อุษาวิถี (20) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (20)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

กลียุคที่เกิดขึ้นในห้วง “วสันตสาร์ท-รัฐศึก” นี้เป็นไปอย่างกว้างขวางและมากครั้ง

กล่าวเฉพาะในยุควสันตสาร์ทนั้น จดหมายเหตุวสันตสาร์ท (The Spring and Autumn Annals) อันเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้บันทึกว่า ระหว่าง ก.ค.ศ.722-481 หรือซึ่งคิดเป็นเวลา 241 ปี ได้เกิดสงครามรูปแบบต่างๆ และจำนวนครั้งของสงครามแต่ละรูปแบบ ดังนี้

สงครามรุกราน (เจิง, wars of invasion) เกิดขึ้น 61 ครั้ง, สงครามจู่โจม (ฝา, wars of attack) เกิดขึ้น 212 ครั้ง, สงครามประจัญบาน (จ้าน, wars of battles) เกิดขึ้น 23 ครั้ง, สงครามล้อมปราบ (เหว่ย, war of besiegements) เกิดขึ้น 44 ครั้ง, และสงครามบุกเข้ายึด (ญู่, war of entrances) เกิดขึ้น 27 ครั้ง

รวมรูปแบบสงครามทั้งหมดเท่ากับ 367 ครั้ง และจากเวลา 241 ปีนี้สงครามทั้งห้ารูปแบบนี้คิดเฉลี่ยแล้วจะเท่ากับเกิดสงครามในจีนช่วงนั้นปีละ 1.52 ครั้ง

แม้ผลพวงของสงครามในยุควสันตสาร์ท-รัฐศึก จะทำลายสังคมจีนจนอ่อนแอลงอย่างยากที่จะประเมินก็ตาม แต่ผลจากวิกฤตการณ์นี้ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองให้แก่สังคมจีนขณะนั้นได้อย่างชวนเร้าใจยิ่ง

เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะมีตามมาอีกครั้งหนึ่ง ดุจเดียวกับที่ราชวงศ์โจวได้เคยสร้างมาเมื่อก่อนหน้านี้ ปรากฏการณ์ที่ว่านี้อาจแยกได้ 2 ปรากฏการณ์สำคัญคือ

 

หนึ่ง การก้าวขึ้นมามีอิทธิพลของชนชั้นพ่อค้า ก่อนหน้านี้ชนชั้นพ่อค้าถือเป็นชนชั้นที่ต่ำสุดและไม่ถูกจัดอยู่ในชนชั้นหลัก แต่สงครามในยุควสันตสาร์ท-รัฐศึกนับว่ามีผลไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลงสถานะของชนชั้นนี้

กล่าวคือ กลียุคที่เกิดขึ้นได้ทำให้สังคมจีนเกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สาเหตุมาจากรัฐต่างๆ ที่ทำสงครามระหว่างกันต่างก็พากันคิดค้นอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้ตนได้เปรียบในสงคราม และเมื่อคิดค้นสำเร็จอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้นก็ถูกต่อยอดไปเป็นสินค้าสำหรับพลเรือน สินค้าเหล่านี้จึงทำให้การค้าเวลานั้นขยายตัวอย่างกว้างขวาง

กว้างขวางจนส่งผลให้เกิดการใช้เหรียญกษาปณ์ขึ้นมา ผลในส่วนนี้ได้ทำให้อาชีพพ่อค้าเกิดการขยายตัวออกไปด้วย

ผู้ที่ก้าวเข้ามาเป็นพ่อค้าส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าอยู่แต่เดิมที่เรียกว่า “ซาง” ที่เป็นคำเดียวกับชื่อราชวงศ์ซาง

ที่เรียกว่า ซาง ก็เพราะว่า เมื่อโจวโค่นล้มราชวงศ์ซางพร้อมกับตั้งราชวงศ์โจวของตนขึ้นนั้น ฝ่ายโจวได้ควบคุมวงศานุวงศ์ของซางมาอยู่ในความควบคุมในฐานะเชลยด้วย

ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนของโจวนั้น เชลยชาวซางเหล่านี้มิเป็นอันทำมาหากินใดๆ ได้แต่นำเอาสิ่งของมีค่าของตนที่ติดตัวมามาขาย เพื่อแลกกับข้าวของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตในดินแดนใหม่

ข้างชาวโจวเมื่อเห็นเช่นนั้นก็เรียกการขายสิ่งของของชาวซางว่า พฤติกรรมของชาวซางหรือแบบชาวซาง แต่นั้นมาพฤติกรรมการค้าการขายจึงถูกเรียกว่า ซาง

จากเหตุนี้ คำว่า ซาง จึงหมายถึง การค้าขาย และคงความหมายนี้มาจนทุกวันนี้

 

นอกจากพ่อค้าเดิมที่เกี่ยวพันกับราชวงศ์ซางแล้ว พ่อค้าอีกส่วนหนึ่งมาจากชาวนาและช่างหัตถกรรมที่ตกอับ เพราะพวกผู้ดีที่ตนสังกัดด้วยได้รับผลกระทบจากสงคราม คนเหล่านี้จึงหันมามีอาชีพค้าขายเพื่อความอยู่รอด

พ่อค้าเหล่านี้มีไม่น้อยที่ค้าขายจนร่ำรวยขึ้นมา ชั่วอยู่แต่ว่าเป็นความร่ำรวยอันเป็นผลมาจากสงครามเท่านั้น เหตุฉะนั้น มนุษย์ที่ร่ำรวยจากสงครามจึงใช่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หากแต่เกิดมาตั้งแต่นับพันปีก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นหนทางอันดีในการชักนำให้ชนชั้นพ่อค้าให้ก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง ทั้งที่ไม่มีความรู้หรือการศึกษาที่สูงส่ง ครั้นค้าขายร่ำรวยขึ้นก็ทำให้พวกผู้ดีจำนวนไม่น้อยที่ตกอับจากสงครามเช่นกัน ต้องหันมาพึ่งพาอาศัยชนชั้นพ่อค้า

ตอนที่มาพึ่งพานั้นเองพวกผู้ดีให้สัญญาว่าจะไม่เบียดเบียนพ่อค้าดังที่ผ่านมา ขอแต่เพียงให้พ่อค้าอย่าได้ไปทำการค้านอกรัฐของตน เพราะนั่นจะทำให้รัฐของตนจะสูญเสียรายได้ไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ พ่อค้าจำนวนไม่น้อยในยุคนี้จึงมีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองสูง และทำให้บางคนมีตำแหน่งทางการเมืองตามมาด้วย ถึงตอนนั้นพวกผู้ดีก็เหมือนกับล้มละลาย เพราะการเกษตรไม่ใช่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวที่ตนจะพึ่งพาอีกต่อไป

ส่วนที่ดินของตนที่เคยกว้างขวางก็ค่อยๆ หดหายไป เพราะต้องแบ่งให้กับลูกหลานในตระกูลที่เกิดมาในชั้นหลัง

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ความเสื่อมถอยได้เข้ามาเยือนชนชั้นผู้ดีอย่างที่แทบจะไม่ต่างกับชนชั้นกษัตริย์เลยแม้แต่น้อย

 

สอง การก้าวขึ้นมาของชนชั้นปราชญ์ ชนชั้นปราชญ์ถือเป็นผลผลิตจากยุควสันตสาร์ท-รัฐศึกเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ของชนชั้นพ่อค้าข้างต้น

กล่าวคือ เป็นชนชั้นที่มีส่วนผสมของพวกผู้ดีตกยากกับพวกที่ไม่ใช่ผู้ดีมาก่อน พวกหลังนี้คือ พวกชนชั้นล่างที่รวมเอาบรรดาชาวนาและช่างหัตถกรรมที่ได้รับผลจากกลียุคเข้าไปด้วย

การที่ส่วนผสมนี้สามารถเกิดขึ้นมาได้นั้น มีเหตุผลไม่ต่างไปจากกรณีของชนชั้นพ่อค้าเช่นกัน นั่นคือ ในภาวะที่เกิดกลียุคได้ทำให้ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อความอยู่รอด

ด้วยเหตุนี้ พวกผู้ดีที่เคยมีฐานะสูงส่งมาก่อนหน้านี้ก็ต้องลดตัวลงมาจนมีฐานะไม่ต่างกับชนชั้นล่าง แต่สิ่งที่มิได้สูญหายตามฐานะไปด้วยของพวกผู้ดีเหล่านี้ก็คือ ภูมิปัญญาความรู้และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ตนยึดถือมาแต่เดิม

ส่วนชนชั้นล่างซึ่งไร้การศึกษาเมื่อก่อนหน้านี้ก็ได้เรียนรู้จารีตขนบธรรมเนียม พร้อมทั้งความรู้ต่างๆ จากพวกผู้ดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะก่อนหน้านี้ความรู้ชั้นสูงถูกสงวนให้ชนชั้นผู้ดีเท่านั้น

ปรากฏการณ์นี้เองที่นำไปสู่การเกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา อันเป็นชนชั้นที่รวมเอาพวกผู้ดีตกยากและชนชั้นล่างเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นชนชั้นที่มีสองบุคลิกคือ บุคลิกของผู้ดีที่มีความรู้สูงกับบุคลิกของชนชั้นไพร่ที่เข้าใจวิถีชีวิตระดับรากหญ้าของสังคม

ชนชั้นนี้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า “ซื่อ” หรือชนชั้นปราชญ์