สำรวจสถานการณ์แก้ ‘หนี้ครู’ หวังผลจริง หรือแค่หาเสียงเลือกตั้ง?

ปัจจุบัน ครูกว่า 80% จากทั่วประเทศกว่า 9 แสนคน ต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินจำนวนมหาศาล ที่มีรวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% รองลงมา ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ทำให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหา

ที่ผ่านมา พรรคการเมืองทุกพรรคที่ดูแล ศธ.หรือรัฐบาลทุกรัฐบาล ดูเหมือนพยายามหยิบยกปัญหา “หนี้ครู” ขึ้นมาเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

โดยเฉพาะยิ่งใกล้ช่วง “เลือกตั้ง” การจัดมหกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ของ ศธ.ก็ดูเหมือนจะยิ่งเข้มข้น และคึกคักมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด ศธ.จัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 3 ในภาคตะวันออก ที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว สำหรับครูในภาคตะวันออก 8 จังหวัด

มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภูมิภาคนี้ ที่มีมูลค่าหนี้สินรวมกว่า 4,252 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถ้าปลดหนี้ได้ รวมถึงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าหมายแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน

ในงานมีหน่วยงาน และสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วม อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฯลฯ

 

ภายในงาน นอกจากจะให้บริการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนของการฟ้องร้องดำเนินคดี และการปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน สำหรับลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤต และกลุ่มทั่วไป เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือหลังหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และควบคุมยอดหนี้ใหม่ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้แล้ว

สถาบันการเงินต่างๆ ยังได้มอบสิทธิพิเศษช่วยเหลือลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤต ทั้งผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน ที่เข้าร่วมงาน อาทิ กรณีปิดบัญชี จะยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด และดอกเบี้ยค้างชำระเป็นพิเศษ กรณีผ่อนชำระ พิจารณาขยายเวลาไม่เกิน 10 ปี ตั้งพักดอกเบี้ยค้างชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ 3 ปีแรก ผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไข ยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด ทั้งจำนวนดอกเบี้ยค้างชำระเป็นพิเศษ กรณีปลดภาระหนี้ค้ำประกัน เงินต้นคงเหลือแบ่งชำระตามจำนวนผู้ค้ำประกัน ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระให้เป็นพิเศษ ยกเว้นค่าใช้จ่ายอื่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้บริการวางแผน และให้คำปรึกษาการออม การกู้ยืม และการลงทุน รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการเงิน และการบริหารจัดการหนี้สิน สำหรับกลุ่มลูกหนี้ครูทั่วไป และครูที่ยังไม่มีหนี้ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียใหม่ในอนาคต

เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ครูแบบครบวงจร…

น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า งานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย ภาคตะวันออก ตั้งเป้าช่วยครูที่มีปัญหาหนี้สินกว่า 2,000 ราย มูลหนี้รวม 4,252 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มลูกหนี้วิกฤต 205 ราย มูลหนี้ 173.4 ล้านบาท โดยพุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้วิกฤตเป็นสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด

ที่ผ่านมา ศธ.จัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างเต็มที่ เช่น เจรจาขอลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูทั้งประเทศ การตั้งสถานีแก้หนี้ครูเพื่อช่วยเหลือครูในระดับเขตพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้การแก้ปัญหาหนี้สินครูในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตมีไม่มาก

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มั่นใจว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับครูได้จริง และทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ด้านการเงิน ทั้งช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู

 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จะเห็นความพยายามของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่จะจับมือกับหน่วยงาน และสถาบันการเงิน 12 แห่ง ทำ MOU ร่วมกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย

ที่ต่อยอดมาจาก “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” และ “มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย” ที่ช่วยเหลือ และปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 10,300 ล้านบาท รวมถึงการเจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศให้ลดดอกเบี้ย

ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีบทบาทหน้าที่ต่างกันไป อย่างกระทรวงการคลัง จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ เพื่อช่วยเหลือครู

พร้อมทั้งส่งเสริมให้ SFIs พิจารณาแนวทางช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้กลุ่มครู ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

กระทรวงยุติธรรม จะสนับสนุนข้อมูล ให้คำปรึกษาแนะนำ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอน และมาตรการที่กระทรวงยุติธรรมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนฟ้องคดี และหลังศาลมีคำพิพากษา และสนับสนุนข้อมูล บุคลากร หรือวิทยากร ในการให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำ ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ดูแล ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะที่ ธปท.สนับสนุนข้อมูล บุคลากร หรือวิทยากร ในการให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ

ซึ่งการดำเนินการในปีแรก ครูเหน่งบอกว่า อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยมีครูกว่าหมื่นรายได้รับการช่วยเหลือ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤต ที่ได้รับมาตรการทางการเงิน และการปรับโครงสร้างหนี้เข้าไปช่วยเหลือได้จริง

 

ทั้งนี้ ก่อนจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย Unlock a Better Life ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้งทั่วประเทศ คณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ศธ.ได้ประเดิมจัดกิจกรรม Kick off งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ที่ จ.กำแพงเพชร

ครั้งนั้นได้ให้ความช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย ผ่อนปรน ปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยเหลือครูเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะครูที่ได้ลงทะเบียนแก้หนี้ในรอบแรก และครูที่กำลังประสบกับปัญหาการฟ้องร้องทางคดีความ รวมถึงครูที่ถูกฟ้องร้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

โดยครูสามารถไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงินได้ 126 ราย มูลหนี้รวม 109,094,382.33 บาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ NPL 13 ราย ไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 11 ราย มีมูลหนี้ 6,443,053.37 บาท ซึ่งช่วยให้ครูพ้นจากการถูกฟ้องร้อง และไม่ต้องถูกดำเนินคดี

นอกจากนี้ ยังช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ให้กับครูกลุ่มผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และกลุ่มผู้สนใจทั่วไปที่มาร่วมงานได้สำเร็จอีก 115 ราย รวมยอดหนี้ 102,651,328.96 บาท

ส่วนการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในส่วนกลาง เมื่อปลายปี 2565 ก่อนขยายผลทั่วประเทศด้วยงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งจัดครั้งแรกไปแล้วที่ภาคอีสานสำหรับกลุ่ม 4 จังหวัด ศธ.ระบุว่า ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครูแบบพุ่งเป้าที่กลุ่มลูกหนี้วิกฤตได้กว่า 784,661,570.43 บาท

ต้องติดตามว่า การเดินสายจัดมหกรรมแก้ปัญหาหนี้สินครู จะได้ผลตามที่ตั้งเป้า หรือเป็นแค่การ “หาเสียง” ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง!! •

 

 

| การศึกษา