ทำไมพวกเขาจึงกลัวประชาชนจะมีชีวิตดี : ข้ออ้างล้าสมัยว่าด้วยภาระทางการคลัง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

ทำไมพวกเขาจึงกลัวประชาชนจะมีชีวิตดี

: ข้ออ้างล้าสมัยว่าด้วยภาระทางการคลัง

 

เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาเลือกตั้งนับเป็นเรื่องปกติที่จะมีนโยบายหาเสียงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นโยบายปากท้องที่ถูกนำเสนอมีหลายเฉดสี หลายแง่มุม

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ความสำคัญของนโยบายปากท้องถูกให้ความสำคัญขึ้นมาก

และความเข้าใจของผู้คนต่อสิทธิพื้นฐานและคุณภาพชีวิตที่ดีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ผู้คนเข้าใจว่านโยบายต่างๆ ไม่ใช่เรื่องของบุญคุณและระบบอุปถัมภ์

แต่เป็นโอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถกดดันทางนโยบายต่ออำนาจรัฐเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป

ดังนั้น “นโยบายสวัสดิการปากท้อง” จึงไม่ใช่แต่การลดแลกแจกแถม หรือหลอกลวงประชาชน

แต่เป็นภาพสะท้อนความเจ็บปวดของประชาชน

และสะท้อนภาวะที่พรรคการเมืองต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อชีวิตของประชาชนมากขึ้น

อาจง่ายเกินไปหากจะกล่าวว่าพอถึงช่วงเลือกตั้งพรรคการเมืองก็สามารถพูดนโยบายอะไรก็ได้อย่างไม่รับผิดชอบ

เพราะนโยบายเป็นภาพสะท้อนสองส่วนคือ อุดมการณ์ของพรรคนั้น-หรือความเชื่อพื้นฐานที่พรรคนั้นเชื่อ

และอีกส่วนหนึ่งคืออุดมการณ์ของสังคมหรือกล่าวโดยสรุปคือสิ่งที่สังคมในขณะนั้นมีความเชื่อยึดถือ ปรารถนาจะให้เป็น

ดังนั้น สิ่งที่เห็นในการหาเสียงนโยบายด้านสวัสดิการที่เปลี่ยนไปอย่างมากในปี 2566 แตกต่างจากหลายปีก่อนสามารถชี้ให้เห็นได้ดังนี้

 

1.แนวนโยบายสวัสดิการส่วนมากที่ถูกสื่อสารมีลักษณะการเป็น “สวัสดิการถ้วนหน้า”

หรือการจัดสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐาน ไม่ใช่การสงเคราะห์เฉพาะคนจน หรือประชากรกลุ่มเฉพาะได้รับการตอบรับที่ดีกว่า

เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปัญหาทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจถดถอย นำสู่ความทุกข์ร้อนของประชาชนอย่างถ้วนหน้า

ปริมาณชนชั้นกลางน้อยลง หนี้ครัวเรือนสูงมากขึ้น รายได้ที่แท้จริงไม่ได้ปรับเพิ่มเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย

ดังนั้น การพูดถึง “สวัสดิการสำหรับทุกคน” จึงเป็นที่ดึงดูดมากกว่าสวัสดิการแค่เฉพาะกลับคนจน

 

2.ผู้คนตั้งคำถามกับนโยบายสวัสดิการน้อยลง ด้วยการเข้าถึงข้อมูล การสื่อสารออนไลน์ที่ลดมิติทางชนชั้นระหว่างสื่อสาร และประชาชน

กล่าวคือ การผูกขาดองค์ความรู้เรื่องสวัสดิการมีน้อยลง

ผู้คนต่างรู้ว่าประเทศนี้มีเงินเพียงพอ มีงบประมาณล้นเหลือสำหรับการดูแลทุกคน

ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่ได้ห่างไกลจากข้อมูล

ประกอบกับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เมื่อไม่กี่ปีก่อนได้ปลุกให้เห็นว่าการสร้างสังคมที่ยุติธรรมเป็นสิ่งสามัญที่ทุกคนสามารถคิดฝันได้

 

3.การบอกว่ารัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ หรือไม่มีเงินพอที่จะทำ หรือประชาชนขาดความรู้ ไม่เสียภาษีมากพอ จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่ฟังไม่ขึ้นเสียแล้วในยุคสมัยนี้

เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองจากขวาสุดสู่ซ้ายสุดที่มีในสภา ต่างรู้ดีว่าความขี้เกียจไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับเรื่องการมีสวัสดิการหรือไม่มีสวัสดิการ

และทุกคนก็ล้วนตระหนักว่า ภาษีที่เสียไปมีช่องทางมากกว่าแค่การเสียภาษีเงินได้ประจำปี

แต่ค่าใช้จ่ายโดยอ้อมที่เราต้องเสียในประเทศนี้ในแต่ละคนมีมากมายมหาศาลแม้แต่คนที่ยากจนที่สุดก็ตาม

แต่เหตุใดถึงยังมีโวหารตกยุคอย่าง “วินัยทางการคลัง” โผล่ขึ้นมาทุกครั้งที่มีการพูดถึงนโยบายสวัสดิการในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้ง

ทั้งๆ ที่ในยุคสมัยของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวยาวนานกว่า 9 ปี ก็มีนโยบายหลายนโยบายที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

และแน่นอนไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังแต่อย่างใด

อย่างเช่น การมีทหารประจำการมากกว่า 300,000 นาย ขณะที่มีพยาบาลทั้งประเทศ 190,000 คน และอยู่ในระบบของรัฐเพียง 1.4 แสนคน

หรือเรามีจำนวนทหารมากกว่าพยาบาลถึงสองเท่า

ปัญหาสำคัญคือ เหตุใดจึงไม่มีการตั้งคำถามต่อกองทัพขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาหลายแสนล้านบาทต่อปีติดต่อกันมาหลายสิบปี ถึงไม่เป็นปัญหาต่อวินัยการคลังเมื่อเทียบกับการที่ประชาชนเริ่มเรียกร้องการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี เงินเลี้ยงดูเด็ก หรือเงินบำนาญ อันเป็นเศษเสี้ยวกับสวัสดิการที่กองทัพได้รับ

ทำไมสวัสดิการมากมายของเหล่านายพลถึงไม่กลัวว่าจะเป็นการ “สปอยล์” พวกเขา

แต่กับชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ การเรียกร้องสวัสดิการหลักร้อยหลักพันกลับกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

 

ในระดับสากล “วินัยทางการคลัง” กลายเป็นคำพ้นสมัยสำหรับผู้รักประชาธิปไตยและความยุติธรรมไปอย่างมาก

การรวมกลุ่มของพันธมิตรก้าวหน้า-Progressive Alliance ซึ่งรวมพรรคการเมืองก้าวหน้าจากทุกมุมโลก มีคำขวัญง่ายๆ ว่า “เราต่อต้านความคิดที่นำตัวเลขมาอยู่เหนือชีวิตประชาชน”

เพราะคำอธิบายนี้ถูกใช้โดยกลุ่มชนชั้นนำ ที่มักเข้มงวดกับชีวิตของประชาชน แต่กลับผ่อนปรนลดหย่อนภาษีมากมมายมหาศาลให้แก่กลุ่มทุนผูกขาด

และในหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นเช่นกันว่า เมื่อคาถา “วินัยทางการคลัง” ว่อนในหมู่ชนชั้นนำผู้กำหนดนโยบาย สุดท้ายความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มมากขึ้น คนรวยจะรวยง่ายขึ้น คนจนก็จนง่ายขึ้น ชนชั้นกลางก็ตกมาเป็นคนจนง่ายขึ้น

ด้วยเหตุผลสำคัญคือเบาะพิงทางสังคมของคนส่วนใหญ่มักจะถูกตัดทิ้งเป็นอันดับแรก

โจทย์สำคัญสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงว่าด้วยนโยบายสวัสดิการ จึงไม่ใช่การกลัวว่าพวกเขาจะสัญญาอะไรเพื่อให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น

แต่คือการพยายามกดดันให้พวกเขาทำอย่างที่ได้ให้พันธสัญญาไว้ เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว

และประชาชนต้องเป็นผู้ชี้ขาดว่า บาทแรกจนบาทสุดท้ายของประเทศนี้ เราจะเอามาสร้างสวัสดิการที่ดีมากขึ้น

หรือจะเอาไปปรนเปรอชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ เหมือนที่เคยมีมา