เอกสารหลุด ยุติธรรมระอุ รอ ‘นารี’ ขี่ม้าขาว

เหยี่ยวถลาลม

 

พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์

ยุติธรรมระอุ

รอ ‘นารี’ ขี่ม้าขาว

 

เดิมทีเดียว คดี “ตุน มิน ลัต” นักธุรกิจใหญ่ชาวเมียนมาก็ชวนให้ติดตามด้วยใจระทึกอยู่แล้วว่าจะออกหัวหรือออกก้อย

นายตุน มิน ลัต คนนี้ไม่ใช่ธรรมดา

เป็นเจ้าแห่งกลุ่มบริษัทสตาร์แซฟไฟร์ มีธุรกิจโรงแรม กาสิโนหลายแห่งในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน เมียนมา เป็นนายหน้าคนสำคัญที่จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพเมียนมา ทางการอังกฤษถึงขั้นคว่ำบาตรธุรกิจตุน มิน ลัต หวังจะสกัดกั้นการเข้าถึงอาวุธของกองทัพเมียนมา

กลางเดือนกันยายนปีที่แล้ว “ตุน มิน ลัต” ถูกจับที่คอนโดฯ หรูกลางกรุงเทพฯ ต่อมาพวกในเครือข่ายก็ถูกทลาย ดำเนินคดีฐานสมคบคิดกันค้ายาเสพติด และฟอกเงิน

“ระบบกล่าวหา” ตามกฎหมายไทย “การดำเนินคดี” เริ่มที่ตำรวจ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 2(10) การสืบสวน หมายรวมถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่

เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด

มาตรา 2(11) การสอบสวน หมายรวมถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้

เน้นคำว่า “ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา” เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือข้อพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ

พอสอบสวนเสร็จ ตำรวจส่งสำนวนและตัวผู้ถูกกล่าวหาให้กับ “พนักงานอัยการ” ตรวจสอบกลั่นกรอง พินิจพิจารณา และชี้ขาดว่า “ฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง”

คดีที่ฟ้อง อัยการต้องไปว่าความสู้กับ “ทนายจำเลย” ในชั้นพิจารณาของศาล

สุดท้าย “ผู้พิพากษา” จะตัดสินชี้ขาด “ผลแพ้ชนะ”

แต่ก็ยังให้โอกาสพิสูจน์สู้กันถึง 3 ชั้นศาล

ทั้งหมดนี้เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งตำรวจ อัยการ ศาล มี “หน้าที่เดียวกัน” อยู่ข้อหนึ่งคือ “อำนวยความยุติธรรม”!!

 

นอกจากจุดร่วม 1 ข้อที่ว่าแล้ว ตำรวจ อัยการ ศาล ต่างฝ่ายต่างก็มี “บทบาทเฉพาะ” หรือ “พื้นที่อิสระ” เป็นของตัวเอง

นั่นคือ ตำรวจสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน อัยการสั่งคดี ว่าความ ศาล พิจารณา พิพากษาตัดสิน

คดีตุน มิน ลัต เริ่มจากการสืบสวนขยายผลเครือข่ายยาเสพติดของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรแห่งกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

จนต่อมาเมื่อเห็นว่ามีพยานหลักฐานเชื่อมโยงเกี่ยวพันถึง “สมาชิกวุฒิสภา” คนหนึ่ง “ตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะกระทำความผิด” พ.ต.ท.มานะพงษ์จึงรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยื่นคำร้อง ขอให้ศาลอาญา “ออกหมายจับ” ซึ่งศาลก็ “ออกหมายจับ” ให้ตามคำร้อง

แต่พอ “สารวัตรมานะพงษ์” กลับถึงที่ทำงาน เจ้าหน้าที่ศาลเรียกตัวให้ไปพบ

ต่อจากนั้นก็เกิดเหตุ “ถอนหมายจับ” วุฒิสมาชิกคนหนึ่ง

จึงเป็นที่มาของหนังสือชี้แจงลง 5 มีนาคม 2566 ที่มีถึงนายปุณณะ จงนิมิตสถาพร กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องขอ “ออกหมายจับ” กับ “การเพิกถอนหมายจับ” “วุฒิสมาชิก” คนหนึ่ง

หนังสือฉบับดังกล่าวได้ถูกนำไปเผยแพร่ทั้งในสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์หลายช่อง ซึ่ง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ลำดับความในเอกสารชี้แจงนั้นว่า ได้ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาออกหมายจับ “วุฒิสมาชิก” คนหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและฟอกเงิน ผู้พิพากษาเวร รอบคอบ เรียกไปไต่สวนก่อน เมื่อฟังความได้ว่า มีพยานหลักฐานตามสมควร จึง “อนุมัติ” หมายจับตามคำขอ

แต่พอกลับถึงกองสืบสวน 2 ถูกเรียกตัวให้กลับไปพร้อม “หมายจับตัวจริง”

คำบรรยายใน “เอกสาร” ที่มีถึง “กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” ได้แจกแจงระหว่างคำถามกับคำตอบ ระหว่าง “ท่าน” กับ “สารวัตรมานะพงษ์” ชวนให้ค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น!

 

ท่านถาม – เหตุใดจึงมาขอออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภา จะล้มอำนาจนิติบัญญัติของประเทศหรือ

สารวัตรตอบ – ไม่ได้มีเจตนาร้ายอันใดแอบแฝง เพียงมีพยานหลักฐานพอสมควรที่จะขอออกหมายจับ

ท่านถาม – เกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร

สารวัตรตอบ – เป็นผู้จับกุมเครือข่ายยาเสพติด 5 เครือข่าย มีมูลเหตุให้ขยายผลจนจับกุมนายตุน มิน ลัต กับพวกได้

ท่านว่า – เป็นตำรวจที่ไม่มีวินัย ไม่แต่งเครื่องแบบมาและไว้ผมรองทรง

สารวัตรตอบ – ดำรงตำแหน่งสายงานสืบสวนต้องปฏิบัติงานภาคสนาม การตัดผมสั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

ท่านว่า – ที่ร้องขอออกหมายจับวุฒิสมาชิกซึ่งไม่มีพฤติการณ์หลบหนีนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

สารวัตรตอบ – ใช้ดุลพินิจร้องขอออกหมายจับเพราะเห็นว่าเป็นคดีที่มีโทษอัตราสูงถึงประหารชีวิต จำนวน 5 กรรม หากสมาชิกรัฐสภาทำความผิด ตามกฎหมายยาเสพติดจะต้องรับโทษหนักกว่าบุคคลธรรมดาหลายเท่า

ท่านกล่าวต่อในทำนองให้สารวัตรทำหนังสือ “ร้องขอถอนหมายจับ”

สารวัตรตอบ – หากตอนเช้าร้องขอศาลออกหมายจับ แล้วตอนบ่ายขอถอนหมายจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยแน่

ในที่สุด “ผู้พิพากษาเวร” ถูกตามตัวมา ให้เป็นผู้เขียนข้อความเพิกถอนหมายจับและหมายค้น พร้อมกับบันทึกว่า ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก “วุฒิสมาชิก” คนดังกล่าวมาแจ้งข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน หากไม่ได้ออกหมายเรียก หรือออกหมายเรียกแล้วไม่มา ให้ผู้ร้องมาร้องต่อศาลอาญา เพื่อออกหมายจับใหม่

 

วันถัดมา 4 ตุลาคม 2565 พ.ต.ท.มานะพงษ์เลือกใช้วิธี “กล่าวโทษ” ตาม ป.วิอาญา มาตรา 2(8) ให้กองบังคับการปราบปรามยาเสพติด 3 ดำเนินคดีกับ “วุฒิสมาชิก” ที่ได้รับการเพิกถอนหมายจับ

แต่บัดนี้ ล่วงผ่านไปกว่า 5 เดือนเข้าไปแล้ว

ยังไม่มีหมายเรียก ไม่มีหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับวุฒิสมาชิกที่ถูกเพิกถอนหมายจับ

ในขณะที่บังเอิญเหลือเกินที่ “สารวัตรมานะพงษ์” กับผู้เกี่ยวข้องคดีถูกย้ายออกจากกองสืบ 2 หมดสิ้น “ทั้งที่ไม่ได้สมัครใจ และไม่มีความผิด”

 

ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติมีความสลับซับซ้อน ถ้า “กระบวนการยุติธรรม” ไม่แข็งแรงพอ ยากแก่การสืบสวนจับกุมและดำเนินคดี

คดีตุน มิน ลัต ถูกจัดเป็นสำนวนคดีที่ 1

ส่วนคดีที่ พ.ต.ท.มานะพงษ์กล่าวโทษ “วุฒิสมาชิก” คนหนึ่งนั้นเป็น “สำนวนที่ 2”

ทั้ง 2 คดี เป็นเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อยู่ในอำนาจของ “อัยการสูงสุด” หรือ “อสส.”

“นารี ตัณฑเสถียร” อัยการสูงสุดหญิงคนแรก จึงกำลังถูกตั้งความคาดหวังว่า น่าจะกล้าหาญและตรงไปตรงมายิ่งกว่าชายหลายคน!?!!