‘รู้จัก’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ผมเคยบอกใครๆ หลายครั้งว่า หลังจากเริ่มคิดว่า จะ “เอาจริง” กับการทำงานในป่า มีกล้อง มีเลนส์ รวมทั้งรถขับเคลื่อนสี่ล้อ และประสบการณ์ เข้าป่าดูนกมาระยะเวลาหนึ่ง ผมก็พิมพ์นามบัตรตัวเอง ตำแหน่งที่อยู่ใต้ชื่อคือ “ช่างภาพสัตว์ป่า”

ผมไม่แน่ใจนักว่า ในตอนนั้นมีอาชีพนี้จริงๆ หรือไม่ แต่ผมมั่นใจในสิ่งที่ทำ และพบเจอใครก็แจกนามบัตรแนะนำตัวเอง

หลังจากเอาจริง ใช้เวลาที่มีเกือบทั้งหมด อยู่ในป่า ไม่นานผมเก็บนามบัตรนั้นไว้ในลิ้นชักในสุด และไม่เคยใช้อีกเลย

เวลาในป่า ทำให้ผมเปลี่ยนแปลง ทำให้ผมรู้ว่า ภาพสัตว์ป่านั้นเป็นแค่ผลพลอยได้

 

ผมเข้าป่าอย่างชนิดที่คิดว่าตัวเองพร้อมแล้วกับทุกสิ่ง

การเป็นนักดูนก ที่เข้าป่าทุกสัปดาห์ ทำให้มั่นใจนึกว่า ตัวเองเชี่ยวชาญและรู้มากพอที่จะเอาการใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นอาชีพ

ความเชื่อมั่นมันมีข้อดี ทำให้การอยู่ในป่าลำพังเป็นไปได้

แต่ข้อเสียคือ ทำให้ผมหลงผิด คิดว่าอยู่เหนือสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าที่มองเห็น และสิ่งที่ “มองไม่เห็น”

ผมมีคาถาซึ่งหลวงพ่อที่คุ้นเคยกันจดไว้ให้ท่องเพื่อป้องกันอันตรายเวลานอนในป่า

คืนหนึ่งในป่าทุ่งใหญ่ ผมท่องคาถานี้

ผลคือ คืนนั้น ถ้าหลับตาเมื่อไหร่ จะมีภาพเสือดำตัวโตกระโจนเข้าหาตลอด

ผมลุกจากเปล โยนคาถาที่จดในกระดาษเข้ากองไฟ เมื่อน้าสนม พิทักษ์ป่าอาวุโส ให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นเพราะผมท่องคาถา มันเหมือนกับท้าทายเจ้าป่าเจ้าเขา

ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม แต่นั่นเป็นบทเรียนแรก อันทำให้ผมรู้ว่า อยู่ในป่าอย่างอ่อนน้อมเคารพกับทุกสิ่ง สำคัญ

 

ผมเดินทางไปแทบทุกผืนป่า ติดตามหาสัตว์หายาก เมื่อมีข่าวว่าพบเจอสัตว์ที่อยากพบ ที่โน่นที่นี่ ติดตามด้วยความรู้สึกว่า รู้จักป่าอย่างถ่องแท้

เรื่องหนึ่งที่ผมพูดถึงบ่อยๆ คือ วันที่ทะเลาะกับจะปุ๊ เพื่อนชาวมูเซอดำ ขณะไปตามหากวางผาบนสันดอยม่อนจอง

วันนั้น พายุฝนโหมกระหน่ำ เต็นท์ขาดกระจุย จะปุ๊ “หาว่า” พายุเกิดขึ้นเพราะเจ้าโกรธ เนื่องจากตอนกินข้าวผมนั่งทับฟืนซึ่งใช้ก่อไฟ และยังหัวเราะตอนเขาโยนข้าวสารเสกเพื่อสยบ แต่พายุยิ่งกระหน่ำแรง

คืนนั้น เรียกได้ว่าเป็นความทรมาน กว่าจะทนกับความเปียกหนาวสั่นจนถึงรุ่งเช้า

ผมรู้ว่าคิดผิด ตอนที่ลงมาถึงตีนดอย กะเหรี่ยงคนงานปลูกป่าบอกว่า มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ขึ้นดอยช่วงฝนอย่างนี้

ผมไปพักที่บ้านเพื่อนกะเหรี่ยง ส่วนจะปุ๊แยกตัวกลับหมู่บ้านด้วยความโกรธ

วันไหนฟ้าใส ผมขึ้นดอยอีก เพื่อพบว่าบนสันดอยมืดมิดด้วยพายุฝน

ผมทำอย่างนั้นอยู่เป็นสัปดาห์ เห็นฟ้าก็เดินขึ้นดอย และพบสภาพดอยที่มืดหมอกทึบ

ไม่ต้องมีใครบอก แต่ผมยอมรับว่า การรอคอย เรียนรู้ช่วงเวลาอันเหมาะสมนั้น สมควรกระทำมากกว่า

ดื้อดึง พยายามเอาชนะ เรียกได้ว่า เป็นความโง่เขลา

ขึ้นดอยครั้งต่อมา ผมเชื่อฟังจะปุ๊ หลังจากพบและถ่ายรูปกวางผาได้สิบตัว เขาบอกว่าเป็นเพราะเขาเลี้ยงเหล้าและข้าวเจ้าป่าเจ้าเขา

หลังจากนั้นสิ่งที่ผมทำเสมอๆ ไม่ว่าจะอยู่ป่าไหน คือ แบ่งข้าวและกับข้าวใส่บนใบไม้ วางโคนต้นไม้ใหญ่

นกขุนแผน – การได้อาหารของนกขุนแผนจากตัวกวางเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่นกขุนแผนทำให้เห็นคือ การอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพา สำคัญ

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเปลี่ยนอย่างจริงจัง นั่นคือ ที่เคยคิดว่าเจนจบแล้วกับงานถ่ายภาพสัตว์ป่า

แต่จนถึงวันนี้ ผมบอกใครๆ ตลอดว่า มันไม่ใช่งานอันง่ายดายสักเท่าไหร่ งานนี้ไม่ได้เป็นงานที่วิเศษกว่างานอื่นๆ แต่มีสิ่งซึ่งมากับงานที่ทำมากมาย และต้องยอมรับ

เฝ้ารอนานนับสัปดาห์โดยไม่ได้กดชัตเตอร์ ทั้งที่ทำอย่างที่เคยทำ และได้ผล ระวังเรื่องกลิ่น, เสียง

แต่ก็พบว่า มีสัตว์ป่าเข้ามาใกล้และรู้ตัวก่อน

เช้ามืด ผมเห็นร่องรอยพวกมัน ไม่ใช่เพียงแค่สัตว์ป่าสัมผัสได้ว่ามีคนอยู่บริเวณนั้น

ความจริงคือ พวกมัน “เหนือ” กว่าผม

ผมเริ่มต้นใหม่ โยนความเชื่อมั่นเก่าทิ้งไป ยอมรับถึงความอ่อนด้อยเมื่ออยู่ในป่า เป็นการยอมรับอันทำให้รู้ว่า ผม “รู้” ไม่มากเลย

 

ป่าทำให้ผมเปลี่ยนแปลง

เวลาในป่า ไม่ได้ทำให้ผมรู้จักสัตว์ป่ามากขึ้นนัก

แต่เหล่าสัตว์ป่าทำให้ผมรู้มากขึ้น

และที่สำคัญ พวกมันสอนให้ผม “รู้จัก” ตัวเอง •

 

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ