“เจ้าอนุวงศ์” ถูกขังประจานกลางพระนคร ตายแล้วยังเอาศพไปเสียบประจาน

ญาดา อารัมภีร

เมืองไทยในอดีต ผู้ที่ถูกประจานครบถ้วนทั้งพูดประจาน ตัดหัวเสียบประจาน และพาตระเวนประจานทั่วเมืองมีไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เจ้าอนุวงศ์ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3” ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกว่า

“เจ้าพระยาราชสุภาวดี จึ่งให้พระอนุรักษโยธา พระโยธาสงคราม หลวงเทเพนทร์ พระนครเจ้าเมืองขอนแก่น ราชวงศ์เมืองชนบท กับไพร่ 300 คนคุมตัวอนุกับครอบครัวลงมาส่งถึงเมืองสระบุรี พระยาพิไชยวารีขึ้นไปตั้งรับครอบครัวและส่งเสบียงอยู่ที่นั้น ก็ทำกรงใส่อนุตั้งประจานไว้กลางเรือ ให้พระอนุรักษโยธา พระโยธาสงครามตระเวนลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเดือน 2 ขึ้น 11 ค่ำ โปรดให้จำไว้ทิมแปดตำรวจ บุตรหลานผู้หญิงและภรรยาน้อยนั้นก็ส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น

แล้วรับสั่งให้ทำที่ประจานลงที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับใส่อนุ มีรั้วตารางล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีกรงเหล็กน้อยๆ สำหรับใส่บุตรหลานภรรยาอนุถึง 13 กรง

มีเครื่องกรรมกรณ์คือครก สาก สำหรับโขลก มีเบ็ดสำหรับเกี่ยวแขวน มีกระทะสำหรับต้ม มีขวานสำหรับผ่าอก มีเลื่อยสำหรับเลื่อยไว้ครบทุกสิ่ง แล้วตั้งขาหย่างเสียบเป็นเวลา

เช้าๆ ไขอนุกับอ้ายโยปาศัก 1 อ้ายโป้สุทธิสาร 1 อ้ายเต้ 1 … ฯลฯ … หลานอนุ 5 คน รวม 14 คน ออกมาขังไว้ในกรงจำครบแล้ว ให้นางคำปล้องซึ่งเป็นอัครเทพีถือพัดกาบหมาก เข้าไปนั่งปรนนิบัติอยู่ในกรง ให้นางเมียน้อยสาวๆ ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งลงมาอีกครั้งหลังนั้น แต่งตัวถือกะบายใส่ข้าวปลาอาหารออกไปเลี้ยงกันที่ประจาน ราษฎรชายหญิงทั้งในกรุงนอกกรุงพากันมาดูแน่นอัดไปทุกเวลามิได้ขาด ที่ลูกผัวญาติพี่น้องต้องเกณฑ์ไปทัพตายเสียครั้งนั้นก็มานั่งบ่นพรรณนาด่าแช่งทุกวัน

ครั้นเวลาบ่ายแดดร่มก็เอาบุตรหลานที่จับได้มาขึ้นขาหย่างเป็นแถวกันให้ร้องประจานโทษตัว เวลาจวนพลบก็เอาเข้ามาจำไว้ที่ทิมดังเก่า ทำดั่งนี้อยู่ได้ประมาณ 7 วัน 8 วัน พออนุป่วยเป็นโรคลงโลหิตก็ตาย โปรดให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่สำเหร่”

 

“รามวงศ์” ตัวละครในเรื่อง “สิงหไกรภพ” ต้องโทษประจานเช่นกันในสภาพที่ถูกจองจำพันธนาการด้วยโซ่ตรวนขื่อคาตามคำสั่งพระยักษ์กาลวาศ

“ประจานไว้ให้ระยำสมน้ำหน้า เอาขึ้นขาหย่างถ่างไว้กลางสนาม

พวกผู้คุมรุมฉุดว่าพูดลาม ฉวยโซ่ล่ามลากถูพระสู้ทน

เดินไม่ตรงองค์ซวนด้วยตรวนโซ่ อุตส่าห์โซเซย่างกลางถนน

ถึงประตูผู้คุมพวกกุมภณฑ์ ยกขึ้นบนขาหย่างนั่งยองๆ

ติดคาคองอมือใส่ขื่อเหล็ก สายโซ่เหล็กล่ามรั้งไว้ทั้งสอง

พวกตรวจตรัสพัศดีนั่งตีฆ้อง เสียงจองหง่องจองหง่องป่องป่องดัง”

รามวงศ์ต้องโทษหนัก นอกจากถูกจำครบหรือจำ 5 ประการ มีตรวนที่ข้อเท้า โซ่ล่ามคอ ใส่คาที่คอทับโซ่อีกที มือติดขื่อ ขึ้นขาหย่างประจาน ยังถูกนำไปตระเวนทั่วเมือง มีผู้คุมตีฆ้องนำทำให้บรรดายักษ์ทั้งนอกวังในวังพากันมาดูรามวงศ์

“พวกหญิงชายฝ่ายประชาบรรดายักษ์ มาดูนักโทษหนุ่มต้องคุมขัง

ทั้งยักษีที่สาวเป็นชาววัง มาคับคั่งพรั่งพรูดังดูงาน

เห็นรูปงามยามเศร้าเธอเหงาง่วง นางข้าหลวงต่างว่าน่าสงสาร

ซื้อส้มสูกลูกไม้มาให้ทาน พระกุมารมิได้รับด้วยอับอาย”

ในที่นี้ ‘ขาหย่าง-ขาหยั่ง’ เป็นเครื่องมือทรมานลงโทษประจานให้รู้ทั่วกัน หน้าตาอย่างไรนั้น “พจนานุกรมไทย” อธิบายว่า

“เป็นไม้สำหรับตั้ง ห้อยหรือแขวนสิ่งของ ทำด้วยไม้สามอันผูกปลายทางหนึ่งรวมกัน อีกปลายหนึ่งถ่างออก”

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระดำริใน “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” เล่ม 5 ว่า

“ขาหยั่งมาแต่ไม้ต่อขา…ของไทยกับของฝรั่งผิดกัน ของฝรั่งเห็นเขาเขียนเอาเบื้องบนผูกติดกับท้าวทีเดียว แต่ของไทยทำลูกดอยเสียบไว้เปนที่เหยียบ เหลือปลายไม้เปนที่ถือ การประจารนักโทษคงเอาอะไรพาดกับลูกดอยให้เปนที่นั่ง ไม้ขาหยั่งทีจะปักดิน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

สภาพของรามวงศ์บนขาหย่าง (ขาหยั่ง) เป็นดังนี้

“ต้องจองจำตรำตรากลำบากใจ อยู่บนไม้ขาหย่างทนร่างกาย

ถึงเจ็ดวันนั้นต้องยองๆ นั่ง เหลือกำลังดังอุระจะสลาย”

สภาพครือๆ กันกับพระมงกุฎในเรื่อง “รามเกียรติ์” ร่างกายอ่อนล้า แรงหมด ใจหดหู่

” เมื่อนั้น พระมงกุฎกันแสงเศร้าหมอง

อยู่บนขาหยั่งนั่งหย่องยอง เขาจำจองลำบากตรากตรำ”

สถานที่ใดที่ใช้ประจาน

ฉบับหน้ารู้ •