ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ ฟ้า พูลวรลักษณ์
หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๖๙)
๑
วันนี้ขอคุยถึงสี่สำนักนักคิดของจีน
๑ ขงจื้อ (551BC-479BC)
๒ เหลาจื้อ
๓ บั๊กจื้อ (470-391BC)
๔ สำนักนิตินิยม
๒
ทั้งสี่ท่านนี้ล้วนเกิดในยุคเดียวกัน คือยุคสมัยเลียดก๊ก (770BC-221BC) หรือสองพันกว่าปีก่อน พวกเขาแตกต่างกันมาก หากวิเคราะห์ลึกลงไป ทุกคนมีความย้อนแย้ง
๓
ขงจื้อ เป็นสุดยอดของครู เห็นได้ว่าเมื่อเขาตายลง เขามีลูกศิษย์มากมาย นับพันนับหมื่น เอาเฉพาะที่โดดเด่น มี ๗๒ คน ล้วนรักเคารพเขาดั่งพระเจ้า ที่เขาโด่งดังได้ เพราะลูกศิษย์ของเขาเทิดทูนเขา เขาไม่ใช่คนมีความคิดริเริ่มอะไร แต่ความเป็นอนุรักษ์ กลับทำให้เขาโดดเด่น มันธรรมดา แน่ชัด จนทำให้เขากลายเป็นยอดนักปราชญ์อันดับหนึ่งของจีน
๔
วันที่เขามีชีวิต ในฐานะนักการเมือง เขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร แต่ในแง่ครู เขาประสบความสำเร็จสูงสุด ครอบงำประเทศจีนยาวนาน และยังมีอิทธิพลต่อมาถึงปัจจุบัน และเขาเป็นคนจีนที่สุด เรียกได้ว่าคงอัตลักษณ์ของชาติจีนไว้
๕
หลักคิดของเขาง่ายๆ เพียงว่า สิ่งดีกว่าอยู่ในอดีต หมายถึงเมื่อวานดีกว่าวันนี้ วันนี้จะดีกว่าวันพรุ่งนี้ ดังนั้น การรักษาสิ่งที่มีอยู่ของเมื่อวาน ย่อมดีกว่า ดังนั้น เขาจึงสร้างภาพฝันของอดีต ทำให้มันกลายเป็นอุดมคติ ทั้งที่ในความเป็นจริง โลกแห่งอดีต คือโลกของระบบทาส แต่การจัดระเบียบนี้ก็มีข้อดี ทำให้สังคมของขงจื้อมีระเบียบแบบแผน เพราะโลกยุคโบราณ สิ่งที่น่าสะพรึงกลัว คือความไร้ระเบียบ ในขณะที่หลายดินแดนในโลกยุคนั้น ปั่นป่วนไม่สงบ แผ่นดินจีนกลับสงบ
๖
ความขัดแย้งทางชนชั้น คือหัวใจของความไม่สงบ แต่หลักคิดของขงจื้อ คือการเก็บทุกอย่างไว้คงเดิม เขาปกป้องชนชั้นปกครอง และถนอมชนชั้นล่าง ชนชั้นปกครองจึงชอบ เขาจึงได้แรงสนับสนุนจากฝ่ายรัฐ และได้แรงเฉื่อยของทั้งจักรวาลมาเป็นพลัง
๗
เหลาจื้อผู้นี้ มีคนกล่าวว่า ที่จริงในโลกนี้ ไม่เคยมีคนผู้นี้
๘
เนื่องจากในยุคนั้น ยังไม่ใช่ยุคประวัติศาสตร์ ข้อมูลทั้งหมดจึงเป็นแค่หมายเหตุ แต่เหลาจื้อนี้มีหนังสืออันโด่งดังหนึ่งเล่ม คือเต้าเต๋อจิง เขาไม่เคยมีลูกศิษย์ ไม่มีเรื่องราวในชีวิตให้ยืนยันตัวตน ตรงข้ามกับขงจื้อที่มีลูกศิษย์มากมาย แต่ตัวขงจื้อไม่เคยเขียนหนังสือเลย ถ้าในโลกนี้ไม่มีเหลาจื้อ แล้วใครที่เขียนเต้าเต๋อจิง เพราะหนังสือเล่มนี้มีความยาวห้าพันตัวอักษร มีอยู่จริง มีความลุ่มลึก น่าอ่าน มันยืนยันจิตวิญญาณของเขาอย่างชัดแจ้ง ใครที่ไหนจะสร้างความคิดได้ลึกซึ้งขนาดนี้ คนคนนั้นไม่ธรรมดาแน่
๙
แต่โลกสมัยใหม่ ก็มีข้อโต้แย้ง เชื่อว่าหนังสือเต้าเต๋อจิง เป็นเพียงผลงานรวบยอดของกลุ่มคนที่มีความคิดแบบเต๋า แต่ก็ต้องย้อนถามว่า แล้วกลุ่มคนเหล่านั้น เอาความรู้นี้มาจากไหน ใครเป็นครูของพวกเขา ตัวเหลาจื้ออาจเป็นเพียงบุคลาฐิษฐาน ไม่มีตัวตนอยู่จริง เขาจึงงดงามเป็นตำนาน คนจริงๆ จะต้องมีข้อติ แต่ตัวเขาไม่มี เพราะเขาไม่มีตัวตน ความน่ารักของขงจื้อคือ ขนาดลูกศิษย์เคารพเขาขนาดไหน แต่ตัวเขาก็มีข้อติมากมาย นี้คือความเป็นมนุษย์ของขงจื้อ ความไร้ข้อติของเหล่าจื้อ คือหลักธรรมของเต๋า
๑๐
ถ้าเหลาจื้อไม่มีตัวตนอยู่จริง ชาวเต๋าต้องมีอยู่จริง เพราะเต้าเต๋อจิงมีอยู่ และชาวเต๋าเหล่านั้น จะกี่คนก็ช่าง ก็ไม่ได้แตกต่างจากเหลาจื้อ ซึ่งคือคนที่ลึกซึ้ง และไม่มีตัวตน
๑๑
เต๋าเป็นปรัชญาที่สวยงาม เราถูกสอนมาอย่างนี้ แต่ในความเป็นจริง มันไม่ง่ายอย่างนั้น เต๋ามีข้อดีและข้อเสีย และวันนี้เราจะมาพูดถึงข้อเสีย
เต๋าไม่ควรเป็นศาสนา แต่แล้วเต๋าก็เป็นศาสนา
เต๋าไม่ควรเป็นลัทธิ แต่แล้วเต๋าก็เป็นลัทธิ
เต๋าทำให้คนรวยยิ่งรวย และคนจนยิ่งจน
ทำไปทำมา เต๋าทำให้ประชากรล้นโลก
๑๒
มีบางศาสนา ไม่ใช่ปรัชญา เช่น คริสต์ หากจะคิดในเชิงปรัชญา จะฝืดฝืนมากเลย ไปไม่ถูก แต่หากมองในเชิงศาสนา มันก็มีพลัง
แต่บางปรัชญา ไม่ใช่ศาสนา เช่น ปรัชญาเต๋า
วันใดที่มันเป็นศาสนา มันดูตลก คล้ายพวกสิบแปดมงกุฎ
เต๋าไม่ใช่ลัทธิ
แต่แล้วก็เกิดลัทธิหยินหยาง
แต่พอเป็นลัทธิหยินหยาง มันกลับไม่งามแล้ว
เพราะมันนำพาไปสู่ความเก่งกล้า ซึ่งตรงข้ามกับเต๋า เพราะเต๋าไม่เก่งกล้า
๑๓
หากใช้เต๋าในการปกครอง จะเกิดอะไรขึ้น สังเกตพบว่าเต๋ามีข้อเสีย
หนึ่ง คือ ในการปกครองแบบเต๋า คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น และคนจนจะยิ่งจนลง ในระยะยาว ความแตกต่างของคนรวยและคนจนจะยิ่งมาก
สอง คือ ในการปกครองแบบเต๋า ประชากรจะล้นโลก
รวยแบบเต๋า รวยล้นฟ้า จนแบบเต๋า จนติดดิน
และวันที่ประชากรล้นโลก เต๋าจะตายเองในพริบตา
ครอบครัวเต๋า จะมีลูกหลานเต็มบ้าน
การคุมกำเนิด ขัดแย้งกับหลักของเต๋า
๑๔
ฉันเคยเดินทางขึ้นเขา เจอหมู่บ้านชาวเขา ที่รักสงบ น่ารัก ยามเย็นเรานั่งคุยกัน ล้อมวงกินข้าว ฉันตกตะลึงในสิ่งหนึ่ง คือวิถีชีวิตของพวกเขา นับได้ว่าเป็นเต๋า เพราะเป็นการใช้ชีวิตตามธรรมชาติ น่ารัก ประหยัด เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม แต่ทว่า เป็นครอบครัวใหญ่มาก เขามีลูกสิบคน เพราะภาวะเต๋าคือรักเด็ก
และเต๋าคือความอุดมสมบูรณ์แห่งชีวิต
เด็กๆ เหล่านั้นจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนล้นโลก
๑๕
แสดงว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้คือสภาวะของเต๋า มันคือน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
หากจะสกัดกั้นปรากฏการณ์ร้ายแรงนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการมาขัดขวาง จำเป็นต้องมีกฎหมายมาหยุดเต๋า
กฎหมายเหล่านี้ จึงเป็นแอนตี้เต๋า
๑๖
แสดงว่าเต๋ามีประโยชน์สูงสุด ในยามที่โลกนี้ประชากรน้อย ยากจน เช่น วันที่โลกนี้ตกอยู่ในสภาพหลังภัยพิบัติใหญ่ จนเหลือประชากรบนโลกไม่เพียงพอ อ่อนแอ
เต๋าสามารถชุบชีวิต ขยายพันธุ์ ดั่งแผ่นดินที่แห้งแล้ง บัดนี้ได้กำเนิดชีวิตใหม่ขึ้น และปล่อยให้มันเจริญเติบโตด้วยตัวมันเอง นี้คือเต๋า
มีบางยุค โลกตกอยู่ในสภาพเช่นนี้จริงๆ ดังนั้น เต๋าจึงมีประโยชน์
แต่ไม่ทุกยุค และอย่าลืม โลกนี้มีทรัพยากรจำกัด มองเผินๆ เหมือนโลกนี้เป็นทิพย์ แต่นั่นเป็นภาพลวงตา
๑๗
บั๊กจื้อ คนนี้คือพระเยซูของจีน เป็นคนสอนเรื่องความรัก สันติภาพ และการประหยัด มัธยัสถ์ เขาต่างกับขงจื้อมาก ทั้งที่เขาก็เป็นยอดครูคนหนึ่ง มีลูกศิษย์มากมาย ลูกศิษย์ของขงจื้อยกย่องเทิดทูนขงจื้อดั่งพระเจ้า แต่ลูกศิษย์ของบั๊กจื้อ เทิดทูนลัทธิของบั๊กจื้อ ไม่สนใจตัวเขา ดังนั้น สำนักของบั๊กจื้อ จึงเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ มันเป็นลัทธิ
๑๘
บั๊กจื้อ เป็นคนสอนเรื่องภราดรภาพ มาช้านาน มันเป็น Ideal ของเขา ที่ยากจะเป็นจริง ยิ่งในยุคโบราณ Ideal ของภราดรภาพ ทำยากยิ่งกว่ายุคนี้ มองในวันนี้ เขาเป็นคนทันสมัย คำถามของเขาแม้ในวันนี้ก็ยังเป็นคำถาม เช่น ทำไมฆ่าคนตายหนึ่งคนในถนน เป็นฆาตกรรม แต่ฆ่าคนตายหมื่นคนในสนามรบ กลับกลายเป็นวีรบุรุษ ทำไมแย่งชิงไก่หนึ่งตัว เป็นขโมย แต่การยึดครองเอาทั้งแผ่นดิน กลับเป็นเจ้า ทำไมชาวบ้านยอมอดอยาก เพื่อให้คนกลุ่มน้อยไม่กี่คนใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา เช่น ระบบฮ่องเต้
๑๙
จะเห็นว่า เขาตรงข้ามกับลัทธิขงจื้อ สมเหตุสมผลกว่า จริงกว่า แต่กระนั้น ความย้อนแย้งอย่างที่สุดก็เกิดขึ้น ลัทธิขงจื้อกลับปฏิบัติได้มากกว่า ในเมืองจีน พรรคขงจื้อกลับได้เป็นรัฐบาลนับครั้งไม่ถ้วน ในขณะที่พรรคบั๊กจื้อได้แต่เป็นฝ่ายค้าน บางยุคแทบไม่มีเสียงเลย แพ้ราบคาบ ทำไมเป็นเช่นนั้น ทำไมความเป็นปฏิบัติของขงจื้อเหนือกว่ามาก ทั้งที่มันผิดเห็นๆ มากมายหลายประการ ทำไมสิ่งเก่าแก่นี้กลับดำรงอยู่ แข็งแกร่งเกินต้านทาน ฉันตกตะลึง ความเฉื่อยของจักรวาลนี้ ร้ายกาจเหลือแสน
๒๐
บั๊กจื้อยกย่องสันติภาพ แต่ไม่ต่อต้านสงคราม เขาเป็นเหมือนพระธุดงค์ ทรหด เข้มแข็ง ในสงคราม เขาจะเป็นฝ่ายตั้งรับ และเขารับได้ดีเลิศ ในแง่หนึ่งเขาเป็นฝ่ายสันติ เพราะเขาจะไม่รุกใครทั้งงั้น แต่หากมีศัตรูมารุกเขา เขาก็พร้อมจะต่อสู้ และเอาชนะได้ด้วยการตั้งรับเป็น นี้คือความแปลกของลัทธิบั๊กจื้อ
บั๊กจื้อ จึงเป็นนิวเคลียสของนาโต
มองไปมองมา บั๊กจื้อนี้ ทันสมัยเหลือเกิน
๒๑
ลัทธิใดที่ยกย่องสันติภาพ แต่หวาดหวั่นที่จะพูดถึงสงคราม ฉันว่าไม่สมจริง นี้จึงเป็นความน่าชมเชยของลัทธิบั๊กจื้อ
ในสี่ยอดนักคิดนี้ เขาคือนักรบที่สุด เกิดก่อนกาล
๒๒
สํานักนิตินิยม ไม่มีเจ้าสำนัก แต่เราก็อาจอนุมานขึ้นมาได้หนึ่งคน เช่น หลีคุ้ย
หลีคุ้ย คนนี้เป็นนักการเมืองจากแคว้นจิ้น ชีวิตของเขาไม่สำคัญ ที่สำคัญคือกฎหมายของเขา เขาเป็นเพียงตัวแทนของสำนักนี้ ถูกเรียกเพื่อความสะดวก ในสมัยโบราณ นักคิดฝ่ายนิติรัฐมีโดดเด่นหลายคน เขาเป็นคนแรกๆ กฎหมายคล้ายจะเป็นรองปรัชญา ด้วยเพราะข้องแวะแต่กับเรื่องราวชีวิตประจำวัน มิหนำซ้ำ ยังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เหมือนบัญชีกระแสรายวัน แต่มองอีกมุมหนึ่ง มันลึกซึ้งยิ่งนัก และปฏิบัติได้จริง แคว้นไหนที่ใช้นิติรัฐ จะกลายเป็นมหาอำนาจในที่สุด น่าเสียดายที่นิติรัฐของจีนไม่ได้พูดถึงสิทธิมนุษยชน
และมหาอำนาจก็จะอยู่ได้แค่ชั่วคราว
๒๓
นิติรัฐ จะไม่มีอัตตา ไม่รู้จะไปยกย่องใคร นอกจากยกย่องกฎหมาย และกฎหมายเหล่านั้น ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย บางกฎหมายก็จมดิ่ง หมดยุค แต่บางกฎหมายใหม่ก็เกิดขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาใหม่
มองโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามความเป็นจริง ไม่เคยมียุคไหนที่ขาดนิติรัฐได้เลย พรรคนี้แข็งแกร่งยิ่งนัก เพียงแต่มันไม่ค่อยมีสีสัน มันเป็นสีเทาหรือสีดำ หากไม่มีนิติรัฐ ชาติจีนล่มสลายไปนานแล้ว ชาติจีนผสมผสานนิติรัฐกับลัทธิขงจื้อได้อย่างแยบยล จีนจึงมีรัฐบาลจากพรรคผสม จนกลายเป็นอาณาจักรหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในโลก ประเทศที่มีขนาดใหญ่เท่านี้ แล้วปกครองประชากรจำนวนมหึมาได้อย่างสงบสุขพอควรระดับนี้ โลกนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ต้องยอมรับความสำเร็จของพรรคผสมนี้
ทั้งสี่ความคิดนี้ จึงแตกต่าง และต่างมีดี ยากจะตัดสินได้ นี้คือพลังสี่สายที่มีมาช้านาน เป็นสี่แม่น้ำใหญ่แห่งแผ่นดินจีน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022