แมวกวัก มาจากไหน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
"มาเนกิ-เนโกะ" หรือ "แมวกวัก" ในวัดโกโทคุจิ กรุงโตเกียว

ชาวญี่ปุ่นเรียก “แมวกวัก” ว่า “มาเนกิ-เนโกะ” (Maneki-Neko) โดยชนชาวอาทิตย์อุทัยนั้นเชื่อว่า เจ้าเหมียวตัวน้อยสามารถกวักมือหยอยๆ แล้วเรียกโชคลาภได้นะครับ

โดยทั่วไปแล้วมักจะเชื่อกันว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดตำนานของเจ้าแมวกวักที่ว่านี้ มีต้นทางอยู่ที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองเอโดะ (ชื่อเก่าของกรุงโตเกียว) ประเทศญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า “วัดโกโทคุจิ” (Gotokuji) โดยเรื่องราวของตำนานที่ว่านี้ เกิดขึ้นในช่วงยุคเอโดะ (พ.ศ.2146-2411)

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ลิ นาโอทากะ (พ.ศ.2133-2202) ผู้เป็นไดเมียว (ผู้ครองแคว้น) คนสำคัญในช่วงยุคต้นเอโดะ ได้เดินผ่านหน้าวัดโกโทคุจิ นาโอทากะมองเข้าไปในวัดเห็นแมวน้อยสีขาวตัวหนึ่งกำลังกวักมือ (ที่ถูกคือ เท้าหน้า) เหมือนกับจะเรียกให้ไดเมียวท่านนี้เดินเข้าไปในวัด

และเมื่อนาโอทากะเดินเข้าไปไม่นานนัก ก็เกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบแปลบปลาบ ก่อนจะมีพายุฝนตกหนักตามมา ท่านไดเมียวผู้สนับสนุนโชกุนสายตระกูลโตกุกาวะคนนี้ จึงรู้สึกขอบอกขอบใจเจ้าแมวน้อยเป็นที่สุด ถึงกับที่ว่าได้ทำการบูรณะวัดแห่งนี้เสียใหม่ และยกให้เป็นวัดประจำตระกูลของตนเอง

ตำนานเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง จึงได้มีการสร้างรูป “มาเนกิ-เนโกะ” หรือเจ้า “แมวกวัก” ให้มีขนสีขาวเหมือนอย่างดำนาน เพื่อเป็นเกียรติให้กับเจ้าแมวน้อย โดยคือกันว่าเป็นเครื่องรางนำโชค และเป็นที่นับถือกันอยู่ในวัดโกโทคุจิ มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

“มาเนกิ-เนโกะ” หรือ “แมวกวัก” ในวัดโกโทคุจิ กรุงโตเกียว

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของไดเมียว นาโอทากะ ได้เจอกับแมวกวักเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาปากต่อปากเท่านั้นนะครับ ไม่ได้มีบันทึกทางประวัติศาสตร์อะไรรองรับ

แถมยังมีนิทานเรื่องอื่นๆ ที่เล่าแตกต่างกันไป เช่น มีเรื่องเล่าของชาวบ้านว่า มีพ่อค้าแม่ขายยากจน ที่เห็นแมวจรหิวโซตัวหนึ่งแล้วสงสารจนจับจิต เลยอดเอามาเลี้ยงดูไม่ได้ ด้วยใจกตัญญู เจ้าแมวน้อยจึงตอบแทนบุญคุณ ด้วยการนั่งกวักมือเรียกลูกค้าอยู่หน้าร้านมันทั้งวี่ทั้งวัน จนมีลูกค้าเต็มร้าน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “แมวกวัก” จึงได้กลายมาเป็นเครื่องรางนำโชคสำหรับกิจการขนาดเล็ก

แน่นอนนะครับว่า ตำนานหรือนิทานเกี่ยวกับที่มาของแมวกวักในญี่ปุ่นนั้น ยังมีอีกให้เพียบสำนวน

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ การที่เอกสารทางประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเครื่องราง “แมวกวัก” ที่ว่านี้ ก็เพิ่งมามีในรายการ “บันทึกลำดับเหตุการณ์ของเอโดะ” ฉบับที่ลงวันที่ ตรงกับปี พ.ศ.2395 เท่านั้น

น่าสังเกตด้วยว่า ในปีเดียวกันนั้นเอง ภาพพิมพ์บนแผ่นไม้ (อุกิโยเอะ) ที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีชื่อว่า “โจรูริ-มาชิ ฮันกะ โนะ ซู” (Joruri-mashi Hanka no zu) ของพระภิกษุ ควบตำแหน่งศิลปินภาพพิมพ์อุกิโยเอะชื่อดังอย่าง “อุทากาวะ ฮิโรชิเกะ” (Utakawa Hiroshige) ก็ได้ถูกพิมพ์ออกมา

ภาพพิมพ์บนแผ่นไม้ : หญิงสาวในชุดกิโมโน กำลังไปเลือกซื้อ “แมวกวัก” บนแผงร้านค้า

โดยภาพพิมพ์ชิ้นนี้เป็นรูปของหญิงสาวในชุดกิโมโน กำลังไปเลือกซื้อ “แมวกวัก” บนแผงร้านค้า โดยภายในภาพได้มีตัวอักษรพรรณนาถึงแมวกวักรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า “มารุชิเมะ-เนโกะ” (Marushime-neko) ซึ่งมีขายอยู่ที่วัดเซนโซ (Senso) ในเมืองโตเกียว

พอล่วงผ่านมาถึงยุคปฏิรูปเมจิ (พ.ศ.2411-2455) ก็เริ่มเห็นความนิยมในแมวกวักนำโชค “มาเนกิ-เนโกะ” ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นอย่างชัดเจน

เช่น ปี พ.ศ.2419 มีบทความในหนังสือพิมพ์ที่พูดถึงแมวกวัก

โดยในปีเดียวกันนั้น ก็มีหลักฐานว่า มีการแจกจ่ายรูปแมวกวักสวมชุดกิโมโนในศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ที่เมืองโอซาก้า

หรือใน พ.ศ.2445 ก็มีหลักฐานโฆษณาเจ้าแมวกวักมาเนกิ-เนโกะ เป็นสินค้า เป็นต้น

หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่า ความนิยมใน “แมวกวัก” ในหมู่เจแปนนิสชนนั้น มีให้เห็นกันชัดๆ ในช่วงปลายยุคเอโดะ และมาเฟื่องฟูเอาในยุคเมจิ (ไม่ได้หมายความว่า แมวกวักไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่เพิ่งจะได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงนี้) ในขณะที่ตำนานและนิทานต่างๆ ที่เล่าถึงที่มาที่ไปของ ‘มาเนกิ-เนโกะ’ นั้น ก็ไม่สามารถยืนยันถึงความน่าเชื่อถือได้ดีนัก

มีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทางของเจ้าแมวกวัก มาเนกิ-เนโกะ นั้น ดูเหมือนกับพฤติกรรมการล้างหน้าของแมว

ที่สำคัญก็คือ ชาวญี่ปุ่นนั้นมีความเชื่อด้วยว่า ถ้าแมวล้างหน้า แปลว่า กำลังจะมีแขกมาเยี่ยมเยือน

ความเชื่อดังกล่าวนี้สอดคล้องกับความเชื่อโบราณของชาวจีน ที่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการล้างหน้าของแมว เช่น มีภาษิตโบราณบทหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าแมวล้างหน้า ฝนจะตก” เป็นต้น

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีเอกสารในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161-1450) ที่อ้างว่า การล้างหน้าของแมวเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ คือหนังสือเก่าที่ชื่อ “โหย่วหยางจ๋าจู่” หรือ “เรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับเมืองโหย่วหยาง” ที่รวบรวมขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ถังของจีนโดยนักเขียนที่ชื่อ ต้วนเฉิงซี (พ.ศ.1346-1406) ซึ่งมีข้อความระบุว่า

“ถ้าแมวยกเท้าขึ้นเหนือหูและล้างหน้า จะมีผู้อุปถัมภ์มาเยือน”

 

“แมว” นั้นไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นที่มีมาแต่เดิมในญี่ปุ่นเองนะครับ ชาวญี่ปุ่นโบราณทราบดีว่า แมวในญี่ปุ่นนั้นมาพร้อมกับ “เรือสินค้า” ที่มาจากจีน ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่าแคว้นถัง โดยนำชื่อมาจากราชวงศ์ถัง

ดังนั้น ในเอกสารญี่ปุ่นโบราณจึงมักจะเรียกว่า “แมวถัง” หมายถึง แมวที่มาจากจีน

แต่ชาวจีนโบราณก็ไม่คิดว่า เจ้าเหมียวพวกนี้เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง เพราะถูกนำเข้ามาจากที่อื่นเช่นกัน โดยในหนังสือโบราณฉบับหนึ่งของจีน ที่ชื่อ “อวี้เซี่ย” (แปลว่า เศษเสี้ยวหยก) ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในช่วงราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1814-1911) มีข้อความตอนหนึ่งอ้างว่า

“ประเทศจีนไม่มีแมว มันกำเนิดในเทียนจู๋ (หมายถึง ชมพูทวีป โดยเรียกตามเสียงคำว่า ฮินดู ในภาษาเปอร์เซีย หรือสินธุ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำ แหล่งวัฒนธรรมสำคัญของชมพูทวีป) ทางตะวันตก ไม่มีกลิ่นอายของจีน ศากยบุตรเลี้ยงไว้เพราะหนูมากัดพระไตรปิฎกเสียหาย เมื่อพระภิกษุเสวี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) เดินทางสู่ตะวันตกไปอัญเชิญพระไตรปิฎก จึงนำกลับมาเลี้ยง และสืบทอดลูกหลานนับแต่นั้น”

ข้อความที่ผมคัดมาข้างต้น ถูกนำมาใช้ในการอธิบายถึงการแพร่กระจายของเจ้าพวกแมวเหมียวเข้ามาในจีนอย่างช้านานว่า แมวถูกพระถังซัมจั๋งนำกลับเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้หนูกัดพระไตรปิฎก ก่อนที่จะออกลูกออกหลานแล้วไล่จับหนู โดยไม่ต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎกแล้ว ให้ทั่วเมืองจีน

 

แน่นอนว่า นิทานข้างต้นไม่ใช่ความจริง แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการผูกโยงแมวให้เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ของอะไรบางอย่างในวัฒนธรรมจีน ที่มีมาก่อนญี่ปุ่น และก็น่าสนใจด้วยว่า เรื่องของแมวที่ว่านี้ โยงใยอยู่กับราชวงศ์ถัง เพราะพระถังซัมจั๋งก็เป็นคนในยุคต้นราชวงศ์ถังนั่นเอง

และก็เป็นเรื่องบังเอิญที่ว่า แมวจากจีนก็เข้ามาสู่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกใน “ยุคเฮอัง” (พ.ศ.1337-1728) ซึ่งตรงกันกับช่วง “ราชวงศ์ถัง” เสียด้วยนะครับ แถมบันทึกต่างๆ ในญี่ปุ่นยุคโน้นต่างก็แสดงให้เห็นว่า บรรดาชนชั้นสูงในราชสำนักสมัยเฮอัง โดยไม่เว้นแม้แต่พระจักรพรรดิหลายพระองค์ ก็ล้วนแต่ตกเป็นอะไรที่ในปัจจุบันนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ทาสแมว” กันโดยถ้วนหน้า

ที่สำคัญก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าวร่วมสมัยอยู่กับช่วงที่ต้วนเฉินซีมีชีวิตอยู่ และเขียนหนังสือ “โหย่วหยางจ๋าจู่” ที่พูดถึงโชคลาภที่เกี่ยวกับการล้างหน้าของแมวพอดี ดังนั้น ถ้าชาวญี่ปุ่นจะรับเอาความเชื่อเรื่องแมวล้างหน้าจะมีผู้มีอุปถัมภ์มาเยือน ไปพร้อมกันกับการรับเอาแมวถังเข้ามาเลี้ยงด้วย ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นไปไม่ได้

และถ้าต่อมาความเชื่ออย่างนี้ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลาจนกลายมาเป็นเจ้าแมวกวัก “มาเนกิ-เนโกะ” ก็ไม่เห็นว่าจะแปลกที่ตรงไหน

เอาเข้าจริงแล้ว ความเชื่อเรื่อง “มาเนกิ-เนโกะ” นั้น อาจจะมีพัฒนาการที่ยาวนานมากกว่าที่คาดคิดกันโดยทั่วไป และก็คงไม่ใช่จะเกิดจากเหตุบังเอิญที่มีเจ้าเหมียวน้อยตัวหนึ่งไปกวักมือเรียกใครเข้ามาหลบฝนข้างในวัด อย่างที่มักจะเล่ากันโดยทั่วไปก็เป็นได้ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ