ต่างประเทศ : จับตาเลือกตั้งอิตาลี “ประชานิยม” ปะทะ “ประชานิยม”

หลังประชาชนชาว “อิตาลี” ต้องผิดหวังกับฟุตบอลทีมชาติ ที่ไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซียในปีหน้าได้

ในช่วงเวลาที่หลายประเทศจับตาการแข่งขันฟุตบอลโลกในช่วงกลางปี 2018 ประชาชนแดนมะกะโรนีคงจะต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตัวแทนประชาชนขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่ง “มีหนี้จำนวนมหาศาล” ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน

การเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ ถูกมองว่าจะเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร หรือยูโรโซน

เมื่อตัวเลือกที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศอิตาลี ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของวิกฤตหนี้ยูโรโซนนั้นเต็มไปด้วยนโยบาย “ประชานิยม”

 

ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอิตาลีแทบทุกรายประกาศนโยบายในการเลือกตั้งทั้งการลดภาษีลง เพิ่มงบฯ ขาดดุลให้สูงขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย บางรายประกาศจะนำสกุลเงินอิตาเลียนลีร์ ที่เคยยกเลิกแล้วหันไปใช้สกุลเงินยูโรเมื่อปี 2002 กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง รวมไปถึงนโยบายประชานิยมจำนวนมาก

สำหรับหลายๆ คนที่ติดตามการเมืองอิตาลีอาจคิดว่าแนวนโยบายดังกล่าวนั้นเป็นของพรรคการเมืองสายต่อต้านอำนาจเก่าอย่าง “ไฟฟ์สตาร์มูฟเมนต์” พรรคการเมืองซึ่งมีคะแนนนำในโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่นโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองหลักๆ นั้นก็ยากที่จะหลุดพ้นจากคำว่า “ประชานิยม”

ปัจจุบันแม้เศรษฐกิจของอิตาลีจะเติบโตขึ้นรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 แต่นักการเมืองทุกกลุ่มของอิตาลีต่างแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะใช้ทรัพยากรพิเศษเพื่อจัดลดภาษีและใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น แทนที่จะจ่ายหนี้สินมูลค่ามหาศาลของประเทศที่ได้ชื่อว่ามีหนี้มากที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดาประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรรองจาก “กรีซ”

 

อิตาลีเป็นประเทศที่อยู่ศูนย์กลางของวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2011 และการเลือกตั้งครั้งนี้อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรอีกครั้งหากบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้

นายมัตเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี หัวหน้าพรรค “เดโมเครติกปาร์ตี้” หรือพีดี ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาประกาศนโยบาย ตัดลดภาษีเงินได้และภาษีนิติบุคคลลง 50,000 ล้านยูโร และเลือกที่จะไม่ทำตามสัญญาที่อิตาลีเคยให้เอาไว้ว่าจะสร้างสมดุลทางงบประมาณของประเทศ

เรนซีต้องการเพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณจากเป้าที่ตั้งเอาไว้ที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เปอร์เซ็นต์และคงเอาไว้ที่ระดับนี้ พร้อมกับประกาศว่าจะยื่นคำขาดกับสหภาพยุโรปเพื่อดำเนินการตามนโยบาย

ด้าน ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี 4 สมัย วัย 81 ปี จากพรรค “ฟอร์ซาอิตาเลีย” ประกาศนโยบายสกุลเงินคู่ขนาน โดยจะนำเงินสกุลลีร์กลับมาพิมพ์ใช้ในประเทศใหม่อีกครั้ง ขณะที่เงินสกุลยูโรจะใช้ในการค้าระหว่างประเทศ โดยแบร์ลุสโคนีระบุว่าจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยนโยบายดังกล่าวจะมาพร้อมกับนโยบายลดภาษีและเพิ่มเงินสวัสดิการให้กับคนยากจนอีกเท่าตัวด้วย

ขณะที่ มัตเตโอ ซัลวินี หัวหน้าพรรค “นอร์ธเทิร์นลีก” พรรคต่อต้านผู้อพยพที่เป็นพันธมิตรกับพรรคของแบร์ลุสโคนี ก็มีนโยบายสกุลเงินคู่ขนานและตัดลดรายได้จากภาษีลง 40,000 ล้านยูโร ด้วยการลดภาษีเงินได้และภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 23 และ 43 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ด้านไฟฟ์สตาร์ ของ “ลุยจิ ดิมาอิโอ” ประกาศเพิ่มเงินสวัสดิการคนยากจนจากเดือนละ 500 ยูโร เป็นเดือนละ 780 ยูโร พร้อมทั้งประกาศจะเจรจาให้อียูผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดที่มีต่ออิตาลีลง

ล่าสุดยังคงไม่มีพรรคการเมืองใดในอิตาลีที่หาเสียงในแนวทางเศรษฐกิจการเงินแบบ “รัดเข็มขัด” ที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับตลาดเงินหรือแม้แต่คณะกรรมาธิการยุโรปเลยแม้แต่พรรคเดียว

 

การได้รับความนิยมของแนวทาง “ประชานิยม” นั้นเป็นผลมาจากการกำหนดนโยบายของอียู ให้อิตาลีเข้มงวดทางการเงิน นโยบายซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจตกต่ำระหว่างปี 2008-2013 และจนถึงบัดนี้ก็ฟื้นตัวขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผลสำรวจความคิดเห็นจัดทำโดยรัฐสภายุโรปเมื่อเดือนก่อนพบว่ามีชาวอิตาลีเพียง 39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นว่าอิตาลีได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอียู นับว่าน้อยที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอียู 28 ประเทศ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุด พรรคไฟฟ์สตาร์มีคะแนนนำอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยพรรคพีดี อยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พรรคกลางขวาอย่างนอร์ธเทิร์นลีก และพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ของแบร์ลุสโคนี มีคะแนนอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน โดยหากคะแนนเป็นไปในแนวทางดังกล่าวก็จะเกิดสภาวะ “ฮังพาลีอาเมนต์” หรือไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในสภา

และจำเป็นที่จะต้องมีการเจรจาหาแนวร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลไม่มีเอกภาพอย่างที่ควรจะเป็น