เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : การปฏิรูปที่ “รัฐต้อง” กล้าปรับเปลี่ยน

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

งานปฏิรูปคืองานปรับเปลี่ยน หมายถึง ทั้งต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง

จำเพาะงานศิลปวัฒนธรรมนั้น ก็ต้องปฏิรูปไปตามพัฒนาการของสังคมตลอดเวลาด้วย มิฉะนั้น งานศิลปวัฒนธรรมนั่นแหละอาจเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาสังคมได้

เช่น วัฒนธรรมความเชื่อ แบบ “เถรส่องบาตร” ก่อให้เกิดการทำตามๆ กันโดยไม่คิดถึงสาเหตุจนกลายเป็นเครื่องมือของเหล่ามิจฉาชีพได้

กลับกัน การพัฒนาแบบตกเป็นเหยื่อสังคมบริโภคขาดการคำนึงถึงคุณค่าการผลิต ก่อให้เกิดค่านิยม “เสพสุข” ซึ่งที่สุดก็จะไหลไปตามกระแส “โลภาภิวัตน์” ดังเป็นกันอยู่ทั้งโลกเวลานี้

นี่ก็เพราะการพัฒนาที่ขาดรากฐานทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง กลายเป็นสังคมไร้ราก หรือรากลอย

ดังดูเหมือนที่สังคมไทยเรากำลังเป็นกันอยู่เวลานี้

 

จะปรับเปลี่ยนกันอย่างไร คือจะปฏิรูปงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างไรในสภาวะ “โลกวันนี้”

มีเหตุปัจจัยสามประการ ดังนี้

เหตุปัจจัยแรก ขึ้นอยู่กับสามส่วนสำคัญ คือ

เศรษฐกิจ สังคม การเมือง

เปรียบกับต้นไม้ สังคมคือลำต้น เศรษฐกิจเป็นราก การเมืองเป็นเรือนยอด คือ กิ่ง ก้าน สาขา ใบ

ศิลปวัฒนธรรมเป็นดอกผลของไม้ต้นนี้

นั่นคือ ศิลปวัฒนธรรมเป็นผลผลิตของสังคมโดยตรง

เทียบภาวะปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยไม่ได้ยืนอยู่บนรากของตัวเองเป็นหลัก พึ่งพิงต่างชาติเป็นหลัก ทั้งที่ทรัพยากรแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์เป็นของเรา แต่เราเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตหลัก ดังนั้น ด้านเศรษฐกิจเรากำลังกลายเป็นผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ผลิตจริง

จริงหรือไม่ก็จะได้เห็นกันอยู่

การเมืองไทย มันก็เป็นอยู่และเป็นไปคล้อยตามกระบวนเศรษฐกิจกระแสหลัก คืออิงกระแสต่างชาติเป็นหลักดังว่า

เพราะฉะนั้น สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมบริโภค

น่ากลัวคือ “บริโภค” ลูกเดียว

สื่อทั้งหลาย เอาแต่ “บ้าขาย” มอมเมาให้คนทั้งหลายตกเป็นเหยื่อที่เอาแต่ “บ้าซื้อ”

ดูจะเป็นกันทั้งโลก ยิ่งเจริญด้วยวิทยาการก็ยิ่งแต่งจริตโลภให้ดูทันสมัยขึ้น สมกระแส “โลภาภิวัตน์” นั่นเลย

ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นผลผลิตของสังคมเช่นนี้ เป็นอย่างไร
เห็นได้จากค่านิยมง่ายๆ นี่ไง…
ค่านิยมชาวบ้าน คือ “กลางวันเดินห้าง กลางคืนนั่งเฝ้าจอ นอนรอถูกหวย”
ค่านิยมนายทุนคือ “ร่วมมือทุนต่างชาติ…เงิน เงิน เงิน ฯ”
ค่านิยมนักการเมืองคือ “ได้ครองอำนาจรัฐ…ฯ”
ประชาชนคือชาวบ้าน เป็นเหยื่อสังคมบริโภคสมบูรณ์แบบตลอดกาล

ลูกหลานชาวบ้าน คือคนรุ่นใหม่เราเวลานี้เป็นอย่างไรน่ะหรือ ก็ “หมวย-ตี๋-หลี-ยุ่น-แหม่ม” นี่ไง

ค่านิยมนี้ลามมาถึงชื่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ห้างร้าน สินค้า ชื่อคน ชื่อสัตว์ ฯลฯ ต้องเป็นฝรั่งทั้งหมด กระทั่งตัวอักษรห้างร้านก็ต้องภาษาอังกฤษ หากจำจะต้องมีภาคไทยกำกับก็ต้องเป็นตัวรอง ตัวเล็กเข้าไว้แทบมองไม่เห็นเอาเลยแหละดี

ค่านิยมนั้นเป็นดัง “เปลือกนอก” ของศิลปวัฒนธรรม เมื่อเปลือกนอกเป็นอย่างนี้แล้ว เนื้อแท้หรือเนื้อในจะเป็นอย่างไร ก็ลองคิดดูเถิด

ที่สุด คือความ “กลวงเปล่า”

นึกออกไหม ไม้ลำต้นกลวงน่ะ นี่แหละคือลำต้นของไม้ ที่ชื่อสังคมไทยวันนี้ละ

เพราะฉะนั้น ผู้ตระหนักรู้ ผู้รู้สึก ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาครัฐ จึงต่างโหยหาความ “เป็นไทย” กันด้วยการ “รณรงค์” ไปตามจังหวะชีพจรของความรู้สึก

คือนึกได้ทีก็ทำที หาไม่ก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์นานามากระตุ้นสักทีก็ทำที หรือผู้มีบารมีสั่งก็กุลีกุจอเจี๊ยวจ๊าวกันที

เสร็จแล้วก็แล้วกัน

นี่คือสภาพการณ์ที่เป็นจริงของสภาพการณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในวันนี้


คงไม่ต้องย้ำอีกนะว่า ศิลปวัฒนธรรมนั้นเป็นทั้ง “จิตวิญญาณ และพลังของชาติ” …ย้ำอีกนี่แหละ

ทั้งหมดนี่เป็นเหตุปัจจัยแรกของความจำเป็นต้อง “ปฏิรูป” งานด้านศิลปวัฒนธรรม ด้วยการ “ปรับเปลี่ยน” “โครงสร้าง” หลัก คือ คำนึงถึงภาคส่วนสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นแนวนำ

ต่อประเด็นนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับล่า (รอประชามติ) มาตรา 57 “รัฐต้อง”

“(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ…ฯ”

ความข้างต้นนี่แหละที่บังคับให้ “รัฐต้อง” ดำเนินบริหารและจัดการ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายของรัฐหรือแห่งรัฐเป็นหลัก

คือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะทิศทางของไทยวันนี้ที่ควรมีเข็มมุ่งคือ

เศรษฐกิจไทย ต้องเป็น “ทุนสัมมา” คือ นำทุนมารับใช้สังคม ไม่ใช่เอาสังคมมารับใช้ทุน (สามานย์)

คือเศรษฐกิจ ต้องมุ่งเป็นทุนสัมมา ไม่ใช่ทุนสามานย์

การเมือง ต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้ คือประชาธิปไตยในความหมาย ที่หมายถึง

“อำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนส่วนใหญ่หรือส่วนรวมเป็นหลัก”

ผิดจากนี้ ย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตย

 

สังคมซึ่งเป็นผลผลิตของเศรษฐกิจและการเมือง ดังมีเข็มมุ่งที่ถูกต้องดังว่า ย่อมเป็นสังคมที่พัฒนาไปสู่สังคมที่มีอารยะเป็นเป้าหมายชัดเจนแน่นอน

จะเปรียบกับลำต้นของไม้ต้นนี้

แก่นของไม้ คือ หลักคิด ซึ่งเป็นหัวใจของทุกศาสนา

เนื้อไม้ คือ หลักปฏิบัติ ซึ่งเป็นตัวจริยธรรม

เปลือกไม้ คือ ค่านิยม

หากไม้ต้นนี้ตั้งอยู่บนรากดี เรือนยอดดี ลำต้นก็จะตระหง่าน แข็งแรง ให้ดอกออกผลสมบูรณ์งดงาม

วัฒนธรรมในส่วนนี้ ก็คือ ผลให้โอชะและเมล็ดพันธุ์สืบต่อต้นใหม่ได้ ศิลปะ นั้นคือ ดอกไม้ของไม้ต้นนี้ เป็นความดีงาม เป็นชัยชนะของแผ่นดิน และนี่คือ อลังการของแผ่นดิน

นี่แหละที่ “รัฐต้อง” ดำเนินการด้วยการตระหนักรู้