สงคราม Fake News ระหว่างเผด็จการกับคนข่าวอาชีพในยุคดิจิทัล

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

สงคราม Fake News

ระหว่างเผด็จการกับคนข่าวอาชีพในยุคดิจิทัล

 

บทเรียนสำคัญสำหรับคนทำสื่อที่ปรับตัวจากรูปแบบหนังสือพิมพ์, ทีวี และวิทยุดั้งเดิม สู่ยุคดิจิทัลคือคุณอนันต์และโทษมหันต์ของโซเชียลมีเดีย

มาเรีย เรสซา, เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพล่าสุด, เขียนบันทึกประสบการณ์ของตัวเองกับการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบริหารสื่อออนไลน์ Rappler เพื่อเปิดโปงอันตรายเมื่อสื่อออนไลน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองฉ้อฉลได้อย่างง่ายดาย

คนข่าวที่เชื่อในเรื่อง “จรรยาบรรณ” และการ “ตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ” ของข้อมูลข่าวสารและพยายามที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เป็นข่าวกำลังถูก “สื่อโซเชียลมีเดีย” เบียดตกไปจากการทำหน้าที่ตามมาตรฐานอาชีพแห่งตน

มาเรียเจอกับตัวเองว่าเมื่อนักข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตและโกงกิน ผู้มีอำนาจก็สามารถจะใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, YouTube หรือ Twitter และอื่นๆ ในการบิดเบือนข่าว

และสร้าง “ข่าวปลอม” หรือ Fake News อย่างเป็นขบวนการได้อย่างต่อเนื่อง

ยิ่งเมื่อแพลตฟอร์ม Social Media เหล่านี้มุ่งจะทำเป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายทำกำไรสูงสุด ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลหรือจริยธรรมของสื่อที่ดีด้วยแล้ว

ยิ่งเป็นการผสมผสานของความชั่วร้ายแห่งอำนาจการเมืองกับสื่อสังคมออนไลน์ที่กลายเป็นเครื่องมือทำลายสังคมอย่างน่าวิตกยิ่ง

มาเรีย เรสซา ถูกตำรวจพาตัวไปหลังจากยื่นประกันตัวในเมืองปาซิก ประเทศฟิลิปปินส์

มาเรียเขียนในหนังสือ How to Stand up to a Dictator ที่เพิ่งวางตลาดว่า

“ดิฉันเคยคิดว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นเครื่องมือของการสร้างสังคมข่าวสารที่กว้างขวางและส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญทางสร้างสรรค์ (เธอจึงตัดสินใจออกจากสื่อทีวีมาตั้งสำนักข่าวออนไลน์) แต่วันนี้ดิฉันเห็นว่า Facebook เป็นหนึ่งในภัยอันร้ายแรงต่อประชาธิปไตยของโลก…”

เธอเสริมว่า “ดิฉันแปลกใจอย่างยิ่งที่เรายอมให้เสรีภาพของเราถูกกระชากไปโดยบริษัทเทคโนโลยีที่มุ่งหวังจะสร้างธุรกิจให้เติบโตและแสวงหารายได้สูงสุด…”

เธอยืนยันว่าบริษัทเทคฯ เหล่านี้ “ดูดเอาประสบการณ์และข้อมูลของเรา และใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จัดการข้อมูลเหล่านั้นโดยปั่นให้เราและข้อมูลไปในทางที่สร้างพฤติกรรมไปถึงระดับที่ดึงเอาคุณสมบัติที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์ออกมา”

เธออ้างศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Shoshana Zuboff ที่ระบุว่า รูปแบบธุรกิจที่น่ากลัวเช่นนี้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้คนที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง

เรียกมันว่าเป็น “Surveillance capitalism” หรือ “ทุนนิยมสอดแนม”

นั่นหมายความถึงการที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้เปิดทางให้มีการเผยแพร่ข่าวปลอมข่าวเสกสรรปั้นแต่งที่มีเป้าหมายเลวร้ายทางการเมืองอย่างเสรีโดยไม่มีการตรวจสอบและกำกับดูแลโดยสังคมส่วนรวม

ผลที่ตามมาก็คือนักการเมืองและนักต้มตุ๋นสามารถสร้างบัญชีปลอมเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นที่ปั่นขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มการเมืองหรือธุรกิจสีดำและสีเทาได้อย่างสะดวกดาย

มาเรียต้องเผชิญกับความเจ็บปวดนี้ด้วยตัวเอง

เธอบอกว่าตอนแรก Rappler ของเธอมีความร่วมมือกับ Facebook และสื่อโซเชียลอื่นๆ ในการนำเสนอเนื้อหาสาระเพื่อกระจายข้อมูลที่ถูกต้อง

แต่เมื่อเธอเห็นความไม่ปกติของบัญชีปลอมต่างๆ ที่สร้างโดยกลุ่มการเมืองเพื่อปล่อยข่าวบิดเบือนและข้อกล่าวหาที่ไร้ที่มาที่ไป จึงแจ้งต่อสื่อออนไลน์เหล่านั้นให้กำจัดการกระทำเช่นนั้น

แต่ทุกอย่างก็ยังเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม

เหตุผลที่สำคัญคือบริษัทเทคฯ เหล่านี้มีเป้าหมายหลักคือการทำกำไร

ยิ่งมีการแชร์ข่าวที่สร้างกระแสร้อนแรง ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ไม่ว่าจะมีการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำหรือไม่ ก็ยิ่งทำให้มีการคลิก Like และ Share กันมากขึ้น

กระแส “การจราจรคับคั่ง” บนแพลตฟอร์มคือสิ่งที่สร้างรายได้ ขายโฆษณาได้มากขึ้น

ดึงให้มีคนเข้ามาแชร์และต่อยอด Fake News กว้างขวางขึ้นก็เพิ่มผลกำไรให้กับบริษัทเหล่านั้น

เพราะบริษัทเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “ธุรกิจเทคโนโลยี” และอ้างว่าไม่ใช่ “บริษัทสื่อ” จึงไม่ต้องมีมาตรฐานแห่งวิชาชีพของสื่อสารมวลชนที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

และยึดหลัก “การทำเงินเหนือการปกป้องสาธารณชน”

บริษัทเหล่านี้ลงทุนจ้างทีมล็อบบี้นักการเมืองเพื่อหลบเลี่ยงการต้องทำตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคข้อมูลธุรกิจเช่นว่านี้ “ปฏิบัติต่อข้อมูลของคนเสมือนเป็นสินค้าและโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันได้ในตลาดการค้า”

 

เธอตั้งคำถามว่าในองค์กรข่าวที่มีมาตรฐานสื่อที่รับผิดชอบนั้นหากฝ่ายข่าวต้องนำเสนอเนื้อหาที่อาจจะกระทบผลประโยชน์ทางธุรกิจขององค์กรนั้น จะเกิดอะไรขึ้น

“ในองค์กรข่าว มีกำแพงระหว่างฝ่ายข่าวกับฝ่ายธุรกิจเสมอเพื่อบริหารไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นธรรมดาที่หัวหน้าฝ่ายข่าวกับหัวหน้าฝ่ายธุรกิจจะต้องปะทะกันเป็นประจำ…”

นั่นเป็นวิธีการทำงานเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ (ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดขององค์กรข่าวที่มีความรับผิดชอบ) ที่ผ่านมา…และสื่อดั้งเดิมที่ยึดถือหลักปฏิบัติเช่นนั้นก็ต่อสู้และอยู่รอดมาได้ด้วยหลักการเช่นนั้น

แต่ในบริษัทเทคฯ ส่วนใหญ่ที่วางตัวเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารวันนี้ สองกลไกนี้ถูกรวบไว้เป็นหน่วยงานเดียวกัน

นั่นหมายความว่าทุกการตัดสินใจล้วนเป็นเรื่องการเมือง ทุกการตัดสินใจคือการโยงกับการทำกำไรและการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทเทคฯ แห่งนั้น

และนั่นนำไปสู่ภาวะอันตรายที่กำลังทำลายสังคมเพราะข้อมูลที่ถูกปั่นขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นสามารถแชร์กันอย่างรวดเร็วและกว้างขวางบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหมือนไฟป่าที่ไม่มีหน่วยดับเพลิงคอยป้องกันก่อนจะเกิดเหตุ…หรือดับไฟก่อนจะสายเกินไป

“ในระบบโซเชียลมีเดียนั้น เรื่องโกหกมดเท็จนั้นหากมีการพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกและแชร์กันไปอย่างกว้างขวางโดยไม่รู้ต้นตอก็กลายเป็นความจริงสำหรับคนที่รับสารและไม่คิดว่าจะต้องตรวจสอบความถูกต้อง”

สังคมที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นจึงกลายเป็นเหยื่อของการจงใจสร้างความเกลียดชัง, ความระหองระแหง, ความระแวงคลางแคลง และการทำสงครามข่าวสารที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนนำเสนอ

 

เมื่อมาเรียตั้งหน้าตั้งทำหน้าที่สื่อในการขุดคุ้ยและเจาะข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจ เธอก็ต้องเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ

นั่นคือประธานาธิบดีดูเตอร์เต

ฝ่ายปฏิบัติการจัดการข้อมูลหรือ Information Operations (IO) ของรัฐบาลระดมสรรพกำลังของมือเทคโนโลยีและนักกระจายข่าวสารตั้งเป็นทีมงาน

ที่ไม่เพียงแต่จะนำเสนอข่าวและเนื้อหาที่สนับสนุนตัวประธานาธิบดีเท่านั้น

หากแต่ยังเป็นกองทัพการสื่อสารที่ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อทำลายบุคคลหรือองค์กรที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นศัตรูของตนอีกด้วย

จึงเกิดปฏิบัติการ “ไล่ล่า” และ “ทำลายล้าง” ด้วยการปล่อยข่าวและข้อมูลอันเป็นเท็จจริงต่อผู้เห็นต่างอย่างดุเดือดและรุนแรง

มาเรียและ Rappler กลายเป็นเป้าสำคัญเป้าหนึ่งของผู้มีอำนาจ

มาเรียบอกว่า ทีมนักโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายดูเตอร์เตคงจะใช้กลยุทธ์ FUD หรือ Fear, Uncertainty, Doubt (ความกลัว ความไม่แน่นอน และความสงสัย) ในการเปิดศึกทางแพลตฟอร์มกับเธอและสื่อ Rappler

แต่ “ม็อบดิจิทัล” ของดูเตอร์เตไปไกลกว่านั้นมาก

หนึ่งในกลวิธีสกปรกคือการยุยงให้เกิดการรณรงค์เท็จเพื่อสร้างความหวาดกลัว (เรียกว่า astroturfing ในภาษาธุรกิจการค้า) เกี่ยวกับสงครามยาเสพติด

มีการตั้งเพจ Facebook เรียกร้องให้มีการ “เก็บ” นักศึกษาที่ตั้งคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายรัฐบาล และโพสต์วิดีโอเซ็กซ์ปลอมของนักการเมืองฝ่ายค้านทางออนไลน์เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเธอและ Rappler

เธอบอกว่า “ศาลเตี้ยทางดิจิทัล” ยังติดตาม Rappler และนักข่าวโดยพยายามทำให้เสียชื่อเสียงในการรายงานและข่มขู่เจ้าหน้าที่ด้วยการล่วงละเมิดทางออนไลน์ที่ชั่วช้าและการขู่ฆ่ามาเรีย

แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ เกาะติด “เครือข่ายข้อมูลเท็จ” ของรัฐบาลที่เผยแพร่เรื่องโกหกไปยังพลเมืองของตนที่เจือด้วยความโกรธและความเกลียดชัง

 

มาเรียถูกตั้งข้อหาและโดนหมายจับของรัฐบาลและเครือข่ายพันธมิตรของฝ่ายมีอำนาจโดยใช้กฎหมายเพื่อปิดปากเธอ

เธอถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเธอถูกตัดสินว่ามีความผิด ต้องเผชิญกับโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 10 คดี ซึ่งรวมแล้วอาจจะถึง 100 ปี

แปลว่าเธออาจจะต้องติดคุกตลอดชีวิตก็ได้หากเธอพ่ายแพ้สงครามแห่งการทำความจริงให้ปรากฏ

เธอยืนยันว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เปราะบาง และในหนังสือเล่มนี้มาเรียเรียกร้องเร่งด่วนสำหรับผู้อ่านชาวตะวันตกให้ตระหนักและเข้าใจถึงอันตรายต่อเสรีภาพของเราก่อนที่จะสายเกินไป