดกวดขันฝ่ายหนึ่ง แต่กลับผ่อนปรน เพิกเฉยละเลยกับอีกฝ่ายหนึ่ง

ในด้านการครองตัว ผู้นำก็ไม่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่สง่างาม ใช้งบฯ หลวงทรัพยากรของประเทศชาติไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย

ไม่สนใจพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ส่งเสริมและสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ มุ่งแต่จัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับทหาร เรื่องรายได้หาไม่เป็น แต่ 9 ปีมานี้ใช้งบฯ หมดไปเกือบ 30 ล้านล้านบาท

ที่เพิ่มขึ้นท่วมท้นคือหนี้สาธารณะทะลุเพดาน

ที่เบิกบานหน้าใสคือเจ้าสัวไม่กี่ตระกูลซึ่งได้สัมปทานและผูกขาด

 

9 ปีที่ล่วงแล้วเต็มไปด้วยบาดแผลที่เรื้อรัง

ยิ่งนานความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างห่าง คนจนที่ลงทะเบียนเมื่อปี 2559 จำนวน 8 ล้านคน วันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน ทั้งที่ “ประยุทธ์” และทีมเศรษฐกิจคุยโม้มาตั้งแต่ปี 2559 ว่า “ปีหน้าคนจนจะหมดประเทศ”

รัฐบาลที่สืบเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 จึงถูกผู้คนเห็นพ้องว่าฉ้อฉลตั้งแต่กติกาเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจ “ขอเวลาไม่นาน” คือคำลวงไม่ใช่คำสัตย์

มีที่ไหนหัวหน้าคณะรัฐประหารแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนใส่ไว้ในรัฐสภา พอถึงเวลาก็พร้อมใจกันยกมือโหวตให้ “อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร” เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วยังจะมาอวดอ้างว่า มีการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

“ประยุทธ์” ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ แม้กระทั่งเมื่อนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด ยังอาศัยอภินิหารแห่งการตีความให้ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อมาจนกระทั่งถึง “วันยุบสภา”

 

20 มีนาคม 2566 นับเป็นการยุบสภาที่ปราศจากความขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายบริหาร” กับ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ทั้งหมดเป็นแค่ “กลยุทธ์” ตุกติกเพื่อ “ตู่” จะไปต่อ

เพียงแต่ใน พ.ศ.นี้ ” 3 ป.” ก็ไม่เหมือนเดิม

2 ใน 3 ป.ทะยานต่อแน่!

ป.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต “พี่ใหญ่” แห่งบูรพาพยัคฆ์ยังคงปักหลักพรรคเดิม เป็นหัวหน้า “พลังประชารัฐ” แต่พยายามปรับตัวอย่างยืดหยุ่นและพลิกแพลงใช้คนรุ่นใหม่ที่แตกต่างมานำเสนอแนวทางที่แปลกออกไป เช่นว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” และมีใจที่ใหญ่พอ (หรือตั้งใจจะเคลมว่า หัวใจใหญ่กว่าบางคนมาตลอด 40 ปี)

ขณะที่ “ป.ประยุทธ์” ถึงแม้การย้ายไปรวมวงที่ “รวมไทยสร้างชาติ” พร้อมที่จะประชันขันแข่งกับ ป.ประวิตร แต่ก็ยังคงใช้ลูกไม้เก่าๆ เช่น “ทำแล้ว ทำอยู่ และจะทำต่อ” ซึ่งที่อ้างว่า “ทำ” ทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นบาดแผลเหวอะหวะมากกว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดง ไม่ก่อประโยชน์อันใดที่จะเข้าตาประชาชนจนถึงขั้นจะทำให้ได้คะแนนมาเป็นกอบเป็นกำ

ที่ประยุทธ์ยังคงพึ่งหวัง 1 เดียวก็คือ “เสียงจาก ส.ว.” ที่อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารคัดสรรบรรจงตั้งมากับมือ

เลิกพูดแล้ว ไม่สัญญาอีกแล้วว่า “ขอเวลาไม่นาน”!?!!!