EVERYTHING EVERYWHERE ALL AT ONCE ‘กวาดออสการ์’

นพมาส แววหงส์

เรียกได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ของภาพยนตร์ก็ว่าได้

เพราะเพิ่งประกาศผลออสการ์ไปหมาดๆ และ Everything Everywhere All At Once กวาดรางวัลใหญ่ไปได้เกือบทั้งชุด

ไม่ว่าจะเป็นหนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม (แดเนียล เควัน และ แดเนียล ชไนเนิร์ต) นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (มิเชล โหย่ว) นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เค ฮุย ควาน) นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เจมี ลี เคอร์ติส) และบทดั้งเดิมยอดเยี่ยม

และต้องขอบอกว่าเป็นหนังที่มีเนื้อหาและรูปแบบแปลกใหม่ไร้เทียมทานจริงๆ

แต่ก็ไม่น่าจะถูกรสนิยมคนดูแบบไม่เลือกหน้านะคะ

มีเสียงบ่นของหลายคนที่ดูหนังแล้ว “ไม่เก็ต” ว่าความน่าปวดเศียรเวียนเกล้าของเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะสื่ออะไรก็ไม่ทราบได้

พูดง่ายๆ คือ ดูไม่รู้เรื่องนั่นเอง

ผู้เขียนยอมรับค่ะ ว่าดูหนังเรื่องนี้เหนื่อยมาก โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรมาก และยังไม่รู้จักตัวละครดี…ทั้งจากคอเมดี้แบบโฉ่งฉ่างชุลมุน จนสมองต้องทำงานหนักเพราะพยายามวิ่งตามเรื่องให้ทัน

อีกทั้งยังต้องกวาดสายตาเก็บรายละเอียดและองค์ประกอบมากมายเหลือคณานับที่ซับซ้อนเกินความเข้าใจระดับสามัญตามประสบการณ์ที่พบเห็นได้หรือจินตนาการได้ในโลกมนุษย์ที่สัมผัสได้ด้วยตาเพียงสามมิติของเรา

แค่คิดถึงเรื่อง “พหุจักรวาล” หรือ “มัลติเวิร์ส”

ซึ่งหมายถึงจักรวาลที่ทับซ้อนกันอยู่จำนวนมาก หรือจักรวาลคู่ขนานจำนวนมากของตัวเราและกลุ่มคนในชีวิตของเรา ซึ่งถูกสร้างให้ขนานกันไปจากทางเลือกต่างๆ ในชีวิต

…แค่นี้ก็มึนตึ้บจนไปต่อแทบไม่ถูกแล้ว

เรื่องราวของมัลติเวิร์สนี้ แฟนหนังน่าจะคุ้นกันดีพอควรอยู่แล้ว จากพหุจักรวาลของมาร์เวล ที่เป็นหนังรวบรวมดาวชาวซูเปอร์ฮีโร่จอมพลังทั้งหลายให้มาเจอกันโดยท่องไปในโลกมัลติเวิร์สสารพันรูปแบบที่มีหลายตัวตนของตัวละครใช้ชีวิตคู่ขนานที่แยกไปคนละทิศคนละทาง

แต่นั่นคือหนังที่เป็นแฟนตาซีล้วนๆ จะเรียกว่าเป็น “หนังการ์ตูน” ก็เรียกได้ เพราะมีต้นตอมาจากเรื่องราวและตัวละครในการ์ตูนคอมิก

หรืออาจจะคุ้นมาจากหนังไซไฟ เช่น Interstellar ซึ่งเล่าเรื่องราวซับซ้อน คล้ายจะ “เหนือจริง” หรือเป็นวิทยาศาสตร์ที่โลกเรายังไปไม่ถึง

แต่ EEAAO (ตัวย่อของชื่อหนัง ตามที่ใช้กันไปทั่ว เพราะขี้เกียจเขียนให้ยืดยาว) นี้ เป็นหนังที่ประมวลสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่น่าจะอยู่ในเรื่องเดียวกัน เข้าไว้ด้วยกันอย่างแหลมคม ช่างคิด และยังให้กำลังใจแก่มนุษย์ในโลกที่ดูเหมือนจะวุ่นวายไปหมด กับทุกสิ่งที่ประดังประเดเข้ามาจนรับไม่ทัน และไปต่อไม่ถูก

ที่สำคัญ หนังยังใช้ปรัชญาหนักสมองของนักคิดนักปรัชญาระดับเฮฟวี่เวต อย่างเช่น ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ปรัชญาสุญนิยม (Nihilism) ปรัชญาแอบเสิร์ด (Absurdism) ผสานไว้ในเนื้อหาอันจริงจังเกี่ยวกับชีวิต

ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยการนำเสนอในลักษณะชวนหัวและน่าขัน

เรื่องของเรื่องคือ เอฟลิน (มิเชล โหย่ว) เป็นหญิงวัยกลางคนเชื้อสายจีนที่มาตั้งรกรากในอเมริกา โดยเปิดร้านรับซักผ้าด้วยเครื่อง หรือ laundromat

เอฟลินเจอปัญหาสารพันรอบด้าน ทั้งลูกสาวชื่อจอย (สเตฟานี สู) ซึ่งมีแฟนเป็นสาวผิวขาว

ทั้งสามี เวย์มอนด์ (เค ฮุย ควาน) ผู้ยอมให้ภรรยาเป็นช้างเท้าหน้ามาตลอด แต่ขณะนั้นกำลังขอให้เธอเซ็นหนังสือหย่าให้

ทั้งพ่อของเธอ กงกง (เจมส์ ฮอง) ผู้จู้จี้ ที่มาอยู่ด้วยเพราะกำลังจะฉลองตรุษจีน

ที่สำคัญ เอฟลินกำลังโดนตรวจสอบจากสรรพากร เพราะยื่นภาษีผิดพลาด

เจ้าหน้าที่สรรพากรที่ตรวจสอบกิจการของเธอ คือ เดียเดร (เจมี ลี เคอร์ติส)

ในระหว่างที่เข็นรถพ่อที่นั่งรถเข็นไปกับสามี และอยู่กันตามลำพังในลิฟต์ สามีก็กลายร่างเป็นตัวตนของเขาในอีกจักรวาลหนึ่งที่เรียกว่า อัลฟาเวิร์ส ณ ที่ซึ่งเวย์มอนด์มีลักษณะนิสัยห้าวหาญก้าวร้าว แบบตรงข้ามกับตัวตนของเขาในโลกโดยสิ้นเชิง

อัลฟา-เวย์มอนด์ บอกให้เอฟลินหาทางช่วยพหุจักรวาลไว้โดยขัดขวางการเถลิงอำนาจของ “โจบุ ทูปากิ”…ซึ่งเป็นตัวตนของจอยในจักรวาลอื่น

จากนั้นก็ต่อสู้กันชุลมุนวุ่นวายกันไปหมด แบบไม่รู้ว่าใครเป็นตัวดี ใครเป็นตัวร้าย

ทุกคนในชีวิตของเอฟลิน ล้วนมีตัวตนอื่นแยกออกไปในนานาจักรวาลทั้งนั้น

แต่เนื่องจากแนวของหนังหนักไปในทางตลกโฉ่งฉ่าง การต่อสู้จึงเป็นกังฟูแบบหนังกำลังภายใน และการโดดข้ามจักรวาล หรือ verse-jump ก็ใช้องค์ประกอบชวนหัวเราะที่สุด

ที่ชวนขันเหลือเชื่อในทำนองต้องถอนใจส่ายหน้ากรอกตาและนึกในใจว่า “เอากะเค้าสิ” คือ การใช้เบเกิลหรือขนมปังรูปกลมมีรูตรงกลาง กุมความลับยิ่งใหญ่ของจักรวาลไว้ ประหนึ่งหลุมดำในการเคลื่อนย้ายสสารข้ามมิติไป

การเผชิญหน้าราวีต่อกรอย่างไม่ลดละของเอฟลินกับโจบุ ทูปากิ เป็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนของเธอกับลูกสาว ซึ่งจะคลี่คลายไปด้วยชั้นเชิงแบบเหนือชั้น

เอฟลินซึ่งไม่สามารถทำใจให้ตัดขาดจากลูกสาวได้ ค้นพบว่าต่อเมื่อเธอยอมปล่อยลูกสาวให้เดินไปตามทางของตัวเองแล้วนั่นแหละ เธอจึงได้ลูกสาวที่รักคืนมา ด้วยความรักความเข้าใจกันในที่สุด

และการค้นพบที่สำคัญของตัวละครในเรื่อง คือ ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่สลักสำคัญเลย (Nothing matters) ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ไม่สลักสำคัญ แต่ความย้อนแย้งในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า สิ่งที่เราทำนั้นมีความสำคัญ (ต่อคนรอบข้าง)

และคติพจน์ในใจของตัวละครที่ถูกมองว่าเป็นคนอ่อนขาดบุคลิกผู้นำ หรือบุคลิกแบบเบต้า คือ ต่อให้ชีวิตไร้ความหมาย แต่เราก็หาความหมายได้ด้วยการ “มีเมตตา” ต่อคนอื่น

เป็น “สาร” ที่ทรงพลังทีเดียวจากหนังเรื่องนี้ค่ะ

จุดแข็งของเอฟลิน ซึ่งทำให้เธอมีตัวตนคู่ขนานอยู่ในเวิร์สต่างๆ มากมาย ก็เพราะเธอมีจุดเปลี่ยนหักเหจากทางเลือกในชีวิตมากครั้ง เธอได้ข้ามภพไปเป็นตัวตนคู่ขนานที่ล้วนประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเธอทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นดารายอดนิยม นักร้องโซปราโน จอมยุทธ์ยอดฝีมือ ฯลฯ

ช่วงที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด เป็นช่วงที่เงียบงันที่สุดในหนัง นั่นคือ สองแม่ลูกไปอยู่ด้วยกันในโลกที่ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัย และอยู่ในรูปของหินก้อนใหญ่ที่ตั้งเคียงกันบนยอดเขา

เมื่อไม่มีปากพูด การสนทนาระหว่างหินทั้งสองก้อนก็ทำด้วยตัวหนังสือเขียนไว้ข้างตัว

และฉากนี้ชวนให้นึกถึงฉากในหนัง 2001 Space Odyssey ที่มีแท่งหินสี่เหลี่ยมตั้งอยู่กลางฉากหลังของพงไพรบนโลก

ดังที่กล่าวไว้แล้ว จากเสียงของคนหลายคนที่ลอยมาเข้าหู…ใช่ว่าทุกคนจะเทใจชมชอบหนังเรื่องนี้กันไปหมดนะคะ

และจากการกวาดรางวัลมากมายในหลายเวที ก็แปลว่าหนังมีอะไรดีอยู่ในตัวมากมาย

เห็นจะเป็นเรื่องของความชอบ ภูมิหลังและรสนิยมละค่ะ •

EVERYTHING EVERYWHERE ALL AT ONCE

กำกับการแสดง

Daniel Kewan & Daniel Scheinert

นำแสดง

Michelle Yeoh

Stephanie Hsu

Ke Huy Quan

James Hong

Jamie Lee Curtis

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์