ทำไม…บางพรรคจึงได้ ส.ส.ไม่ถึง 300 และบางพรรคได้ไม่ถึง 30 ผลโพลกระแสความนิยม จะไม่ตรงกับจำนวน ส.ส.เขต

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

การสำรวจกระแสความนิยมทางการเมืองโดยโพลต่างๆ ถ้าหากจะนำมาชี้วัดจำนวน ส.ส.ที่พรรคต่างๆ จะได้รับเลือกตั้ง ความเป็นไปได้ที่ใกล้เคียงก็คือจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค

แต่สำหรับจำนวน ส.ส.เขตนั้นใช้กระแสความนิยมของพรรคมาชี้วัดอย่างเดียวไม่ได้มีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาประกอบมากพอสมควร

และถ้าจะทำสำรวจให้มีความแม่นตรงยังต้องทำเฉพาะพื้นที่เขตเลือกตั้งนั้นๆ

ถ้าทำการสำรวจรวมทั้งจังหวัดผลที่ได้คงจะคลาดเคลื่อน (ถ้าสำรวจแบบรวมทั้งจังหวัดแล้วมีผลใกล้เคียงกับเขตก็น่าจะเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ)

ต่อให้การสำรวจนั้นไม่มีการเอียงข้าง ก็ยังมีความจำกัดจากปัจจัยอื่นเพราะในประเทศนี้มีระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน มีระบบหัวคะแนน มีการซื้อเสียง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองพยายามจะดึง ส.ส.เก่าที่มีบารมีและมีประสบการณ์มาเป็นผู้สมัครเพราะคาดว่าจะได้รับชัยชนะ

การต่อสู้ในพื้นที่ มีความละเอียดถึงขั้นที่แต่ละฝ่ายต้องวางแผนไว้ว่า จะต้องทำคะแนนเท่าไรในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบลจึงจะได้รับชัยชนะ

คำว่า นโยบาย…เท่าไหร่… คือคำถามที่มีต่อหัวคะแนนว่าสุดท้ายจะจ่ายค่ารถไปลงคะแนนเท่าไหร่ วิธีการนี้ในปัจจุบันก็ยังมีการใช้อยู่

การขึ้นเงินเดือน อสม.และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเทียบไปแล้วก็คือการเอาใจหัวคะแนนแต่ใช้ภาษีประชาชน ผู้ได้รับประโยชน์เหล่านั้นก็รู้ดี และก็ยังไม่แน่ว่าเขาจะช่วยใคร ซึ่งจะมีความแตกต่างไปแต่ละพื้นที่และพื้นฐานความนิยมของแต่ละคน

พรรคการเมืองที่กระแสต่ำจะใช้กลไกอื่นมาช่วยในการหาเสียงเป็นหลัก และจะได้ ส.ส.มากกว่าผลโพล ส่วนพรรคการเมืองที่กระแสดี ถ้าจะให้จำนวน ส.ส.บรรลุเป้า ก็ต้องใช้กลไกภาคสนามเข้าช่วยซึ่งออกแรงน้อยกว่า

 

ศึกษาผลโพล การเลือกตั้งในปี 2554

ในปีนั้นเป็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบเช่นเดียวกับปี 2566 แต่มีการแก้ไขเอาใจรัฐบาล ให้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตแค่ 375 เขต และเพิ่ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็น 125 คน พรรคเพื่อไทยส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าชิงตำแหน่งอย่างฉับพลันทันใดและดันพรรคขึ้นสู่กระแสสูงได้สำเร็จ

กระแสพรรคเพื่อไทยดีมาก ผลโพลต่างๆ ก็บอกว่า การแข่งขันเป็นแบบ 2 ขั้วใหญ่ เพื่อไทยเป็นต่อประชาธิปัตย์อยู่ประมาณ 5 ต่อ 3

และสุดท้ายก็มีผลสำรวจ เอกซิท โพล ซึ่งใครก็คิดว่าน่าจะใกล้เคียงที่สุด คาดว่าเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เกิน 300

ผลโพลคาดว่า เพื่อไทยจะชนะ ส.ส.เขต 247 เขต ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 66 คน

ผลเลือกตั้งจริงคือเพื่อไทยชนะ 204 เขต ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 61 คน

โพลประเมินว่า ประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.เขต 107 เขต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 45 คน

ผลที่เป็นจริงคือ ปชป.ได้ ส.ส.เขต 115 เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 44 คน

ส่วนภูมิใจไทยนั้นโพลบอกว่าจะชนะ ส.ส.เขตเพียง 9 เขต และได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 คน

แต่ผลเหนือความคาดหมาย ภูมิใจไทยได้ ส.ส.เขตถึง 29 เขต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 5 คน

ชาติไทยพัฒนาตามผลโพลคาดว่าจะได้ ส.ส.เขตแค่ 8 เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2 คน ผลจริงที่ออกมาคือได้ ส.ส.เขตถึง 15 และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 คน

ส่วนพรรคชาติพัฒนาที่คาดว่าจะไม่ได้ ส.ส.เขตเลย และได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2 คน ก็ยังชนะ ส.ส.เขตถึง 5 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2 คน

จะเห็นว่าพรรคกระแสดีแบบเพื่อไทยได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใกล้เคียงกับผลสำรวจ

แต่ ส.ส.เขตกลับหายไปถึง 43 เขต

และจำนวนนั้นก็ไปโผล่ที่พรรคที่มีกระแสน้อย แต่มีระบบการจัดการคะแนนที่ดีกว่า

ที่เห็นได้ชัดคือภูมิใจไทยที่ดึงไปได้ถึง 20 เขต ชาติไทยพัฒนาก็ดึงไปได้ 7 เขต ชาติพัฒนาก็ยังรักษาฐานตัวเองไว้ได้ 5 เขต ประชาธิปัตย์ก็เพิ่มขึ้นมาอีก 8 เขต

ส่วนคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของทุกพรรคถือว่าใกล้เคียงผลการสำรวจ

 

การเลือกตั้ง 2566
ประเมินผล ส.ส.เขตยาก
เพราะมีการตัดคะแนนกันเองของแต่ละฝ่าย

ในการแข่งขันการเลือกตั้งทุกพรรคต้องมีด้านที่ต่อสู้และที่ต้องร่วมมือกัน

เช่น มีการแย่งชิง ส.ส.ของภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ

แต่เงื่อนไขของประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการจะเป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาลก็ยังต้องพึ่งพรรคภูมิใจไทย เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติคงจะได้ ส.ส.ไม่มากนัก

ยังจะต้องใช้ภูมิใจไทยเป็นนั่งร้านขนาดใหญ่จึงจะก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ ได้ ดังนั้น ถึงอย่างไรก็ต้องรักษาพรรคภูมิใจไทยไว้ และภูมิใจไทยก็บารมีไม่ถึง มี ส.ส.ไม่มากพอที่จะเป็นนายกฯ ด้วยตนเองได้

พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เนื่องจากฐานคะแนนมาจากฝ่ายเดียวกัน จึงต้องแย่งคะแนนเสียงกันเป็นธรรมดา ประชาชนบางส่วนก็บอกว่าครั้งนี้เลือกยากจริงๆ เพราะอยากได้ทั้ง 2 พรรค

การเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลซึ่งเติบโตต่อจากพรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกยุบและมีฐานเสียงจากคนก้าวหน้าจากฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งในปี 2562 สามารถทำคะแนนนิยมได้ถึง 6 ล้านกว่าคะแนน และมีความเป็นไปได้ว่าจะยังมีความนิยมอยู่ไม่น้อยกว่าเดิม เพียงแต่คะแนนของก้าวไกลในระดับเขตพื้นที่ ยังประเมินได้ยาก ว่าสูงถึงขั้นชนะในเขตใดบ้าง

การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนการตะลุมบอน เป็นมวยหมู่ แบบ 3-5 คน มีหลายเขตที่ระดับคะแนนของ ส.ส.เขตใกล้เคียงกัน 2-3 พรรค แถมมวยรองบางคนแพ้แน่แต่จะไปตัดคะแนนใครเท่าไร ยังคาดคะเนลำบาก

ปัญหาการตัดคะแนน มีกันทั้งสองฝ่าย รัฐบาลเดิม 4 พรรคคือรวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐและภูมิใจไทย ก็ตัดคะแนนกันเองเหมือนกัน กรณีแบบนี้คาดว่า จะทำให้ประมาณ 1 ใน 5 หรือ 80 เขตที่คะแนนจะใกล้เคียงและพลิกผันได้

จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำนายผลและมีโอกาสที่จะชนะแพ้กันอยู่ในระหว่าง 500 ถึง 3,000 คะแนน

งานนี้ถ้าใครประมาทจะทำให้เกิดการพ่ายแพ้ได้ ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยพลาดไป 20 เขตก็หมายความว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ไป 20 เขต ทำให้เกิดความต่างของคะแนนในสภาถึง 40 เสียง

 

ไปกับตู่ หรือ อยู่กับป้อม
มีเวลา 10 วันตัดสินใจ

แม้เพื่อไทยสร้างกระแสแลนด์สไลด์ได้สำเร็จเพื่อเข้าไปต่อกรกับอำนาจของ ส.ว. 250 คน โดยใช้แผนตัดไฟแต่ต้นลม พยายามให้ได้ ส.ส.เกิน 250 คน ทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ถึงวันนี้ก็พอมองเห็นโอกาสที่เป็นจริง แต่จะตั้งรัฐบาลต้องมีแนวร่วม

แต่พรรคอื่นๆ ก็ยังรู้สึกว่าในพื้นที่ตนเองยังเข้มแข็ง เพราะในเขตพื้นที่ใดก็ตามที่ผู้สมัครมีคะแนนนิยมประมาณ 20,000 ขึ้นไป จะมีเสียงตอบรับที่ดีจากมวลชนเวลาเดินออกไปพบปะประชาชน แม้ยังไม่เลือกตั้งก็มีความรู้สึกว่าตนเองน่าจะชนะแล้ว

ดังนั้น หลายพรรคการเมืองจึงประกาศออกมาว่าตนเองจะได้ ส.ส. 30 คน หรือ 80 คน ด้วยความมั่นใจ ช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งถ้าเขาประเมินแบบไม่ละเอียด ถึงเวลานับคะแนนจริงก็จะรู้คำตอบของประชาชน

และในความเป็นจริงแม้เร่งคะแนนขึ้นไปถึงวันเลือกตั้งจะได้คะแนนแค่ 25,000 สุดท้ายพบว่าคะแนนของฝ่ายผู้ชนะเป็น 30,000 กว่า ซึ่งจะทำให้หลายพรรคได้ที่ 2 ถึง 150 เขต ได้ที่ 3-4 อีก 150 เขต แต่ได้ที่ 1 แค่ 10-30 เขต

หลายพรรคใช้การแบ่งเขตเลือกตั้ง หัวคะแนน และกระสุนเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของการต่อสู้แบบเดิม แต่โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต จะเป็นอาวุธชนิดใหม่ นี่จะพิสูจน์ใจประชาชน และยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้มีผลที่เหนือความคาดหมาย

บางพรรคโพลความนิยม 50% ถ้าเก่งจริงอาจจะได้ ส.ส.เกิน 250 คน

บางพรรคโพลความนิยม 15% แต่คงได้ ส.ส.ไม่เกิน 30 คน ไม่ใช่ 75 คน

เพราะยุบสภาช้าเกินไป ตอนนี้สถานการณ์ชี้ชัดไปแล้วว่า ฝ่ายค้านจะชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เกินครึ่ง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมหมดโอกาสตั้งรัฐบาล แต่บางพรรคยังมีโอกาสไปร่วม บางพรรคไม่มีโอกาสเลย ใครจะย้ายไปไหนต้องคิดให้ดี