“รงทอง” สมุนไพรที่ไทยส่งไปขายที่จีน-ยุโรป ตั้งแต่สมัยอยุธยา

กล่าวถึง รงทอง ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่ายางจากรงทองนำมาใช้เป็นทั้งยาและสีย้อมหรือระบายสี

เช่น รงทองใช้เขียนสมุดไทยดำ

แต่ยางจากเปลือกต้นรงทอง มี 2 ชนิด คือ รงทองสยาม (Siamese gamboge) และ รงทองอินเดีย (Indian gamboge) ซึ่งค้นอ่านย้อนหลังเกี่ยวกับรงทองสยามได้

รงทอง เป็นไม้ที่อยู่ในสกุล Garcinia หรือสกุลมังคุด ในโลกนี้มีรายงานทั้งหมด 403 ชนิด

ยางจากต้นรงทองในภาษาอังกฤษเรียกว่า กัมโบจ (Gamboge) หมายถึงสีเหลืองที่มีลักษณะค่อนข้างใส แต่เหลืองเข้มกว่าสีที่ได้จากหญ้าฝรั่นแต่ไม่เข้มเท่ากับเหลืองมาสตาด

กัมโบจ มาจากคำว่า กัมโบเจียม (Gambogium) ซึ่งมาจากภาษาละตินที่มีความหมายว่า “เม็ดสี” ซึ่งพัฒนามาจากคำว่า Cambodia

คำนี้ใช้เรียกชื่อสีนี้เป็นครั้งแรกในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1634 อาจเป็นไปได้ว่ามีคนจากอังกฤษนำเอายางรงทองจากกัมพูชาไปใช้เป็นแม่สีให้สีเหลือง จึงเรียกยางที่ให้สีเหลืองนี้ว่า แกมโบเจียม (Gambogium) ตามแหล่งที่มา และต่อมาเรียกเป็น กัมโบจ (Gamboge)

ในอดีตนิยมใช้ย้อมจีวรพระสงฆ์ในกลุ่มพระเถรวาท

และมีการใช้ในงานทางด้านวิทยาศาสตร์ โดย โรเบิร์ต บราวน์ ในปี ค.ศ.1827 ใช้ย้อมเกษรตัวผู้และศึกษาการเคลื่อนที่ของสสาร

ต่อมามีการนำมาใช้เป็นสีย้อมและใช้เป็นอุปกรณ์การศึกษาในด้านอื่นๆ

 

มีรายงานว่ามีการกรีดยางจากต้นรงทองในสกุล Garcinia ไม่น้อยกว่า 16 ชนิด แต่ที่ให้น้ำยางมีคุณภาพดีมีเพียง 4 ชนิด คือ

ชนิดที่ 1 Garcinia hanburyi Hook.f. ยางจากไทยและกัมพูชา ยางที่ได้นี้เรียกว่า รงทองสยามหรือปี่สยาม (Siamese Camboge หรือ Siam Pipe) ในประเทศไทยใช้ในตำรับยาแผนไทยและใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลืองทอง ไม้รงทองชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ในกัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม

ชนิดที่ 2 Garcinia cambogioides (Murray) Headland ยางจากอินเดียและศรีลังกา ยางที่ได้จากต้นรงทองชนิดนี้เรียกว่า รงทองอินเดีย (Indian Gamboge) มีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ในรัฐอัสสัมของอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา

ชนิดที่ 3 Garcinia acuminata Planch. & Triana มีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ในอัสสัม บังกลาเทศ หิมาลัยตะวันออก ไทย

ชนิดที่ 4 Garcinia heterandra Wall. ex Planch. & Triana ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่เฉพาะในเมียนมาเท่านั้น นิยมนำเอายางจากรงทองไปย้อมผ้า คนกะเหรี่ยงในเมียนมานำยางไปย้อมด้าย และหมอพื้นบ้านใช้ยางจากรงทองเป็นยารักษาโรคหลายชนิด

มีรายงานว่า ยางจากรงทองชนิดที่ 3 และ 4 มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่พม่าหรือเมียนมา แต่กลับไม่เรียกชื่อ รงทองพม่า (Burmese Gamboge) คาดว่าคุณภาพไม่ดีเท่า รงทองสยามและรงทองอินเดีย จึงไม่มีชื่อแข่งขันในตลาดโลกเหมือนกับรงทองสยามและรงทองอินเดีย

ประเทศไทยส่งรงทองไปขายที่จีนและในยุโรปเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

 

ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 28 ได้กล่าวไว้ว่า “ที่ใกล้สระนั้น มีชะเอมต้น ชะเอมเครือ กำยาน ประยงค์ เนรภูสี แห้วหมู่ สัตตบุษ สมุลแว้ง พิมเสน สามสิบ และกฤษณา เถากะไดลิง มีมากมาย บัวบก โกฐขาว กระทุ่มเลือด ต้นหนาด ขมิ้น แก้วหอม หรดาล คำคูน สมอพิเภก ไคร้เครือ พิมเสน และรางแดง”

เข้าใจว่าต้นหรดาล ในพระไตรปิฎกน่าจะหมายถึงรงทองอินเดีย เพราะการเก็บยางต้นรงทองนิยมใช้กระบอกไม้ไผ่รองเก็บเอาน้ำยางจากเปลือก เมื่อยางแข็งตัวก็จะแกะเอาไม้ไผ่ออก จึงได้แท่งยางรงทองซึ่งมีลักษณะเหมือนแท่งกำมะถันหรือหรดาล จึงคาดว่าในพระไตรปิฎกเรียกชื่อไม้ชนิดนี้ว่า ต้นหรดาล

รงทองอินเดีย มีชื่อสามัญว่า Indian Gamboge Tree มีชื่อวิทยาศาสตร์เดิมคือ Garcinia morella ต่อมานักพฤกษศาสตร์เปลี่ยนชื่อมาเป็น Garcinia cambogioides (Murray) Headland

เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นแบบพีระมิด ใบดกหนาทึบ สูงได้ถึง 18 เมตร

เปลือกเรียบสีน้ำตาลเข้ม กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม ไม่มีขน มีน้ำยางสีเหลืองสดจำนวนมาก

ใบเดี่ยว ดอกมีสีแดง ไม่มีก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ

ผลสด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร มี 4 เมล็ด

การกรีดยางต้องกรีดจากต้นที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไปจึงจะได้น้ำยางที่มากพอ

รงทองอินเดียมีการกระจายพันธุ์ในตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ศรีลังกา อัสสัมไปจนถึงบังกลาเทศ ออกดอกในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน รงทองอินเดียเป็นไม้ที่มีต้นตัวผู้และตัวเมียแยกจากกัน

ดังนั้น ถ้าต้องการปลูกเอาเมล็ดต้องดูสัดส่วนของต้นตัวผู้และตัวเมียในแปลงให้ดี

 

ผลของรงทองอินเดียกินได้เมื่อสุกเต็มที่ แต่ถ้ายังไม่สุกจัดจะมีรสเปรี้ยวมาก ส่วนใหญ่นำไปปรุงเป็นอาหารกินกับปลา หรือนำไปดองหรือทำเป็นผลไม้ตากแห้งก็ได้

ชาวอินเดียนิยมนำไปแต่งรสในอาหารให้มีรสเปรี้ยว กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในอินเดียนำผลไปต้มจะได้น้ำซุปที่มีสีดำข้นๆ สามารถเก็บเอาไว้ได้เป็นปีไม่มีบูดทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่สารกันบูด

นอกจากนี้ ยังนำไปฝานให้เป็นชิ้นบางๆ ผึ่งแดดให้แห้งเก็บไว้ใช้เป็นยาแก้บิด กระเพาะอักเสบ ศาสตร์อายุรเวทเชื่อว่ามีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ น้ำมันที่คั้นได้จากเมล็ดก็มีสีเหลืองสามารถใช้แทนเนยใส (ghee) ของอินเดียได้

ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ยางจากรงทองอินเดียที่ได้จากเปลือก กิ่งก้าน และผล ในอินเดียใช้เป็นยาถ่ายพยาธิและขับปัสสาวะ ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก และเป็นยาขับระดู ใช้ทำยาขี้ผึ้ง และมีงานวิจัยจากอินเดีย ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2022

แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากรงทองมีฤทธิ์ในการทำลายโคโรนาไวรัส-19 ได้ด้วย

ปัจจุบันการใช้สีมาจากสีสังเคราะห์ทางเคมี สีธรรมชาติลดความสำคัญลงไปมาก หากหันกลับมาส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์สีและประโยชน์อื่นๆ จากรงทองน่าจะดี

ในเวลานี้ประชากรต้นรงทองในไทยลดลงอย่างมาก ถ้าไม่รีบส่งเสริมและอนุรักษ์สายพันธุ์รงทองไว้ต่อไป สีเหลืองรงทองและไม้มงคลชนิดหนึ่งของไทยอาจสูญพันธุ์ได้ •