E-DUANG : สัมพันธ์ เชื่อมโยง ทางความคิด จากราษฎร 2563 สู่”มิสแกรนด์”

เวที”มิสแกรนด์”กำลังฉายสะท้อนถึงมิติใหม่ในทางความคิด ในทางการเมืองสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อเก่าต่อเวที”นางงาม”

สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อเก่าที่ว่าใน”ความสวย”ของผู้หญิงเป็นความสวยอันว่างเปล่า เพราะเป็นควาสวยในลักษณะอัน”ไร้สมอง”

นี่ไม่เพียงแต่เป็นภาพของ”นางงาม” ไม่ว่าบนเวทีประกวดนางสาวไทย บนเวทีประกวดนางงามวชิราวุธ บนเวทีประกวดนางงามจักรวาล ไทยแลนด์

การเสนอตัวเข้ามาของ”มิสแกรนด์”จึงเท่ากับเป็นการทะลายโครงกรอบเดิมของเวทีประกวด”นางงาม” และรวมถึงภาพการมองไปยัง”ผู้หญิง”โดยองค์รวมด้วย

ทันทีที่มี”มิสแกรนด์”ออกมาตั้งคำถามถึงความเสมอภาค ทันทีที่มี”มิสแกรนด์”ออกมาตั้งคำถามถึงการเลือกตั้ง และผลจากรัฐประหาร

อย่าว่าแต่สังคมทั่วไปเลยที่จะ”ช็อค” หากแม้กระทั่ง”นักการเมือง”ที่ได้รับเชิญไปอยู่บน”เวที”ก็รับไม่ได้

นี่ย่อมเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับกรณีของ”ราษฎร”

 

การสำแดงตัวตนของ”คนรุ่นใหม่”ผ่านเวทีของ”เยาวชนปลดแอก” ณ บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนกรกฎาคม 2563 คือจุดเริ่มอย่างสำคัญในทางความคิด ในทางการเมือง

พลันที่เวทีในลักษณะเดียวกันนี้ไปผลิตซ้ำผ่าน”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”ในเดือนสิงหาคม

แม้ว่าจะเป็นการย้ายพื้นที่จากบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประ ชาธิปไตยไปยังลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ต่อจากนั้นการชุมนุมเคลื่อนไหวก็เหมือน”โรคระบาด”

ตามมาด้วยปรากฏการณ์”ไบว์ขาว”อันเป็นเงาสะท้อนของนักเรียน ตามมาด้วยการย้ายจากถนนราชดำเนินไปยังแยกราชประสงค์ แยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ในที่สุดเมื่อถึงเดือนตุลาคม ขบวนการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ยกระดับขึ้นเป็น”คณะราษฎร 2563”ขึ้นอย่างเป็นจริง

 

จากเดือนกรกฎาคมมาถึงเดือนตุลาคม จากบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายังการประกาศ ณ ท้องสนามหลวง

จาก”ราษฎร 2563”ก็สะเทือนมาถึง”มิสแกรนด์ 2566”นี่คือการเคลื่อนไหวในทางความคิด นี่คือการแปรความคิดให้กลายเป็นพลังในทางการเมือง

เป็นหนึ่งใน”ดัชนี”ชี้วัดไปถึงผลแห่ง”การเลือกตั้ง”