กาสะลองซ้องปีบการเมือง

คำ ผกา

คำ ผกา

 

กาสะลองซ้องปีบการเมือง

 

การขับเคี่ยวของทุกพรรคการเมืองในสนามการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการเมืองไทยร่วมสมัยสำหรับฉัน

เลยคิดว่าจะสมมุติตัวเองเป็นหมอ (การเมือง) มาลองเช็กสุขภาพของพรรคการเมืองแต่ละพรรคกัน

เริ่มที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เอา กปปส.เก่า ประชาธิปัตย์เก่าบางส่วน และพลังประชารัฐบางส่วนมารวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งหลายคนอาจมองว่า คนเหล่านี้อยากอาศัยบารมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อชนะการเลือกตั้งและการันตีว่าได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

หรืออาจจะเชื่อว่ามีพลังลึกลับหนุนหลังประยุทธ์อยู่ ดังนั้น การมาอยู่ข้างเดียวกับประยุทธ์จึงการันตีชัยชนะ ไม่ว่าตัวประยุทธ์จะไม่เป็นที่นิยมเลยโดยสิ้นเชิงในหมู่ประชาชน

หรืออย่างน้อยเมื่อเทียบกับประยุทธ์เวอร์ชั่นหัวหน้า คสช. ผู้มากบารมี แต่ถ้าเราเช็กชื่อ “ตัวตึง” ที่น่าจะชนะการเลือกตั้งแน่นอนในพรรครวมไทยสร้างชาติกลับมีจำนวนไม่มากอย่างที่คิด

แถมยังมีลุ้นว่าถึงที่สุดจะถึง 25 ที่นั่งพอที่จะมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่

และนับวันพรรครวมไทยสร้างชาติกลับดูหม่นหมองลงตามลำดับ เพราะไม่มีนโยบายที่น่าสน

ส่วนผลงานที่อยากจะเคลมก็พูดไม่เต็มปากว่าเป็นผลงานของพลังประชารัฐที่ตอนนี้มีประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคหรือเป็นผลงานของประยุทธ์กันแน่

เพราะแปดปีที่ผ่านมาประยุทธ์ไม่มีชื่อเสียงในด้านการริเริ่มหรือแม้แต่พูดเรื่องนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากพูดกว้างๆ เช่น รัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหานี้อยู่ นายกฯ รับทราบแล้ว

รัฐบาลนี้เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ปัญหามีก็แก้กันไปนี่ก็แก้มาได้เยอะแล้ว รัฐบาลเก่าสร้างปัญหาเอาไว้เยอะ เป็นต้น

นอกจากไม่มีนโยบายที่ “ว้าว” การลงพื้นที่ของประยุทธ์ยังถูกครหาว่าใช้เงินภาษีประชาชนไปหาเสียง แม้จะพยายามอธิบายนี่คือการไปทำงานในฐานะ “นายกฯ”

ถูกครหาเรื่องนี้ยังไม่พอ ปกตินักการเมืองลงพื้นที่ไปหาชาวบ้าน อย่างน้อยต้องมีคะแนนนิยมติดไม้ติดมือมาบ้าง หรือมีภาพในสื่อเชิงบวก

แต่ผลแห่งการลงพื้นที่ของประยุทธ์ ไม่ต่างอะไรกับสมัยเป็นหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจเต็ม คือไปหาชาวบ้านประหนึ่งชาวบ้านต้องขอบคุณที่ท่านอุตส่าห์มา เป็นบุญเหลือเกินที่คนบุญหนักศักดิ์ใหญ่มาเยี่ยม มาถามสารทุกข์สุกดิบ

พูดอย่างสั้นเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในบรรยากาศของการเลือกตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีกระแส

ส่วนผสมระหว่าง ประยุทธ์ สุชาติ ชมกลิ่น “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ ธนกร วังบุญคงชนะ ทิพานันท์ ศิริชนะ ยังไม่ได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น

 

มาดูพรรคพลังประชารัฐกลายเป็นพรรคที่ดูอาภัพไปเสียอย่างนั้น

พรรคที่เคยยิ่งใหญ่ เกรียงไกร เป็นที่มั่นของสาม ป. ที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ และ 250 ส.ว. จนกลายเป็นเงื่อนไขให้นักการเมืองขาใหญ่จากพรรคเพื่อไทยต้องพากันย้ายรังมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

อย่ากระนั้นกระนี้เลย ฉันยังจำข่าวที่พรรคเพื่อไทยพยายามรั้งตระกูลสะสมทรัพย์แห่งนครปฐมไม่ให้ย้ายไปจากเพื่อไทย เทียวไล้เทียวขื่อหลายรอบมากก็ไม่สำเร็จ นักการเมือง “บ้านใหญ่” พากันย้ายไปพลังประชารัฐทั้งเพราะแรงจูงใจเรื่องการได้เป็นรัฐบาลและไม่ต้องกังวลเรื่องจะถูก “คดีการเมือง” เล่นงาน

แต่วันนี้แม้ประวิตรในวันที่ไม่มีประยุทธ์ จะพยายามอย่างเต็มความสามารถที่จะ “ตั้งใจ” เล่นการเมืองจริงๆ แบบนักการเมือง และพรรคการเมืองปกติ

แต่ฉันไม่แน่ใจเลยว่าจะประสบความสำเร็จ

เพราะประชาชนที่ถูกกระทำจากยุคที่ ศอฉ.เรืองอำนาจ ต่อมาจนถึงยุค คสช.เรืองอำนาจ ไม่อาจทำใจได้ที่จะเห็นประวิตรลอยนวลง่ายๆ เพียงแค่ออกมาเขียนจดหมายสารภาพบาปว่า “การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกของประเทศ การเลือกตั้งและประชาธิปไตยเสรีนิยมต่างหากคือคำตอบ”

แม้ตัวฉันเองจะยินดีที่เห็นประวิตรปวารณาตัวเป็นนักการเมือง สู้ในกติกา และสู้ในแบบที่ไม่มีอำนาจพิเศษในมือ เพราะคนที่มีคือประยุทธ์

ในแง่นี้เท่ากับว่าขุมกำลังส่วนหนึ่งในฝั่งเผด็จการอนุรักษนิยมได้ย้ายมาอยู่ในฝั่ง “การเมืองเลือกตั้ง” แล้ว – มีสถานะไม่ต่างจาก ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ไทยศรีวิไลย์ ฯลฯ เพราะประกาศสู้กับทุกพรรค

ไม่ได้อยู่ในสภาพเป็นพรรคแตกสาขาที่มีขึ้นเพื่อโหวตประยุทธ์เป็นนายกฯ

แต่ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่มีคนจำนวนมาก เขาไม่ลืม และไม่อาจให้อภัยหรือก้าวข้ามได้ หากประวิตรไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีก่อการรัฐประหารเสียก่อน

ความอาภัพของพรรคพลังประชารัฐคือ เมื่อครั้งเป็นนั่งร้านให้ประยุทธ์ ประยุทธ์ก็เป็นตัวฉุดรั้งทำให้ไม่มีผลงาน

เมื่อครั้งประยุทธ์ย้ายออกไป และพรรคฯ ประกาศจะเป็น “นักการเมือง” เต็มตัว มีหน้าตักเท่าๆ กับคนอื่นกลับไม่มีพลังตัวช่วยพิเศษใดๆ เมื่อเอามาวางเทียบกับเพื่อไทย ภูมิใจไทย

ก็ทำให้ประเมินได้ว่า หากดูจากผลงานเมื่อครั้งเป็นรัฐบาล ภูมิใจไทยก็ปังกว่า

ถ้าจะประเมินจากความนิยม เพื่อไทยก็เป็นที่นิยมมากกว่า

หากจะประเมินจาก “ต้นทุน” ทางอุดมการณ์ ประชาธิปไตย เพื่อไทยก็กินขาด

หากจะประเมินจากนโยบายที่จะนำเสนอ ก็แพ้ทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทยหลุดลุ่ย

ประเมินจากสองสามเรื่องนี้ ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้เกิดภาวะเลือดไหลออกจากพลังประชารัฐไม่หยุด มีทั้งไหลไปรวมไทยสร้างชาติ ไหลไปภูมิใจไทย ไหลไปประชาธิปัตย์อย่าง “มาดามเดียร์”

หรือล่าสุด ที่ส่งผลสะเทือนหนักที่สุดคือไหลไปที่บ้านเก่าคือ “เพื่อไทย”

และยิ่งกลุ่มบ้านใหญ่ไหลไปเพื่อไทยมากเท่าไร ก็ยิ่งไปเพิ่มแรงดึงดูดให้พรรคเพื่อไทย

เพราะยิ่งตอกย้ำว่าพรรคนี้มีโอกาสได้เป็นรัฐบาลสูงสุด คนก็ยิ่งอยากไหลเข้ามาอย่างช่วยไม่ได้

มองจากปัจจัยนี้ พรรคพลังประชารัฐสำหรับฉันเป็นพรรคที่ตอนนี้เป็นพรรคที่ออกจะอาภัพ

 

หันมาดูพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคคือภูมิใจไทย

เป็นพรรคที่เขาว่ากันว่ามั่งคั่งยั่งยืน เป็นพรรคที่เลือกอยู่ใน comfort zone ประคองตัวมาได้เป็นอย่างดีในการรักษาความสัมพันธ์กับทั้งประวิตร ประยุทธ์

เรียกได้ว่าได้แสดงความสมยอมต่อการเป็น “ผู้น้อย” ต่อประยุทธ์และประวิตรจนเป็นที่ประจักษ์

ความนิยมในพื้นที่ที่พรรคปักธงไว้ก็ยังมั่นคง ไม่มีใครมาโค่นได้ เรื่องโควิด อนุทิน ชาญวีรกูล ก็รอด เพราะคนโทษประยุทธ์ที่ดันไปตั้ง ศบค. แล้วตัวเองนั่งหัวโต๊ะดูแลเองจนเละ เมื่อมั่งคั่งยั่งยืนขนาดนี้ ในโค้งแรกก่อนการยุบสภา พรรคภูมิใจจึงเนื้อหอมที่สุด ส.ส. นักการเมืองจากทุกสารทิศอยากย้ายบ้านไปอยู่ภูมิใจไทยแม้แต่ ส.ส.เพื่อไทยหลายคนก็อยู่ในสถานะฝากเลี้ยงของภูมิใจไทยหลายคน

แต่พอใกล้ยุบสภาจริงๆ ภูมิใจไทยกลับเจอศึกหนัก

ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอย่างประชาธิปัตย์ที่เห็นว่าภูมิใจไทยต้องเป็นมารคอหอยของประชาธิปัตย์ในภาคใต้แน่นอน จึงตีรวนเรื่อง พ.ร.บ.กัญชา และใช้เรื่องนโยบายกัญชาโจมตีภูมิใจไทยจนทำให้ พ.ร.บ.กัญชาไม่ผ่าน

และภูมิใจไทยก็ใส่โทษว่า เป็นต้นเหตุแห่งความคลุมเครือทางกฎหมายเรื่องการใช้กัญชาจนเกิดปัญหานานัปการ แทนที่ภูมิใจไทยจะได้ใช้เรื่องกัญชามาหาเสียงในฐานะที่เป็นผลงาน

ไม่เพียงเท่านั้นยังโดนเกมนอกสภา จากคนแบบชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เล่นงาน ดิสเครดิตไม่หยุดหย่อน เรียกโดนหนักจนตัดพ้อได้ว่าถูก subotage หรือถูกจองล้างจองผลาญอย่างเป็นระบบ

ก็น่าสนใจว่าภูมิใจไทยจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

 

สุดท้ายมาดูสุขภาพของพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องดูยาวมาตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน พรรคไทยรักไทยคือผลผลิตที่ไม่ได้ตั้งใจของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพผ่านการคุมเสียงข้างมากในสภาอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและใช้กลไกองค์กรอิสระคุมรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากอีกที

จากเสถียรภาพและอำนาจที่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ทำให้พรรคไทยรักไทยมีนโยบายที่เปลี่ยนโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจของประเทศอย่างชนิดที่ฉันเรียกว่า แรดิคัล ในแบบที่ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ได้ตั้งใจจะแรดิคัล เพราะตัวเขาเองมีอุดมการณ์ “ไทย” ตามขนบมากถึงมากที่สุด

นั่นคือเป็นนโยบายที่ฉันขอรวบรัดเรียกว่าเปลี่ยนสำนึกคนไทยแบบไพร่ไปเป็นพลเมือง

แต่ขอหมายเหตุว่าในยุคไทยรักไทยนั้นยังเป็นพลเมืองแบบ “ขวา” ในทางวัฒนธรรมทุกมิติ

และเพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจดั้งเดิม จึงทำให้ถูกรัฐประหาร ยุบพรรค ลุกขึ้นมาสู้ใหม่เป็นพลังประชาชนก็ไม่รอด

และจากตรงนี้ทำให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่เดินสองขาไปกับขบวนการต่อสู้ทางการเมืองประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขบวนการหนึ่งของไทยคือ นปช.

จากพรรคที่มุ่งเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจจึงต้องมาขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองเชิงอุดมการณ์อย่างไม่ได้ตั้งใจอีก และจนมาเป็นเพื่อไทยที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งและถูกรัฐประหารอีกในปี 2557 จนถึงวันนี้ ก็น่าสนใจอีกว่าการเมืองอุดมการณ์เกิดภาวะกลับตาลปัตร

นั่นคือจากการที่ฝ่ายขวา อนุรักษนิยม อย่างหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม หมอเหรียญทอง แน่นหนา กลายเป็นวัฒนธรรม “ชายขอบ” ของการเมืองไทย กระแสประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลัก คำว่า “สลิ่ม” กลายเป็นคำน่ารังเกียจ เซเลบทุกสาขาของพันธมิตรได้ถึงแก่กาละและเวลาที่ร่วงหล่นกันถ้วนหน้า

การเป็นเสื้อแดงกลับกลายเป็นเกียรติภูมิจนหลายคนที่เคยเกลียดเสื้อแดงตอนนี้มาอ้างว่าตัวเองเป็นคนเสื้อแดงก็ยังมี

ในทางกลับกันกระแสที่เคยเป็นเรื่องกระซิบกระซาบ วันนี้กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า ปัญญาชน ประชาธิปไตยที่แท้จริงที่สุดแท้จริงกว่าใครคือกระแสการปฏิรูปการเมืองที่ต้องปฏิรูป 112

และกลายเป็นจุดขายจุดแข็งกลายเป็นแบรนด์ที่แข่งแกร่งของพรรคก้าวไกล

อย่างน้อยในการรับรู้ของผู้สนับสนุนพรรค

และจากจุดนี้เองที่พรรคเพื่อไทยซึ่งครั้งหนึ่งถูกใส่ร้ายจากเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์จนถูกเกลียดชัง ถูกเอาไปใส่ใน “ผังล้มเจ้า” ในวันนี้ถูกฝ่าย “หัวก้าวหน้า” เรียกว่าพรรคสู้ไปกราบไป

หากจะเช็กสุขภาพของเพื่อไทยวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายได้เป็นระบบที่สุด ฟังแล้วเห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลง ซ่อมแซมประเทศนั้น ถ้าทำเป็นก็ทำได้แม้จะยากและใช้เวลา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพรรคที่ได้คะแนนิยมสูงสุดของโพลทุกสำนัก และกระแสแลนด์สไลด์มาแรงจริงๆ

ความน่าสนใจของพรรคเพื่อไทยปี 2566 ที่ต้องบันทึกไว้คือ

พรรคไทยรักไทยเป็นประชาธิปไตยเน้นเศรษฐกิจเสรีนิยมแต่มีความอนุรักษนิยม ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม เป็น populism แบบ right wing

แต่เพื่อไทยปี 2566 คงผ่านการทำการบ้านและรู้ว่านี่คือจุดอ่อนของพรรค ทำให้เพื่อไทยเวอร์ชั่น 2566 เป็นพรรคการเมืองที่สมาทานแนวคิดลิเบอรัลทางวัฒนธรรมอย่างเต็มตัว

จากชาตินิยม ท้องถิ่นนิยมสู่ความเป็นพลเมืองโลก เปลี่ยนแกนคิดเรื่องเพศวิถีใหม่ทั้งหมด เรียกได้ว่าเปลี่ยนภาษาพูดเชิงวัฒนธรรมเข้าสู่ความเป็น “สากล”

และเติมความเป็นสังคมนิยมในแง่ของรัฐสวัสดิการลงไปในนโยบายเศรษฐกิจ ไม่เป็นนีโอลิเบอรัลจ๋าแบบไทยรักไทย

 

เมื่อมาแรงขนาดนี้จึงเป็นเป้าของการโจมตี ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาและพรรคเพื่อไทยก็ต้องรับมือไป

แต่ความน่าสนใจคือ เพื่อไทยเป็นแซนด์วิชที่โดนโจมตีจากทั้งฝ่ายหัวก้าวหน้าประชาธิปไตยจ๋า และจากสลิ่มที่เคยชุมนุมไล่ทักษิณในอดีต

ความน่าสนใจที่มากที่สุด ทั้งฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตยจ๋าโจมตีเพื่อไทยว่า ทำทุกอย่างเพื่อเอาทักษิณกลับบ้าน เหมือนกันเปี๊ยบกับสลิ่มพันธมิตรกับปัญญาชนสองไม่เอาในอดีต

ตรวจสุขภาพล่าสุดของพรรคเพื่อไทย ยังคงถูกโจมตีใส่ร้ายเรื่องเดิมๆ คือ เกี้ยเซี้ย เป็น political dynasty

ถ่ายโอนอำนาจการเมืองในตระกูล พรรคบ้านใหญ่ ไร้อุดมการณ์

หนักถึงขั้นว่าหลอกใช้คนเสื้อแดงไปสู้ไปตายแทน ทั้งจากสลิ่มเก่าและกลุ่มคนที่ฉันเรียกว่า “สลิ่มเฟสสอง”

เพราะแปลกใจว่า สองกลุ่มนี้ช่างมีอะไรที่เหมือนกันอย่างเหลือเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทักษิณโฟเบีย

และทั้งหมดนี้หากพูดภาษาละครก็ต้องบอกว่า “อย่ากะพริบตา ทุกอย่างมันเพิ่งจะเริ่มต้น”