‘มิเชล โหย่ว’ ความภาคภูมิใจของเอเชีย ฮ่องกง และมาเลเซีย

คนมองหนัง

“มิเชล โหย่ว” ดาราวัย 60 ปี สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียคนแรกสุด ที่คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์มาครอง จากผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Everything Everywhere All at Once” หนังไซไฟ-ตลก ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของตัวละครที่เป็นชาวไชนีสอเมริกัน

ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้เชื่อมร้อยอยู่กับหลายอัตลักษณ์

นอกจากความเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียแล้ว อัตลักษณ์หนึ่งที่คนทั่วไปอาจหลงลืมหรือไม่ทราบกันในวงกว้าง ก็คือ โหย่วเป็นชาวมาเลเซีย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “ความภาคภูมิใจของประเทศ” และมีคำนำหน้านามว่า “ตันศรี” เพราะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากสมเด็จพระราชาธิบดีเมื่อปี 2013

มิเชล โหย่ว ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1962 ในครอบครัวของคนมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองอิโปห์ทางตอนเหนือของประเทศ กระทั่งถึงปัจจุบัน ครอบครัวและคุณแม่ของเธอก็ยังพำนักอยู่ที่มาเลเซีย

จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่นายกรัฐมนตรี “อันวาร์ อิบราฮิม” จะออกมาโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ภายหลังความสำเร็จบนเวทีตุ๊กตาทองสหรัฐของโหย่วว่า

“ในการสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการไม่ได้เป็นเพียงแค่ชาวมาเลเซียคนแรก หากยังเป็นนักแสดงหญิงเอเชียคนแรกสุดที่เป็นผู้ชนะในสาขารางวัลนี้ พวกเรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จของโหย่ว ซึ่งเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความสำเร็จมากมายก่อนหน้านี้ และเส้นทางในวิชาชีพนักแสดงที่ได้รับการยกย่องชื่นชมมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ”

“Everything Everywhere All at Once”

อัตลักษณ์ลำดับถัดมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การที่มิเชล โหย่ว เป็นนักแสดงในโลกภาษาจีน ผู้เริ่มต้นสร้างชื่อเสียงและฝึกปรือเคี่ยวกรำตนเองในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกง

ดังที่โหย่วกล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งหลังจากได้รับรางวัลออสการ์ว่า “(รางวัลนี้) สำหรับอีกครอบครัวของฉันที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการประกอบอาชีพของฉัน ขอบคุณสำหรับการอนุญาตให้ฉันได้หยัดยืนขึ้นบนบ่าของพวกคุณ การช่วยอุ้มชูฉันขึ้นไป กระทั่งสามารถมาอยู่ตรงนี้ได้ในวันนี้”

เดิมทีในช่วงวัยรุ่น โหย่วมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักบัลเล่ต์ เธอจึงดั้นด้นเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชวิทยาลัยนาฏศิลป์แห่งกรุงลอนดอน ตั้งแต่เมื่อยังมีอายุเพียง 15 ปี อย่างไรก็ตาม ต่อมา โหย่วได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นนักบัลเล่ต์อาชีพได้ ส่งผลให้เธอต้องหวนกลับมาตั้งต้นใหม่ที่ประเทศบ้านเกิด

โหย่วหันไปประกวดนางงามและได้ครองตำแหน่งมิสมาเลเซียเมื่อปี 1983 ก่อนจะเลือกข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังฮ่องกง เพื่อหาลู่ทางในการเป็นนักแสดง ขณะมีอายุ 22 ปี

“นอร์แมน ชาน” ผู้กำกับฯ และโปรดิวเซอร์ ซึ่งเป็นคนในวงการหนังฮ่องกงรายแรกๆ ที่ได้ร่วมงานกับโหย่ว กล่าวชื่นชมความสำเร็จ “ขั้นสูงสุด” ของเธอ ผ่านการรำลึกถึงความหลังเมื่อเกือบสี่ทศวรรษก่อนว่า

“แน่นอน พวกเรามีความสุขมาก (ที่โหย่วได้รางวัลออสการ์) เมื่อตอนเธอยังเป็นวัยรุ่นและเดินทางมาที่ฮ่องกง พวกเราได้ฝึกฝนเธอให้เป็นนักแสดงหนังบู๊ โหย่วไม่มีทักษะกังฟูติดตัวมาเลยแม้แต่นิดเดียว แล้วเธอก็ฝึกฝนตัวเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะหวังจะเป็นดาราแอ๊กชั่นหญิง แม้ทั่วทั้งร่างกายจะได้รับบาดเจ็บ แต่เธอก็ไม่เคยคิดยอมแพ้

“มิเชล โหย่ว” กับรางวัลออสการ์ จากรอยเตอร์

“มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะได้พบกับอัจฉริยบุคคลเช่นโหย่ว อัจฉริยะที่สามารถสวมบทบาทการแสดงได้อย่างหลากหลาย พูดภาษาอังกฤษได้ดี แล้วก็เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ด้วย และคุณยังไม่สามารถจะไปหาใครอื่นที่ทำงานหนักขนาดนี้ ดังนั้น การได้รับรางวัลออสการ์ของเธอจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน”

ด้าน “หงจินเป่า” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “The Owl vs Bombo” (คู่ซ่าส์จอมแสบ) ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกที่มิเชล โหย่ว ร่วมแสดงเมื่อปี 1984 ทั้งยังได้ทำงานกับเธอในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องถัดมา ก็กล่าวถึงเจ้าของรางวัลออสการ์รายนี้ว่า

“เธอเป็นคนที่ทำงานด้วยง่าย ตั้งแต่วันแรกที่มาถึง ตอนนั้น เจ้านายผมบอกแค่ว่ามีเด็กสาวจากมาเลเซียที่พวกเราอยากทำงานด้วย หลังเธอร่วมแสดงในหนังเรื่องแรก เราก็อยากจะพิสูจน์ว่า จริงๆ แล้ว การทำงานระหว่างพวกเรากับเธอจะสามารถไปต่อได้ไกลขนาดไหน แล้วพวกเราก็ฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า ทำไมไม่ลองให้เธอสวมบทนักแสดงบู๊ดูล่ะ?”

 

ในที่สุด มิเชล โหย่ว ก็ได้รับบทบางเอกในหนังแนวแอ๊กชั่น-ตลกเรื่อง “Yes, Madam” (โอ้โห ซือเจ๊) ซึ่งมีหงจินเป่าเป็นโปรดิวเซอร์ เมื่อปี 1985

นั่นคือจุดแจ้งเกิดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงของเธอ อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 ที่อุตสาหกรรมบันเทิงดังกล่าวเริ่มประสบภาวะซบเซา นักแสดงเชื้อสายจีนที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีเช่นโหย่วก็เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกา

ตราบถึงปัจจุบัน โหย่วมีผลงานการแสดงในฮอลลีวู้ดมาต่อเนื่องเกินกว่าสองทศวรรษ เริ่มต้นจากการเป็น “บอนด์เกิร์ลเชื้อสายจีนคนแรก” ใน “Tomorrow Never Dies” เมื่อปี 1997

การเป็นนักแสดงนำหญิงใน “Crouching Tiger Hidden Dragon” ภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกตะวันตกเมื่อปี 2000

การพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้เล่นเป็นแต่หนังแอ๊กชั่นใน “Memoirs Of A Geisha” (2005) หรือการสวมบทเป็น “ออง ซาน ซูจี” ใน “The Lady” (2011)

มาสู่บทตอนล่าสุดที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อโหย่วไปร่วมแสดงในหนังเรื่อง “Crazy Rich Asians” (2018) ที่ปลุกกระแสนิยมเอเชียขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิงอเมริกัน

ก่อนที่ความสำเร็จใหญ่ของ “Everything Everywhere All at Once” จะเดินทางมาถึง ณ ต้นปี 2023 •

 

| คนมองหนัง