สมรภูมิบัคมุต เดิมพัน ‘ยูเครน-รัสเซีย’ ที่ต่างถอยไม่ได้

(Photo by Aris Messinis / AFP)

เป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่บัคมุต เมืองอุตสาหกรรมเล็กๆ ในแคว้นโดเนตสค์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งเคยมีพลเมืองอาศัยอยู่ราว 70,000 คน ได้กลายร่างเป็นสมรภูมิสู้รบที่ยาวนานที่สุดและนองเลือดมากที่สุดระหว่างกองทัพยูเครนและกองกำลังรัสเซียอยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้าที่รัสเซียจะทำสงครามบุกยูเครน ผู้คนจากภายนอกแทบจะไม่รู้จักเมืองเล็กๆ แห่งนี้

แต่ตอนนี้ บัคมุตได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งและความอุตสาหะของยูเครนในการเผชิญการรุกรานโจมตีจากรัสเซีย

ตอนนี้ไม่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างใดแม้แต่เพียงหลังเดียวในบัคมุตที่ยืนระยะอยู่ได้โดยปราศจากร่องรอยของความเสียหายจากสงคราม

ผู้คนที่ยังคงหลงเหลืออาศัยอยู่เพียงไม่กี่พันคน ต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่หลบภัยใต้ดินอย่างหวาดผวาโดยไม่มีน้ำประปา แก๊ส หรือไฟฟ้า

บัคมุตกลายเป็นเพียงเมืองแห่งซากปรักหักพังและเต็มไปด้วยการนองเลือดที่โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวอ้างเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า เพียงไม่ถึงสัปดาห์นับจากวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ทหารยูเครนได้สังหารทหารศัตรูเฉพาะที่สมรภูมิบัคมุตแห่งเดียวไปได้แล้วมากกว่า 1,100 นาย และทำให้บาดเจ็บหนักอีกมากกว่า 1,500 นาย

ส่วนรัสเซียอ้างว่าใน 24 ชั่วโมง ได้สังหารทหารยูเครนที่บัคมุตไปได้กว่า 220 นาย

ขณะที่การข่าวของชาติตะวันตกประเมินว่ามีทหารรัสเซียที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บในการสู้รบกับทหารยูเครนในบัคมุตและพื้นที่โดยรอบไปแล้วราว 20,000-30,000 นาย

 

เหตุใดทั้งกองทัพยูเครนและรัสเซียต่างทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรที่มีอยู่หน้าตักในการต่อสู้เพื่อ “รักษา” หรือ “ยึด” เมืองบัคมุตเอาไว้เป็นของตนเอง ทั้งๆ ที่เมืองนี้เป็นเพียงเมืองอุตสาหกรรมเล็กๆ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นแหล่งเหมืองเกลือและแร่ยิปซัม และโรงกลั่นเหล้าองุ่น ไม่ได้เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากนักในก่อนหน้านี้ เช่น เป็นที่ตั้งกองทหาร หรือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของยูเครนแต่อย่างใด

แต่เวลานี้บัคมุตกลับมามีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ทั้งสำหรับรัสเซียและยูเครนไปแล้ว

สำหรับรัสเซียมีความกระหายชัยชนะอย่างยิ่งยวด หลังจากที่ไม่ได้สัมผัสมาเป็นเวลานานนับจากฤดูร้อนปีที่ผ่านมาเมื่อกองกำลังรัสเซียสามารถบุกยึดหลายเมืองในยูเครนไว้ได้อย่างเมืองเซเวโรโดเนตสค์ และเมืองลีซีชานสค์ แต่นับจากนั้นการรุกตีดินแดนยูเครนได้เพิ่มของรัสเซียก็แผ่วลงไป

ดังนั้น รัสเซียจึงต้องการบุกยึดบัคมุต ที่เป็นแนวรบสำคัญของทั้งสองฝ่ายอยู่ในเวลานี้ให้สำเร็จ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจและนำไปขายฝันสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่านักโฆษณาชวนเชื่อของเครมลินว่ายุทธวิธีที่ดำเนินอยู่นั้นมาถูกทาง

 

เซอร์ฮี คูซาน ประธานศูนย์ความมั่นคงและความร่วมมือของยูเครน บอกว่า กองกำลังรัสเซียกำลังต่อสู้เพื่อยึดบัคมุตด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่แค่ทางการทหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งรัสเซียจะยังคงต้องสังเวยชีวิตของไพร่พลไปอีกนับหลายพันชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองดังกล่าว

อย่างไรก็ดี การยึดบัคมุตก็ยังคงเป็นเป้าหมายทางทหารของเหล่าผู้บัญชาการในกองทัพรัสเซียที่หวังว่าการยึดบัคมุตได้ จะเปิดทางสู่การขยายการรุกคืบเข้ายึดพื้นที่อื่นของยูเครนได้เพิ่ม ดังที่กระทรวงกลาโหมอังกฤษให้ข้อสังเกตไว้ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาว่า การยึดบัคมุตได้อาจทำให้รัสเซียสามารถนำกำลังบุกตะลุยไปถึงเมืองใหญ่อย่างครามาตอร์สค์และสโลเวียนสค์ของยูเครนต่อไปได้

ขณะเดียวกัน บัคมุตยังมีความสำคัญกับกลุ่มวากเนอร์ กรุ๊ป องค์กรทหารรับจ้างที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของเยฟเกนี พรีโกชิน เศรษฐีนักธุรกิจชาวรัสเซียและเป็นคนสนิทของวลาดิมีร์ ปูติน ที่ยังเป็นหัวหอกสำคัญของรัสเซียในการสู้รบในยูเครน

โดยพรีโกชินได้เอาชื่อเสียงของตนเองและกลุ่มวากเนอร์เป็นเดิมพันในการยึดเมืองบัคมุต ด้วยหวังว่านักรบของเขาจะทำผลงานได้ดีกว่ากองกำลังรัสเซียในยูเครน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมบัญชาการของนายพลเซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ที่มีประเด็นงัดข้อกันอยู่

หากพรีโกชินทำผลงานไม่สำเร็จ ก็อาจทำให้อิทธิพลของเขาที่มีต่อเครมลินลดลง

บัคมุตจึงกำลังเป็นสนามประลองพละกำลังในการแข่งกันมีอิทธิพลต่อเครมลินระหว่างพรีโกชินกับนายพลชอยกู

 

ส่วนยูเครนนั้น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์หลักคือการใช้สมรภูมินี้ทำให้กองทัพรัสเซียอ่อนแอลง เนื่องจากยุทธวิธีของรัสเซียกำลังเปิดโอกาสให้ยูเครนเด็ดชีพทหารรัสเซียที่บัคมุตได้จำนวนมาก ข้อมูลของนาโตประเมินว่าทหารรัสเซียทุกๆ 5 นายถูกสังหารดับเมื่อเทียบต่อทหารยูเครน 1 นายที่เสียชีวิตที่บัคมุต

การมุ่งมั่นรักษาบัคมุตเอาไว้ของยูเครน ยังจะขัดขวางรัสเซียอีกทางไม่ให้สามารถเคลื่อนกำลังพลไปยังแนวรบอื่นได้ และเฉกเช่นเดียวกับรัสเซีย บัคมุตได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองของยูเครนเช่นกัน

โดยเซเลนสกีได้ทำให้บัคมุตเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านผู้รุกราน

เมื่อเขาไปเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เซเลนสกีเรียกขานบัคมุตว่าเป็น “ป้อมปราการแห่งขวัญกำลังใจ” ซึ่งการต่อสู้เพื่อบัคมุตจะเปลี่ยนวิถีของสงครามเพื่อเอกราชและเสรีภาพของยูเครน

จากนี้ไม่ว่าชะตากรรมของบัคมุตจะเป็นอย่างไร ย่อมมีผลในทางผกผันกันระหว่างคู่สงครามทั้งสองชาติ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป