ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (102) ถอดรหัส “3C+275”

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม

ขออนุญาตตั้งหัวเรื่องด้วยตัวเลขและตัวอักษรฝรั่ง

ที่มาที่ไปของชื่อนี้มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ประเมินสถานการณ์โลกร้อนจะเข้าสู่ระดับอุณหภูมิที่ 3.2 องศาเซลเซียส นั่นคือ “3C” ภายในปี 2643

ส่วนตัวเลข 275 นั้นมาจากนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ผลที่จะเกิดตามมา หากอุณหภูมิผิวโลกพุ่งทะลุไปถึง 3 องศาเซลเซียส ชาวโลกที่อยู่ริมฝั่งทะเล 275 ล้านคนจะเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำท่วม

ตัวเลข 3C และ 275 จึงถือว่าเป็นตัวเลขใหม่ที่ทางยูเอ็นนำมาเป็นประเด็นถกในที่ประชุมว่าด้วยโลกร้อนที่เมืองบอนน์ สหพันธรัฐเยอรมนี

รัฐบาลไทยส่งตัวแทนไปเข้าร่วมหารือด้วย

 

ก่อนหน้านี้ในการประชุมโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทั่วโลกร่วมกันเห็นชอบว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

แต่ล่าสุด นายอีริก โซลไฮม์ หัวหน้าสิ่งแวดล้อม แห่งยูเอ็น ออกมาเปิดประเด็นว่า ขณะนี้ชาวโลกกำลังก้าวเข้าไปสู่ยุคโลกร้อน 3C

ถอดรหัสของโซลไฮม์ ก็หมายถึงว่า ทุกประเทศล้มเหลวในการควบคุมการปล่อยก๊าซพิษ

ทั้งนี้ ดูจากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมแห่งสหประชาชาติระบุว่าเมื่อปีที่แล้วปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกพุ่งสูงถึง 393.1 ส่วนต่อล้านส่วน

เทียบกับหลายปีก่อน ชาวโลกปล่อยก๊าซพิษเพิ่มขึ้นถึง 2.2 ส่วนต่อล้านส่วน นับว่าเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีก

ระดับความปลอดภัยของปริมาณก๊าซพิษ ในชั้นบรรยากาศโลกไม่ควรเกิน 350 ส่วนต่อล้านส่วน แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลับไม่แยแสพากันปล่อยก๊าซพิษเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยังคาดระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกจะทะลุระดับ 400 ส่วนต่อล้านส่วนในระยะ 3 ปีข้างหน้า

โซลไฮม์บอกว่า ยูเอ็นกำลังหาทางแก้ปัญหาทำอย่างไรจึงจะปกป้องผู้คนนับร้อยล้านให้รอดพ้นจากหายนภัยที่เกิดขึ้นในอนาคต

 

เมื่อโลกร้อนขึ้น เมืองต่างๆ ที่อยู่ริมฝั่งทะเลทั่วโลกจะเจอความเสี่ยงกับภาวะน้ำท่วมใหญ่เนื่องจากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น น้ำขยายตัวมากขึ้น ผนวกกับก้อนน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ละลายอย่างรวดเร็ว

นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญเรื่องภูมิอากาศ ทำแผนภูมิจำลองพร้อมกับยกตัวอย่างเมืองที่จะได้รับผลกระทบหากอุณหภูมิผิวโลกทะลุไปที่ 3C ดังนี้

1. เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีประชาชนราว 5.2 ล้านคน ประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก

ปีนี้ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มเมืองต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างมากมาย

แต่ในอนาคต เมืองโอซาก้าซึ่งถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่นจะเจอวิกฤตการณ์เลวร้ายอันเป็นผลจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง คลื่นยักษ์ซัดชายฝั่ง บ้านเรือนที่อยู่ริมทะเลจะจมมิด ทรัพย์สินในเมืองโอซาก้า ประเมินกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีความเสี่ยงเกิดความเสียหายสูงมาก

ย้อนอดีต โอซาก้าเจอกับคลื่นยักษ์สึนามิ หลังมีแผ่นดินไหวรุนแรง

เวลานี้ผู้บริหารเมืองโอซาก้าต้องครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรชาวเมืองที่มีอยู่ราว 19 ล้านคนจึงรอดพ้นภัยที่มาจากภาวะโลกร้อน

ชาวญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นไปอยู่โอซาก้า มักคิดถึงเรื่องน้ำท่วมเป็นประเด็นแรก บางคนถ้าเช่าอพาร์ตเมนต์วางแผนเช่าสูงกว่าชั้น 4 เพราะเชื่อว่าน้ำท่วมไม่ถึง

2. เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ คาดว่าจะมีประชากร 3 ล้านคนได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง

ปัจจุบัน เมืองอเล็กซานเดรีย เจอกับระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงอยู่แล้ว ทางยูเอ็นเคยรวบรวมข้อมูลว่า น้ำทะเลบริเวณนี้เพิ่มสูงขึ้น 0.5 เมตร

ในอนาคต อุณหภูมิเพิ่มสูง 3C ถ้ายังไม่มีแผนเตรียมรับมือ ชาวเมืองอเล็กซานเดรียที่มีอยู่ราว 8 ล้านคนจะเจอน้ำท่วมหนัก ทั้งน้ำที่ไหลจากแม่น้ำไนล์และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงอย่างแน่นอน

3. เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล คาดมีเหยื่อน้ำท่วม 1.8 ล้านคน

ริโอ เดอ จาเนโร เป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังติดอันดับโลก มีหาดสวยๆ เช่น โคปาคาบานา ปัจจุบันชายหาดแห่งนี้เจอกับคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำอยู่บ่อยครั้ง

4. นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนราว 17.5 ล้านคน

นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์นครเซี่ยงไฮ้ว่ามีความเสี่ยงเจอน้ำท่วมใหญ่ จุดสำคัญๆ ของเมือง เช่น บันด์ รวมทั้งสนามบินนานาชาติ จะจมอยู่ใต้น้ำ

เมื่อปี 2555 รัฐบาลจีนวางแผนรับมือน้ำท่วมในเซี่ยงไฮ้ด้วยการสร้างระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ทางน้ำซูโจว ระยะทาง 15 กิโลเมตร มายังพื้นที่รับน้ำ 58 ตารางกิโลเมตร พร้อมกับสร้างระบบระบายน้ำ ระหว่างทะเลสาบไท่หูและแม่น้ำฮวงผู่ระยะทาง 120 กิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ใช้เงินมากถึง 40,000 ล้านหยวน

5. เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา คาดว่าชาวเมือง 2.7 ล้านคนได้รับผลกระทบ

ผู้บริหารเมืองไมอามี มีความพยายามวางแผนป้องกันน้ำท่วม เช่น สร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล ติดตั้งปั๊มสูบน้ำขนาดใหญ่แต่ก็เอาไม่อยู่ในทุกครั้งที่มีพายุพัดถล่ม

ปัญหาน้ำท่วมของเมืองไมอามีจึงกลายเป็นปรากฏการณ์ “ปกติ” ไปแล้ว

 

กลับมาพูดถึงเรื่องน้ำท่วมในบ้านเรามั่ง

ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม ถึงขณะนี้คาดว่ามีพื้นที่เสียหายสิ้นเชิงมูลค่ารวม 14,198.21 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ราว 3,648.01 ล้านบาท หรือ 0.04 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งประเทศ

จีดีพีภาคเกษตร ราว 0.59% สาขาพืชเสียหายมากสุด 3,593.17 ล้านบาท รองลงมา ประมง 53.47 ล้านบาท และปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท

ถ้าเมืองไทยเจอพิษ 3C ไม่รู้ว่าตัวเลขความเสียหายจะพุ่งเป็นเท่าไหร่?