ศึกพระพุทธสิหิงค์ (5) : การหายไปของ ‘พระพุทธสิหิงค์’ จากเมืองเชียงใหม่ถึง 4 ครั้ง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอนที่แล้วกล่าวถึงแค่เรื่อง “พระสิงเมือง-ผีอารักษ์เมือง สู่พระสิงห์อันศักดิ์สิทธิ์” นำเสนอโดย “คุณเมธี ใจศรี” ยังค้างอยู่อีกเรื่องหนึ่งจากวิทยากรคนเดิมคือเรื่อง การหายไป 4 ครั้งของพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่

ครั้งแรก สมัยพระเจ้าติโลกราช หายไปอยู่เมืองแสนหวี

ครั้งที่สอง สมัยพระไชยเชษฐา เอาไปเมืองหลวงพระบาง

ครั้งที่สาม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยา

ครั้งสุดท้าย สมัยพระเจ้ากาวิละ วังหน้าในรัชกาลที่ 1 อัญเชิญไปไว้ที่กรุงรัตนโกสินทร์

 

ไทใหญ่เรียกพระพุทธสิหิงค์ว่า “หุ่นผี”

หลังจากที่พระพุทธสิหิงค์ได้รับการประดิษฐานอย่างมั่นคงในวัดพระสิงห์ ซึ่งสร้างขวางประตูสวนดอกด้านทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยพระญาเสนเมืองมา (กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 7) แล้วนั้น ผ่านไปเพียงแค่สองรัชกาล ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช เกิดเหตุการณ์ประหลาดอย่างไม่คาดคิด

นั่นคือ การหายไปของพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก

คุณเมธีให้ข้อมูลว่า ช่วงที่เจ้าเมืองแสนหวีมาถึงเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อได้เห็นพระสิงห์ (ชาวล้านนานิยมเรียกพระพุทธสิหิงค์ว่าพระสิงห์) ก็เกิดความอยากได้ จึงแอบขโมยไป

ชวนให้ต้องขบคิด ตีความกันใหม่ว่า “ขนาด” ของพระสิงห์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ทั้งที่วัดพระสิงห์ และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า ล้วนแต่มีขนาดใหญ่

คำถามคือ การที่ใครสักคนสามารถขนพระสิงห์ใส่ถุงย่ามไปได้โดยง่ายนั้น ขนาดของพระสิงห์ต้องไม่ควรใหญ่โตเกินไปนัก ใช่หรือไม่?

เท่านั้นไม่พอ พระสิงห์ยังมีปาฏิหาริย์อย่างน่าตื่นเต้นอีกด้วย นั่นคือหลังจากที่เจ้าเมืองแสนหวีได้ขโมยพระสิงห์มาจากเชียงใหม่แล้ว พอมาถึงกลางทาง ได้เอาพระสิงห์ไว้ด้านหน้าขี่ม้าไปสักระยะ อยู่ๆ พระสิงห์ก็ย้ายไปอยู่ข้างหลังเอง ครั้นเมื่อตั้งใจจะเอาพระสิงห์ไว้ด้านหลัง พระสิงห์กลับเคลื่อนที่มาอยู่ด้านหน้า!

พอไปถึงโป่งเดือด (น้ำพุร้อน) เจ้าเมืองแสนหวีตั้งใจจะเอา “หุ่นผี” (สะท้อนว่าคนไทใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ยังไม่น่าจะมีการทำพระพุทธรูปมาก่อน จึงเรียกพระสิงห์ว่า “หุ่นผี”) ไปจุ่มในน้ำพุร้อน จากน้ำที่เดือดปุดๆ ก็กลายเป็นน้ำเย็น

สร้างความประหลาดใจให้แก่คนไทใหญ่ถึงกับอุทานว่า “โอ้โห! หุ่นผีของเมืองยวน (ไทยวน-โยนก คือเชียงใหม่ล้านนา) มันช่างศักดิ์สิทธิ์จริงๆ” เมื่อไปถึงแสนหวีแล้ว จึงทำหอผีเอาไว้บูชา “หุ่นผี” ในลักษณะ “ผีบ้านผีเมือง”

ครั้นพระสงฆ์จากเชียงใหม่คือ “พระมหาญาณคัมภีร์” ผู้สถาปนานิกายป่าแดงทราบว่าพระพุทธสิหิงค์อันตรธานหายไปจากเชียงใหม่โดยชาวแสนหวีขโมย เป็นช่วงจังหวะที่ท่านได้เดินทางไปเผยแผ่พระศาสนาที่แสนหวีพอดี พระสิงห์หรือหุ่นผีองค์นั้นจึงได้กลับคืนสู่เชียงใหม่

พระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง เคยประดิษฐานบนแท่นแก้วเดียวกันกับพระพุทธสิหิงค์องค์กลาง (ประธาน) ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

พระแก้ว-พระสิงห์ถูกรวบไปล้านช้าง

การหายไปของพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ครั้งที่สอง เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านทราบเรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว เป็นเหตุการณ์ในช่วงปลายราชวงศ์มังราย ตรงกับสมัยพระไชยเชษฐาธิราช ยุวกษัตริย์จากล้านช้าง ผู้ที่ (ตามการอ้างอิงเดิม) ระบุว่ามีพระมารดาเป็นชาวล้านนาชื่อ นางยอดคำทิพย์ (แต่ข้อมูลใหม่ของ ชัยวุฒิ ไชยชนะ และธีรานนท์ โพธะราช พบว่า พระมารดาของพระไชยเชษฐา ก็เป็นชาวล้านช้างเช่นเดียวกับฝ่ายบิดา)

พระไชยเชษฐาได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ รวมทั้งพระแก้วขาวเสตังคมณี และพระพุทธรูปองค์อื่นๆ อีกหลายองค์ไปไว้ที่เมืองหลวงพระบาง โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยจากการรุกรานของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า

ครั้นไปล้านช้างแล้ว พระไชยเชษฐาหาได้เอาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลายองค์กลับคืนมาเมืองเชียงใหม่ไม่ เมื่อขุนนางเชียงใหม่พร้อมใจกันอัญเชิญพระแม่กุจากเมืองนายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่แล้ว พระแม่กุได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อพม่า

ในช่วงที่กองทัพพม่าได้ยกทัพไปตีล้านช้าง กองทัพของพระแม่กุได้ร่วมยกทัพไปกับพม่าด้วย ช่วงนั้นเองได้มีการกดดันพระไชยเชษฐาให้คืนพระพุทธสิหิงค์แก่เชียงใหม่

น่าแปลกที่ไม่ขอพระแก้วมรกตคืน ชวนให้ขบคิดได้ว่า พระแม่กุน่าจะมีปฏิปทาต่อศาสนาพุทธนิกายสวนดอก เหตุที่พระแก้วมรกตนั้นเป็นสัญลักษณ์ของนิกายป่าแดง

พระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง เคยประดิษฐานบนแท่นแก้วเดียวกันกับพระพุทธสิหิงค์องค์กลาง (ประธาน) ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

ใครควักพระเนตรพระพุทธสิหิงค์?

การหายไปของพระพุทธสิหิงค์ครั้งที่ 3 จากเชียงใหม่ เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงนั้นสถานะของเมืองเชียงใหม่อ่อนแอ ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าสลับกับอยุธยา ช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ยกทัพไปตีเชียงใหม่จากพม่านั้น มีเรื่องเล่าในเอกสารฝ่ายอยุธยาว่า

เดิมพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์หันหน้าไปทางใต้ คือหันลงไปทางอยุธยา คล้ายจักสะกดเมืองอยุธยาให้พ่ายแพ้ต่อล้านนา ชาวอยุธยาทราบดีว่าพระสิงห์ทำหน้าที่เป็นเสมือน “พระสิงเมือง” ให้แก่ชาวเชียงใหม่ ดังนั้น หากอยุธยาเอาพระสิงห์ไปจากเชียงใหม่ได้ ก็เท่ากับเป็นการทำลายขวัญ บั่นวิญญาณเมืองของชาวเชียงใหม่ไปในตัว

เอกสารฝ่ายอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตรัสถามพญาแสนหลวง ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ที่พม่าแต่งตั้งในขณะนั้นว่า พระพุทธสิหิงค์นี่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จริงหรือไม่

พญาแสนหลวงตอบว่า “จริง! พระพุทธสิหิงค์สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้มานานแล้วตั้งแต่อยู่ที่เมืองลังกา ทว่าปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ไม่ค่อยมีฤทธิ์แล้ว ตั้งแต่ถูกลักลอบขโมยดวงพระเนตรไป”

ข้อความตอนนี้น่าสงสัยยิ่งนักว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธสิหิงค์เคยถูกควักแก้วตาไปแล้วด้วย โดยใคร เมื่อไหร่ อย่างไร ก่อนหรือหลังจากที่พระไชยเชษฐาเอาไปล้านช้าง? แล้วจริงหรือไม่ที่พระพุทธปฏิมาหลังจากถูกควักพระเนตรแล้วทำให้เสื่อมฤทธี?

 

พบแล้วจุดเริ่มต้น
แห่งการนำสิหิงคนิทานย้อนคืนสู่ลังกา

พระพุทธสิหิงค์ประทับเรื่อยมาในกรุงศรีอยุธยา กระทั่งสมัยพระเจ้าบรมโกศ มีสมณทูตจากลังกาเข้ามาสืบพระศาสนา “นิกายสยามวงศ์” ในราชสำนักอยุธยา

ช่วงนี้เองที่มีการให้พระภิกษุลังกาคัดลอกตำนานสิหิงคนิทาน ซึ่งรจนาโดยพระภิกษุชาวล้านนาตั้งแต่ พ.ศ.1900 ปลายๆ (นับย้อนได้ 2 ศตวรรษเศษจากสมัยพระเจ้าบรมโกศ) ไปเป็นภาษาสิงหล

หรือนี่จะเป็นคำเฉลย ที่พระโพธิรังสีทิ้งปริศนาไว้ว่า วันหนึ่งพระพุทธสิหิงค์จะต้องกลับคืนสู่ลังกา หลายคนบอกว่าท่านทำนายพลาด เพราะพุทธสิหิงค์ไม่เคยกลับไปลังกาเลย

หรือว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่กลับไปลังกาในคำทำนายของพระโพธิรังสี หาใช่พระพุทธรูปไม่ หากคือ “ตำนานสิหิงคนิทาน” ของชาวล้านนานั่นเอง

พระพุทธสิหิงค์มาประทับอยู่กรุงศรีอยุธยาระหว่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ช่วงเสียกรุงให้แก่พม่าครั้งที่ 2

หลังจากที่อยุธยาโดนพม่าล้อม เชียงใหม่ร่วมเป็นทัพหน้าช่วยพม่ารบกับอยุธยาด้วย และช่วงนั้นเองเชียงใหม่ได้รับการตบรางวัลความดีความชอบ สามารถอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับคืนเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้ง

มีข้อสังเกตว่า กว่าจะได้พระพุทธสิหิงค์กลับคืนมาครั้งที่ 2 และ 3 นี้ เชียงใหม่ต้องอาศัยกองกำลังจากพม่าช่วยจัดการกับข้าศึกที่แย่งชิงพระพุทธสิหิงค์ไปทั้งสองครั้ง

แผ่นแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเสวนาทางคลับเฮาส์ ประเด็นพระพุทธสิหิงค์เมื่อสองปีก่อน

วังหน้าเอาพระพุทธสิหิงค์องค์ไหนไป?

พระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์โปรดให้พระอนุชา คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า คัดเลือกพระพุทธปฏิมาจากวัดพระสิงห์ ลงไปไว้ที่กรุงเทพมหานคร

ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่พระพุทธสิหิงค์หายไปจากเชียงใหม่อีกครั้ง และไม่มีวี่แววเลยว่าจะได้กลับคืนมา

ว่าแต่ว่า องค์ที่วังหน้านำไปนั้น จะใช่พระพุทธสิหิงค์องค์เดียวกันกับที่เจ้าเมืองแสนหวีขโมยไป แล้วสามารถนำใส่ถุงย่าม พาขี่ม้าโลดโผนโจนทะยาน ได้ล่ะหรือ? ในเมื่อองค์ที่วังหน้านำไปนั้นค่อนข้างใหญ่ต้องใช้คนแบกถึง 4 คน

เหตุการณ์ตอนนี้มีผู้เล่าขานสืบต่อๆ กันมา ยืนยันโดย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปราชญ์ใหญ่ด้านโบราณคดีของสยาม ผู้ล่วงลับ ได้เล่าให้ ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ฟังว่าชาวเชียงใหม่ได้นำพระพุทธสิหิงค์องค์จริงไปซ่อนฝังไว้ใต้พื้นดินในบริเวณวัดพระสิงห์

สอดคล้องกับข้อมูลของอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ผู้ขี่ม้าจากลำปางมาสอนหนังสือที่เชียงใหม่ ได้เล่าว่า ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจำพรรษา ณ วัดพระสิงห์นานถึง 13 ปีนั้น ทุกเย็นครูบาฯ จะเดินลงไปในช่องอุโมงค์ใต้พระเจดีย์ เพื่อไปสวดมนต์ต่อหน้าพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่ถูกซ่อนไว้

เรื่องราวนี้จักจริงเท็จอย่างไรไม่อาจทราบได้ สุดท้ายคุณเมธี ใจศรี ให้ข้อสรุปว่า สิหิงคนิทานที่พระโพธิรังสีเขียนนี้ มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแฝงอยู่ด้วยอย่างมาก โดยเฉพาะตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คือ “ท้าวมหาพรหม” ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้นำพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมานั้น

ท้าวมหาพรหมมีบุคลิกของผู้ประสานสิบทิศ ตอนแรกก็เข้ากันได้ดีกับทางสุโขทัย แต่สุดท้ายก็ถูกสกัดปัดขาด้วยกลุ่มการเมืองบางกลุ่มของฝ่ายสุโขทัย ดังนั้น มิใช่ว่าทางเชียงใหม่จะเข้าไปแทรกแซงสุโขทัยแต่เพียงถ่ายเดียวไม่ ข้างฝ่ายสุโขทัยเองก็รุกเข้ามาแทรกแซงการเมืองของล้านนาด้วยเช่นกัน •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ