ศึกตระกูล ‘ลี’ ที่สิงคโปร์ ปมมรดกลามสู่การเมือง

(Photo by MOHD FYROL / AFP)

ลีกวน ยิว บุรุษที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาผู้ก่อตั้งสิงคโปร์” ย้ายเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเลขที่ 38 ถนนออกซ์ลีย์ ตั้งแต่ปี 1945 ราว 20 ปีก่อนหน้าที่สิงคโปร์จะกลายเป็นประเทศเอกราชในปี 1965

เขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านสไตล์บังกะโล ขนาด 5 ห้องนอน แห่งนี้มาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2015

บ้านหลังนี้มีประวัติศาสตร์แฝงอยู่มากมาย ลูกๆ ทั้ง 3 คนของลีเติบใหญ่ที่นี่ และเป็นที่บ้านหลังนี้ ที่ลี กวน ยิว และพวกก่อตั้งพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ขึ้น จากนั้นก็ครองอำนาจทางการเมืองในสิงคโปร์มาโดยตลอด

แล้วก็เป็นบ้านหลังนี้อีกนั่นแหละที่เป็น “หัวใจ” ของความขัดแย้งระหว่างสามพี่น้องตระกูลลีมาตั้งแต่ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตลง

 

บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์เคยประเมินมูลค่าของบ้านหลังนี้เอาไว้ที่ 24 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือราว 17 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2017

แต่ทั้ง 3 พี่น้องตระกูลลียืนยันตรงกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเงินแน่นอน

ความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นศึกสายเลือดดังกล่าวปรากฏออกมาต่อสาธารณะในปี 2017 เมื่อลี เซียน หยาง น้องชายคนสุดท้อง กับพี่สาวคนกลาง ลี เว่ย หลิง ออกแถลงการณ์ยาวเหยียดกล่าวหา ลี เซียน หลุง พี่ชายคนโตที่เป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในเวลานั้นว่า ใช้รัฐบาลมาสนองความต้องการส่วนตัว ต้องการรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นบิดา เพราะต้องการใช้มันเป็น “ต้นทุนทางการเมือง” ของตนเอง

เมื่อปี 2013 สองปีก่อนเสียชีวิต ลี กวน ยิว ลงนามในพินัยกรรมที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่เป็นครั้งที่ 7 ความตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนเดียวที่ถูกนำออกมาเปิดเผยระบุเอาไว้ว่า ผู้เฒ่าลีต้องการให้ “รื้อ” บ้านหลังนี้ทิ้ง ในทันทีที่ตนตายลง หรือในทันทีที่ลี เว่ย หลิง ลูกสาวโสดคนเดียวของตนออกไปจากบ้านหลังนี้

ว่ากันว่า ลี กวน ยิว ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับตน เขาเห็นว่าอนุสรณ์ที่ดีที่สุดของตนก็คือ “สิงคโปร์ที่รุ่งโรจน์” เท่านั้น เช่นกันเขาไม่ต้องการให้บ้านหลังนี้กลายเป็นอนุสรณ์สถาน เขาไม่ชอบความคิดที่ว่าต่อไปจะมีนักท่องเที่ยวมากมายมาเดินเข้าออกเยี่ยมชมบ้าน และเชื่อว่าการรักษามันไว้คงต้องใช้เงินจำนวนมาก

ในความเห็นของผู้เฒ่าลี ถ้ารื้อไม่ได้ รักษาต่อก็ไม่ไหว ก็ให้ปิดตาย อนุญาตเฉพาะคนในครอบครัวหรือญาติๆ เท่านั้นที่เข้ามาได้

แต่นายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง อ้างว่าผู้เป็นพ่อกำลังเปลี่ยนใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏทางเลือกว่ารัฐบาลจะเข้ามาขึ้นทะเบียนและรับผิดชอบในการดูแลรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้ให้เป็นอนุสรณ์สถานสืบไป

 

จากปมเรื่องบ้านลุกลามไปเป็นปัญหาข้อกฎหมายเรื่องพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับสุดท้ายของลี กวน ยิว เนื้อหาไม่แตกต่างไปจากเดิมมากมายนัก แต่ที่แตกต่างกับฉบับอื่นๆ อย่างมากก็คือ แทนที่สำนักงานทนายความประจำตัวผู้เฒ่าลีจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดทำกลับเป็นลี ซวด เฟิร์น ภรรยาของลี เซียน หยาง กับสำนักงานทนายความของเธอ

ลี ซวด เฟิร์น ถูกสอบสวนอย่างเป็นทางการ และในปี 2020 ถูกสั่งระงับการทำหน้าที่ทนายนาน 15 เดือนฐานกระทำผิดมารยาททนาย แม้ว่าในที่สุดจะปรากฏข้อเท็จจริงว่า เธอไม่ได้กระทำผิดกฎหมายใดๆ ในการจัดการพินัยกรรมดังกล่าวก็ตามที

ลี เซียน หยาง ผู้เป็นสามี ตัดสินใจประกาศตนเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพี่ชายอย่างชัดเจนทันที ด้วยการสมัครเข้าร่วมพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับพรรคของพี่ชาย และตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนหลังล้มเหลวในการเลือกตั้ง

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ลี เซียน หยาง กับลี ซวด เฟิร์น เดินทางกลับสิงคโปร์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง 2 นายเดินทางไปพบและร้องขอให้เข้าให้ปากคำอย่างเป็นทางการ ตามข้อกล่าวหาว่า ใช้หลักฐานเท็จในกระบวนการสอบสวนบทบาทของลี ซวด เฟิร์น ก่อนหน้านี้

แทนที่จะไปพบเจ้าหน้าที่ ทั้งคู่กลับเผ่นออกนอกประเทศ อันที่จริงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่มีใครล่วงรู้ แต่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง หลังเกิดมี ส.ส.ตั้งกระทู้สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับ “บ้าน” ที่เป็นปมปัญหาขึ้นในสภา แล้วรัฐมนตรีอาวุโสรายหนึ่งเขียนตอบกระทู้เป็น “ลายลักษณ์อักษร” เอาไว้

ลี เซียน หยาง เชื่อว่า การเปิดเผยเรื่องนี้ออกมา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความพยายามของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นพี่ชายในการสกัดการเติบโตทางการเมืองของตน

 

ในช่วงระหว่างมิถุนายนถึงตุลาคมปีนี้ สิงคโปร์ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ตำแหน่งนี้เดิมเลือกตั้งวนกันไปในกลุ่มเชื้อชาติขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ (อินเดีย-มาเลย์-จีน) แต่ในปีนี้กำหนดเป็นการเลือกแบบ “โอเพ่น”

ทำให้ลี เซียน หยาง สามารถลงสมัครได้ และเคยแสดงท่าทีไว้ว่าต้องการลงสมัคร แถมยังมีโอกาสสูงอีกด้วย เพราะเป็นหนึ่งในผู้สมัครเพียงไม่กี่คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ภาคเอกชนสิงคโปร์กำหนดเอาไว้ค่อนข้างเข้ม จากการที่เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทยักษ์อย่างสิงเทล อยู่นานถึง 12 ปี

ตำแหน่งประธานาธิบดีของสิงคโปร์ เป็นตำแหน่งพิธีการไม่เกี่ยวกับการบริหารประเทศใดๆ ก็จริง แต่ก็มีอำนาจสำคัญอยู่อย่างหนึ่งก็คือ มีสิทธิ “วีโต้” การดำเนินงานของรัฐบาลได้หากพิจารณาแล้วเห็นสมควร

ถึงตอนนี้ ความพยายามก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองของลี เซียน หยาง เป็นไปไม่ได้อีกครั้ง เพราะไม่เพียงมีคดีติดตัว ยังต้องลี้ภัยอยู่ในต่างแดน ทำให้การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ถึงสมมุติว่าเป็นไปได้ ก็ยังยากที่จะได้ชัยชนะเหนือคนที่ลี เซียน หลุง สนับสนุน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประเด็นดังกล่าว แต่อยู่ตรงที่ศึกสายเลือดที่เป็นมหากาพย์ ยิ่งนับวันยิ่งลุกลามและทำให้การเมืองสิงคโปร์บิดเบี้ยวมากขึ้นตามลำดับนั่นเอง