ช่องว่างอำนาจในยุโรป

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ช่องว่างอำนาจในยุโรป

 

“…สําหรับอังกฤษชาติสำคัญของยุโรป จีนท้าทายอย่างเป็นระบบต่อคุณค่าและผลประโยชน์ของอังกฤษ…”

นี่เป็นคำแถลงครั้งแรกของ ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) เรื่องนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ1 หลังจากเขาก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2022 หลังจากนักข่าว BBC ถูกจับและถูกทำร้ายเมื่อเขารายงานการประท้วงของคนจีนที่ต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่เซี่ยงไฮ้ ปีที่แล้ว2

นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังกล่าวด้วยว่า “…เป็นที่ชัดเจนว่า อังกฤษต้องการเข้าใกล้จีนเพิ่มขึ้น ด้วยจีนกำลังแข่งขันเพื่อมีอิทธิพลต่อโลก โดยใช้เครื่องมือทุกอย่างของอำนาจรัฐ ดังนั้น ‘ยุคทองจบแล้ว’ ด้วยความคิดตื้นๆ ว่า การค้าจะนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและการเมือง…”3

นี่อาจดูเหมือนความคิดของผู้นำอังกฤษต่อจีน แต่ความจริง สหภาพยุโรปที่ประกอบด้วยหลายชาติของยุโรป ต่างก็มองคล้ายกับอังกฤษ

ปี 2023 Carnegies Europe Think Tank ชั้นนำของยุโรปมองว่าสหภาพยุโรปคิดว่า การที่จีนยอมรับการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน และยังพยายามสร้างความชอบธรรมต่อทัศนะสงครามของรัสเซีย สหภาพยุโรปจึงลบภาพเพ้อฝันต่อการกล่าวหาบทบาทจีนด้านสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ

ความจริงนี้แปลความได้ว่า ความร่วมมือมากขึ้นข้ามแอตแลนติก (transatlantic cooperation) ในการต่อต้าน ‘ภัยสงครามต่างๆ’ ที่เกิดจากจีน4

นี่คือมุมมองของหลายชาติในยุโรปถึงแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าในทางภูมิศาสตร์ จีนเมื่อเทียบกับรัสเซียในยุโรป จีนอยู่ห่างกว่ารัสเซีย แต่เราก็เห็นการเคลื่อนตัวเข้าไปหลายภาคส่วนของยุโรป จนเราเห็นอิทธิพลจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อะไรเป็นเหตุให้จีนทะลุทะลวงเข้ายุโรปได้เร็ว เราควรย้อนดูอดีต

ยุโรปในปัจจุบันกำลังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบสิ้น

ยุโรปยังหนาวเย็นยะเยือก เมื่อไม่มีไฟฟ้าและพลังงานใดๆ ช่วยบรรเทาความหนาวเย็น และความอดอยาก บาดเจ็บ และป่วยของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก ที่ควรได้ไปโรงเรียนและสนุกสนานตามวัยของพวกเขา

สภาพอันหดหู่เช่นนี้คล้ายคลึงหรืออาจจะมากกว่าสภาพอันพังพินาศของทุกสิ่งจากการสู้รบ ทำสงครามระหว่างกัน ในยามที่ยุโรปเกิดช่องว่างทางอำนาจ (power vaccum)

 

ยุโรป ระเบียบการเมืองในศตวรรษที่แล้ว

ระเบียบการเมือง (political order) ในยุโรปกลางและตะวันออก ฉายภาพด้วยแบบแผนอุดมการณ์รัก-เกลียดชัง (Love-Hate relations) ระหว่างเยอรมนี-รัสเซีย ดินแดนระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจครอบคลุมดินแดนจากบอลข่าน (Balkan) ถึงบอลติก (Baltics) ถูกควบคุมโดยชาติมหาอำนาจหนึ่ง หรือไม่ก็คนอื่นเสมอมา ในบางช่วงเวลา พวกเขาล้มเหลวการบรรลุความตกลงการแชร์อำนาจด้วยกัน

แต่เกิดช่องว่างทางการเมืองและเกิดสงครามโลกคือ สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นเกี่ยวข้องกับช่องว่างทางอำนาจในบอลข่าน แล้วตามมาด้วยช่องว่างทางอำนาจของยุโรปกลางและตะวันออก (Central and Eastern Europe-CEE)

แล้วนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วสงครามเย็น (Cold War) ก่อตัวเนื่องจากไม่มีการควบคุมอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาค

ข้อวิเคราะห์ข้างต้นนี้ ใช้อธิบายสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในยุโรปอีกครั้งหนึ่ง การรุกรานของรัสเซียต่อประเทศเพื่อนบ้าน ชัดเจนว่าเกิดจากช่องว่างอำนาจในยูเครน เราน่าดูในรายละเอียดแนววิเคราะห์นี้

วันนี้มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกครั้งในยุโรป มีการใช้พาราไดม์ (paradigm) รัสเซีย-เยอรมนีรัก/เกลียดกันระเบิดครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 2 ชาติมหาอำนาจสูญเสียความกล้าหาญทางการเมืองแบบในภูมิภาค

ปัจจุบัน อิทธิพลทางเศรษฐกิจของรัสเซียในยุโรปล่มสลาย ในขณะที่การเติบโตแบบเป็นหนึ่งเดียวของเยอรมนีก็ลดน้อยถอยลงอย่างมาก

ในขณะที่สถานะของสหภาพยุโรปเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหลักในภูมิภาค แต่สำหรับผู้เขียนสหภาพยุโรปก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร

ในสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังพัฒนานี้ มีหลายคนมองว่านับเป็นโอกาสหนึ่งเดียวสำหรับยุโรปกลางและตะวันออก เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยุโรปอันใหม่ แต่นี่ยังเป็นความคาดหวัง ยังต้องใช้เวลาอันยาวไกล

แต่ท่ามกลางช่องว่างทางอำนาจนี้ ภูมิภาคยูเรเชีย (Eurasia) กลับมีสิ่งที่เรียกว่า การคุกคามสำคัญต่อภูมิภาค จากอิทธิพลที่แตกต่างจากในรอบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน

เรามาวิเคราะห์ภัยคุกคามนี้

 

ในเงื้อมมือจีน

ความจริงแล้ว จีนมีบทบาททั่วโลก จีนในเอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง

แล้วจริงๆ จีนมีบทบาทมานานแล้วในยุโรป โดยเฉพาะในยุโรปกลางและตะวันออก

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ยิ่งหลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก้าวสู่อำนาจในปี 2012 มหายุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ครอบคลุมถึง 5 ภูมิภาคของโลก ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จีนได้แสวงหาอิทธิพลในยุโรปกลางและตะวันออกผ่านมหายุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางอยู่แล้ว แล้วจีนยังมีความร่วมมือจีน ยุโรปตะวันออก หรือที่เรียกว่า 17+1 Bloc อยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม การแซงก์ชั่นของประเทศตะวันตกต่อรัสเซีย กลายเป็นภูมิภาคนี้ต้องพึ่งพิงการส่งออกของจีน ภายใต้การผลิต 2 แนวทาง (dual use) และส่งออกวัตถุดิบเพื่อใช้ทางการทหารของรัสเซีย ได้แก่ microchip, aluminium oxide และวัตถุดิบอื่นๆ ส่งผลให้บรรดารัฐบอลติกยุติความร่วมมือกับจีน

มีการวิเคราะห์ว่า ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างจีนกับยุโรปกลางและตะวันออก แสดงให้เห็นความเสี่ยงต่อภูมิภาคจากการส่งออกสินค้าของจีน และระบอบอำนาจนิยมด้านเทคโนโลยี (techno-authoritarianism)

จีนยังสามารถข่มขู่ประเทศคู่ค้าในยุโรปกลางและตะวันออก โดยการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากสินค้าส่งออกจีน ซึ่งเป็นการค้าที่ไม่เท่าเทียมเพราะ

จีนควบคุมห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้ระบบที่เรียกว่า dual circulation คือ ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดภายใน (domestic market) ที่มีขนาดใหญ่มาก ยุติการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้ามูลค่าสูงจากต่างประเทศ แล้วยังส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ

ระบบนี้จะนำไปจีนสู่นโยบาย พึ่งพาตัวเอง (self sufficiency) ที่ประธานาธิบดีสี และสภาประชาชนแห่งชาติจีนประกาศเป็นยุทธศาสตร์หลักเอาไว้

สำหรับยุโรปกลางและตะวันออก จีนยังได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนจาก Trans-Asian railway จากโปแลนด์ถึงสาธารณรัฐเช็ก เส้นทางการค้าที่เติบโตรวดเร็ว และเป็นฮับของภูมิภาค

สำหรับจีน เส้นทางรถไฟนี้เป็นมากกว่าการค้า เส้นทางยาว 9,500 กิโลเมตร เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพต่อรองกับนโยบายและแนวคิด Free and Open Indo-Pacific ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุว่า ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงในช่องแคบไต้หวัน เส้นทาง Trans-Asian railway อาจเป็นหนทางเดียวของจีนเพื่อส่งออกสินค้าของตนอย่างรวดเร็วไปให้ชาติตะวันตก

การสร้างการพึ่งพิงการค้าในภูมิภาคต่อจีนและการขยายตัวสู่ตลาดยุโรปกลางและตะวันออก จีนสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ และกดดันต่อพันธมิตรตะวันตกมาก

ไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ จีนมีผลประโยชน์ในเส้นทางการค้าประวัติศาสตร์นี้ แล้วยังพัฒนาความร่วมมือในยุโรปกลางและตะวันออก อันเป็นภาพตรงกันข้ามกับความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคที่ยังไม่แน่นอน อิทธิพลจีนท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดรองๆ ไต้หวัน อาจจะเป็นหนึ่งในความท้าทายรุนแรงมากๆ ต่อชาติตะวันตกในปัจจุบัน

น่าสนใจ การเดินทางเยือนกรุงมอสโกของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สัปดาห์นี้ เขาประกาศว่า เขาจะร่วมพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย เรื่องแผนสันติภาพของสงครามยูเครน ในกรอบเวลาที่จีนได้รับการสรรเสริญจากชาติตะวันออกกลาง ที่จีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียสำเร็จ

แต่สำหรับผู้เขียน แผนสันติภาพเป็นเรื่องหนึ่งของจีน ท่ามกลางอิทธิพลจีนด้านต่างๆ ในยุโรปกลางและตะวันออกช่วงช่องว่างทางอำนาจอีกครั้งหนึ่งของยุโรป แต่เป็นช่องว่างทางอำนาจที่เปิดโล่งให้อำนาจใหม่อย่างจีนเข้ามา แตกต่างจากช่องว่างทางอำนาจในรอบศตวรรษที่แล้ว

แม้พื้นที่จีนไม่ติดกับยุโรปกลางและตะวันออก แต่ภูมิศาสตร์มิได้เป็นอุปสรรคต่อจีนเลย ดูตะวันออกกลางและที่อื่นๆ ก็จะรู้

1 “British PM Sunak says ‘golden era’ of UK-China relation is over” Aljazeera, 28 November 2022.

2 “BBC says Chinese police assaulted its journalist at COVID protest” Aljazeera, 28 November 2022.

3 “British PM Sunak says…” op.cit.,

4 Judy Dempsey, “Can Europe Influence U.S.-China Rivalry?” Carnegie Europe, 16 February 2023.