แผนที่ลมฟ้าอากาศยุคแรก | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
แผนผังลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันของอังกฤษ แสดงลักษณะลมฟ้าอากาศเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1961 เวลา 9am

เราเห็นแผนที่ลมฟ้าอากาศบ่อยๆ เวลาดูแอพพ์หรือฟังข่าวพยากรณ์อากาศจนทำให้รู้สึกคุ้นชิน แต่หากถามว่า แผนที่ลมฟ้าอากาศภาพแรกสุดคือภาพไหน? ใครเป็นคนคิด? คำตอบอาจจะช่วยให้ได้มุมมองใหม่ๆ ก็เป็นได้

หากยึดเกณฑ์ว่าแผนที่ดังกล่าวจะต้องเผยแพร่สู่สาธารณะในวงกว้าง ก็จะพบว่าแผนที่ลมฟ้าอากาศที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Times ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1875 เป็นแผนที่ลมฟ้าอากาศแรกสุด

แผนที่นี้แสดงลักษณะอากาศก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันที่ 31 มีนาคม และจัดทำโดย เซอร์ฟรานซิส กอลตัน (Sir Francis Galton) ชาวอังกฤษ

แผนที่ลมฟ้าอากาศของวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1875
เป็นแผนที่ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกของโลก

แผนที่ลมฟ้าอากาศภาพนี้แสดงข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศในสหราชอาณาจักรและพื้นที่บางส่วนของยุโรป ข้อมูลสำคัญที่ปรากฏ ได้แก่

– อุณหภูมิ แสดงด้วยตัวเลข มีหน่วยเป็นองศาฟาเรนไฮต์ เช่น ใกล้มุมขวาล่างของแผนที่แสดงอุณหภูมิ 50 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเท่ากับ 10 องศาเซลเซียส

– สภาพท้องฟ้า แสดงด้วยคำสั้นๆ เช่น Clear (ฟ้าใส) Cloudy (มีเมฆมาก) Overcast (เมฆเต็มท้องฟ้า) และ Rain (ฝนตก) เป็นต้น

– สภาพทะเล แสดงด้วยคำสั้นๆ เช่น Smooth (ทะเลเรียบ) และ Slight swell (ระดับน้ำสูงกว่าค่ำเฉลี่ยเล็กน้อย) เป็นต้น

– ทิศทางลม แสดงด้วยลูกศร

– เส้นความกดอากาศเท่า แสดงด้วยเส้นประ

เซอร์ฟรานซิส กอลตัน ในวัย 18 ปี ภาพวาดโดย อ็อกเตเวียส โอ๊กลีย์

แผนที่ลมฟ้าอากาศภาพประวัติศาสตร์นี้ได้รับการระบุว่าเป็น “The first weather chart” หรือ “แผนภาพลมฟ้าอากาศภาพแรก” ในหนังสือ Cosmic Imagery : Key Images in the History of Science ซึ่งเขียนโดย จอหน์ ดี แบร์โรว์ (John D. Barrow) แต่ก็อย่างที่ระบุเกณฑ์ไว้ตอนต้น คำว่า “ภาพแรก” นี้จริงๆ แล้วหมายถึง ภาพแผนที่ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างสู่สาธารณชนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์นั่นเอง

จากหลักฐานที่มีพบว่ากอลตันคิดวิธีการนำเสนอสภาพลมฟ้าอากาศด้วยแผนภาพมาก่อนหน้าแล้วอย่างน้อย 14 ปี กล่าวคือ ใน ค.ศ.1861 เขานำเสนอแผนภาพเรียกว่า แผนผังลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันของอังกฤษ (Synchronous Weather Chart of England) ซึ่งแสดงสภาพลมฟ้าอากาศของอังกฤษในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1861 เวลา 09.00 น.

น่ารู้ด้วยว่าเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถประมวลข้อมูลลมฟ้าอากาศจากสถานที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วคือ โทรเลข (telegraph) ซึ่งได้รับการประดิษฐ์ขึ้นใน ค.ศ.1837

เขายังตีพิมพ์หนังสือ ชื่อ Meteorographica หรือ Methods of Mapping the Weather ซึ่งนำเสนอแผนภาพแสดงลักษณะลมฟ้าอากาศของพื้นที่ส่วนใหญ่ในยุโรปในเดือนธันวาคม ค.ศ.1861 อีกด้วย

กอลตันเรียกวิธีการประมวลข้อมูลลมฟ้าอากาศจากสถานที่ต่างๆ ณ เวลาเดียวกัน มาไว้ในแผนภาพเดียวกันว่า มีทีโอโรกราฟี (Meteorography) อันเป็นวิธีการทำให้ความหมายของข้อมูลต่างๆ ปรากฏขึ้นจากความเชื่อมโยงกัน

เขาได้เสนอสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้ระบุหยาดน้ำฟ้าว่าเป็นฝนหรือหิมะ (หัวข้อ RAIN) ปริมาณเมฆในท้องฟ้า (หัวข้อ CLOUD) ทิศทางลม (หัวข้อ DIRECTION OF WIND) และความแรงของลม (หัวข้อ FORCE OF WIND)

การใช้สัญลักษณ์ของกอลตันนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง และอาจทำให้หลายๆ คนนึกถึงไอคอนของแอพพ์บนสมาร์ตโฟนเลยทีเดียว สัญลักษณ์เหล่านี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่มีการนำไปต่อยอด หรือดัดแปลง เช่น สัญลักษณ์หยาดน้ำฟ้าของกอลตันมี 2 อย่าง ได้แก่ ฝน (Rain) และ หิมะ (Snow) แต่ในปัจจุบันได้มีการเพิ่มหยาดน้ำฟ้าแบบอื่นๆ เข้าไป เช่น ลูกเห็บ (Hail) เป็นต้น

หรือสัญลักษณ์แสดงปริมาณเมฆซึ่งใช้สเกลออกตา (Okta scale) ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นวงกลมโดยที่ภายในมีลักษณะต่างๆ แทนปริมาณเมฆบนฟ้า หรือลักษณะแสดงว่าท้องฟ้าถูกบดบัง เช่น ถูกบังด้วยหมอกหนาที่พื้น

ใครสนใจกอลตันในมุมที่เขาเป็นนักอุตุนิยมวิทยา ขอแนะนำเรื่อง Francis Galton as Meteorologist ที่ https://galton.org/meteorologist.html ซึ่งมีไฟล์ pdf ของหนังสือ Meteorographica รวมทั้งผลงานอื่นๆ ของกอลตันให้ดาวน์โหลดด้วย

 

นอกเหนือจากคิดค้นวิธีการนำเสนอแล้ว กอลตันยังเป็นนักประดิษฐ์ เขาสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดและบันทึกข้อมูลลมฟ้าอากาศแบบอัตโนมัติ เช่น ทิศทางและความเร็วลม ความกดอากาศ ปริมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์ (ซึ่งคำนวณจากอุณหภูมิของเทอร์โมมิเตอร์แบบตุ้มแห้งและแบบตุ้มเปียกอีกที)

เขายังเป็นคนแรกที่เสนอทฤษฎีว่าด้วยแอนติไซโคลน (anticyclone) ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า บริเวณความกดอากาศสูง อีกด้วย

น่ารู้ไว้ด้วยว่า กอลตันเป็นคนมีความสามารถอย่างหลากหลายที่ฝรั่งเรียกว่า โพลิแมธ (polymath) ซึ่งผมขอแปลว่า อภิมหาพหูสูต ตัวอย่างเช่น

ในวิชาสถิติ เขาคิดเรื่อง สหสัมพันธ์ (correlation) และการถดถอย (regression)

ในวิชานิติวิทยาศาสตร์ เขาเสนอระบบการจำแนกลายนิ้วมือเพื่อระบุตัวบุคคล

ในวิชาชีววิทยา กอลตันผลักดันเรื่อง สุพันธุศาสตร์ (eugenics) รวมทั้งคำสุดฮิตที่ว่า “nature vs nurture”

ในวิชาจิตวิทยา เขาศึกษาซินเนสทีเซีย (synesthesia) และยังผสานสถิติเข้าไปในการวัดคุณลักษณะต่างๆ เกิดเป็นวิชาจิตมิติ (psychometrics) และเสนอสมมุติฐานศัพท์ (Lexical Hypothesis) ที่ว่าบุคลิกภาพแบบต่างๆ ในสังคมหนึ่งๆ จะถูกเก็บไว้ในภาษาที่สังคมนั้นใช้งาน ดังนั้น หากมองกลับกันคือ หากเราศึกษาภาษาที่สังคมหนึ่งๆ ใช้ เราก็จะสามารถเข้าใจลักษณะนิสัยของบุคคลในสังคมนั้นๆ ได้อย่างเป็นระบบ

หากเราได้ประโยชน์จากการพยากรณ์อากาศคราวหน้า อาจลองนึกขอบใจชายผู้หนึ่งที่ได้คิดวิธีการนำเสนอข้อมูลลมฟ้าอากาศอันซับซ้อนด้วยแผนภาพที่เรียบง่ายอันทรงพลัง ซึ่งจะยังคงเป็นเครื่องมือที่จะอยู่กับเราไปอีกนานครับ

Symbol-in-Galton-s_Weather_Chart
สัญลักษณ์ที่ใช้ในแผนภาพลมฟ้าอากาศของกอลตัน