กลยุทธ์สุดล้ำ กับความทรงจำของค้างคาว

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ค้างคาวกินกบ (frog eating bar) สิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาด อาจฉลาดกว่าที่คุณคิด และที่สำคัญ ความทรงจำของค้างคาวนั้นอาจจะยาวกว่าปลาทอง!

แต่เดี๋ยว ถ้าแค่ยาวกว่าปลาทอง จะน่าตื่นเต้นตรงไหน เป็นที่รู้กันว่าปลาทองนั้นความจำสั้น ตัวเลขที่คุยกันคือ “สามวิ”

หึยยยย! ช่างเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามน้องปลาทองอย่างรุนแรง สามวินี่คือประมาณว่าอ้าปากหายใจหนึ่งบ๊อบ ก็ลืมไปแล้วว่ากำลังจะทำอะไรอยู่

“คือความเชื่อนี้มันเหมือนกันเกือบทุกที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนในโลก ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” คัลลัม บราวน์ (Culum Brown) ผู้เชี่ยวชาญด้านมัจฉา แห่งมหาวิทยาลัยแม็กควารี (Macquarie University) แห่งดินแดนดาวน์อันเดอร์เปรยขึ้นมาด้วยความสนเท่ห์ “คือบางที่ก็บอกสองวิ บางที่ก็บอก 10 วิ แต่ทุกที่ ยังไงก็สั้น”

ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้ว ที่จริง รู้กันมาตั้งนานแล้วด้วยว่าน้องปลาทองนั้นไม่ได้เอ๋ออย่างที่คิด ซึ่งขนาดรู้กันมากว่าครึ่งศตวรรษ น้องก็ยังโดนบูลลี่อยู่จนถึงปัจจุบัน

“เรื่องความจำที่ค่อนข้างดีของปลาทองนั้น เรารู้กันมาตั้งแต่ยุคฟิฟตี้ ซิกซ์ตี้โน่นแล้ว” คัลลัมกล่าว

“ความจำของมันอยู่ได้ยาวกว่าสามวิมากนัก อาจจะอยู่ได้เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือแม้แต่เป็นปี ก็ยังได้”

เป็นปี ถือว่าไม่แย่เลยทีเดียว ประเด็นคือ แล้วความจำค้างคาวจะสู้ได้จริงเหรอ คำตอบคือ “มีลุ้น”

เมย์ ดิกซอน (May Dixon) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (Ohio State University) สนใจศึกษาพฤติกรรมค้างคาวมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เพื่อทำความเข้าใจเจ้าแวมไพร์จิ๋ว เธอเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากเท็กซัส ไปเก็บตัววิจัยอยู่ที่สถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนี่ยน (Smithsonian tropical research Institute) ในปานามา

สี่ปีก่อน เธอฝึกค้างคาวเกือบห้าสิบตัว ให้จดจำเสียงริงโทนมือถือของเธอ “ตึ่ง ตึง ตึ๊ง” พอได้ยินเสียงริงโทนร้องเมื่อไร ให้บินมาหา และทุกครั้งที่บินมา พวกมันจะเจอบุฟเฟ่ต์ปลาเป็นอาหารให้เลือกกินได้ตามอัธยาศัย

ปกติค้างคาวพวกนี้จะล่าเหยื่อเป็นพวกกบ และตั๊กแตนขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า katydid ซึ่งค้างคาวจะใช้วิธีการเงี่ยหูฟังแล้วแยกแยะเสียงร้องหาคู่ของเหยื่อ และพอเจอเป้า พวกมันก็จะออกล่า

เพื่อฝึก เมย์จัดวางบุฟเฟ่ต์ปลาล่อค้างคาว แล้วเปิดเสียงกบร้องคลอไปด้วย ให้พวกมันคุ้นชิน ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกบ ก็จะได้ยินเสียงริงโทน และถ้าบินมาก็จะเจอบุฟเฟ่ต์ปลาให้กินได้อย่างอิ่มหนำ

พอทำซ้ำไปบ่อยๆ และค่อยๆ ลดเสียงกบลง พวกมันก็เริ่มเชื่อมโยงเสียงริงโทนกับอาหาร ไม่ช้าไม่นานเหลือแต่เสียงริงโทนอย่างเดียวน้อนนนก็มา

 

กลยุทธ์การตามเสียงร้องหาคู่ของค้างคาวนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดมากในการเลือกเมนู เพราะกบนั้นจะเลือกคู่ด้วยเสียง ในเวลาที่กบตัวเมียเลือกคู่ ก็จะตามหาตัวผู้จากเสียงนี่แหละ เสียงร้องแว่วหวานกังวานหูร้องเรียกเพรียกหาคู่จึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละสปีชีส์ ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร

ด้วยกลยุทธ์แบบนี้ ค้างคาวจึงสามารถใช้เสียงร้องหาคู่ของกบ เพื่อช่วยในการรับรู้พิกัดของเหยื่อของพวกมันได้อย่างแม่นยำ แค่ฟังเสียงร้องไกลๆ ก็รู้ได้แล้วว่าเป็นกบอะไร อยู่ตรงไหน และกินได้มั้ย

เมย์เผยว่า เท่าที่เธอสังเกตค้างคาวกินกบที่เธอจับมาฝึก ค้างคาวสามารถแยกแยะเสียงร้องของกบพิษออกจากเมนูเปิบพิสดารของพวกมันได้อย่างชัดเจน

 

ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา หลังจากที่ฝึกเสร็จเรียบร้อย เธอจับนักเรียนค้างคาวของเธอติดไมโครชิพ แล้วปล่อยกลับเข้าป่าไป

สี่ปีผ่านไป เมย์ย้ายไปทำงานที่โอไฮโอ แต่ยังคงกลับไปตะลุยปานามาศึกษาพฤติกรรมฝูงค้างคาวอยู่เป็นระยะๆ เมย์และทีมร่วมกันจับค้างคาวกินกบมาใหม่เพื่อทำงานวิจัยในทุกๆ ปี หลังการทดสอบ ปรากฏว่าในกลุ่มที่จับได้ มีค้างคาวที่เคยผ่านการฝึกจำเสียงริงโทนไปแล้วอยู่ 8 ตัว

เมย์เริ่มทดลองเปิดริงโทนเดิมอีกรอบ “ตึ่ง ตึง ตึ๊ง” ในขณะที่ค้างคาวที่มาใหม่ ที่ยังไม่เคยผ่านการฝึกมาเลย 17 ตัว เกาะคานนิ่ง อย่างมากก็กระดิกหูไปมาอย่างเกียจคร้าน

แต่พวกที่เคยผ่านการฝึกมาในอดีตทั้งแปดตัวสะดุ้งกระโจนออกจากมาคาน แล้วโฉบตรงเข้าไปที่ต้นเสียงอย่างรวดเร็วและแม่นยำ หกตัวพุ่งเข้าไปเกือบถึงลำโพง และคว้าชิ้นปลาที่วางอยู่บนตะแกรงด้านบนมาได้ในแทบจะในทันที

นั่นคือความมั่นใจว่าต้องเจออาหารอันโอชะ

อีกสองตัว โฉบดูลาดเลา ก่อนที่จะเข้าไปคว้าชิ้นปลามาเคี้ยวเล่นได้ในที่สุด

“ฉันแปลกใจมาก ฉันเคยคิดว่าถ้าจำได้อย่างน้อยสักปีหนึ่ง ก็ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลที่พวกมันน่าจะจำได้ ด้วยสิ่งต่างๆ ที่พวกมันต้องเรียนรู้ และที่จริงความจำระยะยาวก็มีสิ่งที่ต้องจ่ายเพื่อแลกมา” เมย์กล่าว “แต่สี่ปีนี่คือเวลาที่ยาวนานมากที่จะยึดติดอยู่กับเสียงที่คุณอาจจะไม่มีโอกาสได้ยินอีกเลยในชีวิต”

แต่จะว่ากันตามจริง ค้างคาวไม่รู้นี่ว่าเสียงนี้จะได้ยินอีกมั้ย สำหรับพวกมัน เสียงริงโทนอาจจะเปรียบเหมือนเสียงระฆังตีบอกเวลาอาหารเย็นก็ได้

 

แม้ว่าการมีความทรงจำระยะยาว อาจจะสะท้อนถึงภูมิปัญญาของสิ่งมีชีวิตที่อาจจะทำให้พวกมันมีข้อได้เปรียบในการดำรงชีวิตถ้าเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ แต่การมีความทรงจำระยะยาว ยึดติดกับอะไรมากไปก็อาจจะเป็นการปิดกั้นทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่รอดได้เช่นกัน

อีกอย่าง การเก็บความทรงจำไว้ ต้องใช้พลังงานไม่น้อย นั่นหมายความว่าในสภาพการณ์ของสัตว์ที่อาศัยและพยายามที่จะกระเสือกกระสนที่จะดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ในป่า การเก็บความทรงจำเกี่ยวกับอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ในการอยู่รอด อาจจะเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยในเชิงพลังงาน

นักวิจัยพฤติกรรมจำนวนหนึ่งเชื่อว่าความยืดหยุ่นในการสร้างความทรงจำ (memory flexibility) หรือการการปรับตัวให้ลืมอะไรบางอย่างไป (adaptive forgetting) ที่จริงแล้วอาจจะมีประโยชน์ในการดำรงอยู่มากกว่า

และนั่นทำให้การศึกษาบทบาทของความทรงจำระยะยาวที่มีผลต่อการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมจริงในธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่อาจจะช่วยทำให้เราประเมินผลกระทบของเทคโนโลยี การขยายตัวของชุมชนเมืองที่อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

เพราะที่น่าเป็นห่วง กลับไม่ใช่เรื่องแยกเสียงกบร้อง หรือการจำเสียงริงโทน เพราะเรื่องนั้น ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าค้างคาวทำได้ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องทดลองที่ปิดและเสียงที่เปล่งออกมาก็ดังสนั่น ไม่ต้องตั้งใจฟังก็ยังได้ยิน

แต่ที่น่ากังวล ก็คือผลกระทบจากเสียงรบกวนจากชุมชนเมืองที่ดังอื้ออึงไปทั่วต่างหาก

เพราะมลพิษทางเสียงพวกนี้อาจทำให้ค้างคาวฟังเสียงเหยื่อได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงโอกาสในการดำรงอยู่ที่ลดลง

 

แต่เป็นที่น่ายินดี ชีวิตย่อมมีหนทางเสมอ อย่างน้อยก็กับค้างคาวกินกบ

การทดลองโดยทีมวิจัยนำโดย ดีแลน โกเมซ (Dylan Gomes) จากสถาบันมักซ์พลังก์เพื่องานวิจัยปักษีวิทยา (Max Planck Institute for Ornithology) และสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนี่ยนที่ปานามา ที่ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Science ในปี 2026 พบว่าค้างคาวกินกบยังสามารถล่าเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะได้ยินเสียงไม่ชัด เพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงรบกวนรอบข้างอยู่อย่างมากมายก็ตาม

พวกเขาทดลองโดยการปล่อยค้างคาวเข้าไปหาเหยื่อในกรงที่มีหุ่นกบที่ส่งเสียงร้องเรียกคู่อยู่โดยมีเสียง white noise ที่เป็นเสียงฉู่ฉี่ เหมือนทีวีไม่มีสัญญาณ เป็นแบ๊กกราวด์

ซึ่งน่าสนใจเพราะเสียง white noise ที่ใส่เข้าไปรบกวนโสตประสาทของพวกมันอย่างได้ผล ทำให้ค้างคาวไม่สามารถระบุตำแหน่งของหุ่นกบได้ชัดเจน พวกมันจะเข้าจู่โจมช้าลง และความมั่นใจก็จะลดลงไปด้วย

แต่ถ้าช่วยมันโดยการเปลี่ยนหุ่นกบเสียใหม่ เพิ่มเป็นแบบที่มีการยุบคอและพองคอตอนที่เปล่งเสียงร้องออกมาได้ด้วย ค้างคาวจะเริ่มล่าได้ดีขึ้น แม้ในตอนช่วงแรก พวกมันอาจจะยังจู่โจมไม่ค่อยตรงเป้า

แต่พอผ่านไปไม่นาน พวกมันก็เริ่มปรับตัว และเริ่มเรียนรู้ที่จะจับตำแหน่งโดยใช้อีกกลยุทธ์หนึ่ง นั่นก็คือ “โซนาร์”

เหมือนคนที่บางทีฟังไม่ได้ยิน จะมองและใช้การอ่านปากเพื่อช่วยในการเข้าใจ ในกรณีของค้างคาว ถ้าได้ยินแล้วไม่แน่ใจ พวกมันปรับกลยุทธ์ไปจับการโป่งคอและยุบคอของกบโดยใช้โซนาร์ ซึ่งจะทำให้พวกมันสามารถปรับตัว และล่าเหยื่อได้ แม้ในสภาวะที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางเสียงก็ตาม

งานวิจัยของดีแลน และเมย์ ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับสติปัญญาของค้างคาว บางทีมันอาจจะฉลาด มีความทรงจำ และมีความซับซ้อนในทางอารมณ์กว่าที่เราคิด

แต่อ่านปากกบโดยใช้โซนาร์นี่ทรงอย่าง “bat” จริงๆ