เพื่อไทยไม่เป็นนายกฯ ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เป็นแค่พรรคร่วมรบ.ไม่ได้เด็ดขาด

มุกดา สุวรรณชาติ

เพื่อไทยไม่เป็นนายกฯ ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เด็ดขาด กาบัตรฝ่ายค้านรัฐบาลเผด็จการปิดฉาก

 

เมื่อพูดถึงคนที่จะเป็นนายกฯ ไปแล้ว ก็ขอพูดถึงพรรคที่จะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

การเลือกตั้ง 2566 สภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.เขต 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน แต่การเลือกนายกรัฐมนตรียังมี ส.ว.จากวุฒิสภามาร่วมโหวตอีก 250 คน

นายกรัฐมนตรีจึงต้องมีเสียงเกิน 375 จากทั้ง 2 สภา แต่ถ้าจะตั้งรัฐบาลให้มีเสียงข้างมากก็จำเป็นจะต้องมีเสียงจาก ส.ส.ประมาณ 260 จาก 500 จึงจะสามารถบริหารงานได้

ถ้าฝืนตั้งรัฐบาลที่มี ส.ส.เสียงข้างน้อย รัฐบาลจะถูกล้มภายในระยะเวลาอันสั้น

การเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนหลักของฝ่ายค้านได้ ส.ส. 136 คน พรรคอนาคตใหม่ได้ 81 เสรีรวมไทย 10 การตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจโดยใช้กรรมการ และ ส.ว.เป็นตัวช่วยจึงไม่ยาก

แต่สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง 2566 กระแสการเมืองบ่งชี้ว่าพรรคเพื่อไทยอาจได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่ง คือ 250 คน แม้ได้น้อยกว่าหรือมากกว่าครึ่ง ประมาณ 10 คน ก็ยังทำให้รวมฝ่ายค้านเดิมมีเสียง 280-320 คน

ดังนั้น เสียงของ ส.ว.ก็อาจไม่เหมือนเดิม

เพราะรู้อยู่แล้วว่าประยุทธ์ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากไม่ได้แน่ คงจะต้องเปลี่ยนไปตามกระแสการเมืองและตามความต้องการของผู้นำที่มีบารมี

การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าประชาชนเลือก ส.ส.ฝ่ายค้านถึง 300 คน ถือได้ว่าปิดฉากฝ่ายเผด็จการด้วยมือตนเอง

 

พรรคเพื่อไทยถ้าไม่เป็นนายกฯ
ก็ต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
เป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เด็ดขาด
เพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญ และเศรษฐกิจ

สถานการณ์ของเพื่อไทยตามกระแสการเมืองวันนี้ มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.ถึง 250 คน แม้ไม่ถึง 300 ตามที่แกนนำพรรคเพื่อไทยคุยไว้

แต่คะแนนแบบนี้จะบังคับให้เพื่อไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นแกนนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ปูทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามจังหวะก้าว

1. ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเลือก candidate นายกฯ คนใดคนหนึ่งใน 3 คน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามความเหมาะสมของเกมการเมือง ณ ช่วงเวลานั้น เป้าหมายคือรวบรวมเสียงในรัฐสภาให้ได้ 376-400 เสียง โดยรวมกำลังกับพรรคฝ่ายค้านเดิม

2. ถ้าได้ยังไม่ครบ 376 ก็ต้องข้ามฟากไปดึงกำลัง ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลชุดเก่าโดยอาจจะต้องเลือกหนึ่งพรรค หรือ 2 พรรค เพื่อให้มีคะแนนเสียงถึง 376

3. ดึงเสียง ส.ว.ให้มาสนับสนุนตั้งแต่การตั้งนายกรัฐมนตรี และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรมีไม่น้อยกว่า 90 คน

4. ถ้าเพื่อไทยได้ ส.ส.ไม่ถึง 250 หรือได้เกินมาเล็กน้อยแล้วไม่สามารถหาคะแนนได้ถึง 376 ถือว่าทำไม่สำเร็จก็ไม่ควรไปร่วมรัฐบาล

แต่ควรออกมาเป็นฝ่ายค้าน เพราะถ้ารวมกำลังแล้วได้ถึง 250 หรือเกินกว่าเล็กน้อยฝ่ายตรงข้ามก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ต่อให้มี ส.ว.มาช่วยโหวต รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะล้มในระยะเวลาอันสั้น ถ้าไม่ตั้งรัฐบาลใหม่ก็ต้องเลือกตั้งใหม่

5. ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นนายกฯ และยอมให้พรรคเล็กเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่เพื่อไทยมี ส.ส.มากที่สุด เกินกว่า 200 ก็จะสร้างความเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตย และต่อชื่อเสียงของพรรค จะเป็นการถดถอยในระยะยาว

6. สถานการณ์โดยรวมเป็นผลดีต่อฝ่ายประชาธิปไตย เรื่องแบบนี้มิใช่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อมีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยสร้างขึ้นมา ต้องช่วงชิงโอกาสนี้ไว้ให้ดี กล้าตัดสินใจและเลือกทางออกที่ฉลาด ให้มีผลแก่ส่วนรวมให้มากที่สุด เข้ามาบริหารและแก้รัฐธรรมนูญ

 

สถานการณ์ของพรรคฝ่ายรัฐบาล

โอกาสของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคร่วมรัฐบาลต้องหาเสียงแข่งกัน แย่งจำนวน ส.ส. เพื่อให้พรรคตนเองได้ ส.ส.มากที่สุด ทั้งเพื่ออำนาจ และการอยู่รอด

โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะได้เป็นรัฐบาล คือได้ ส.ส.รวมกันแล้วประมาณ 250 คน แต่ความถดถอยของกระแสการเมือง เนื่องจากการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาการคอร์รัปชั่นโกงกิน ปัญหาความยากจนและหนี้สินของประชาชน ทำให้โอกาสที่จะมีคะแนนเสียงมากกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้นเป็นไปได้ยาก

นักวิเคราะห์ประเมินกันว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะได้ ส.ส.รวมกันไม่เกิน 200

1. พรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าสามารถสร้างกระแสชูประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปได้ ก็จะมีผลทั้งบวกและลบ

เพราะคนที่กลัวประยุทธ์กลับมา ก็จะเทคะแนนให้ฝ่ายค้าน

แต่คนที่เชียร์ จะเลือกรวมไทยสร้างชาติ โอกาสที่จะมี ส.ส.เกิน 25 คนก็มีอยู่แต่ไม่น่าเกิน 40 คน

เพราะโอกาสที่จะชนะ ส.ส.เขตไม่ง่าย เขตที่คิดว่าจะชนะ อาจทำได้เพียงแค่ที่ 2 จะแพ้ แพ้ 500 หรือ 5,000 คะแนน ก็ไม่ได้ ส.ส.เขต

ถ้าได้เกิน 25 โอกาสส่งนายกฯ ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตเข้าไปชิงในรัฐสภา ก็ยังยาก ถ้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม รวมกันแล้วได้ ส.ส.ไม่ถึง 200 คน ต่อให้มี ส.ว.มาช่วยโหวต นายกฯ ประยุทธ์ก็หมดโอกาส เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะตั้งรัฐบาล 190 เสียง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ประกาศแล้วว่าจะไม่หนุนกลุ่มที่จะตั้งรัฐบาลซึ่งได้ ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง ดังนั้น พรรครัฐบาลเดิมจะย้ายข้างแยกวง ส่วน ส.ว.ก็จะมีการแตกเสียงออกไป

ดังนั้น โอกาสของรวมไทยสร้างชาติ ถ้าประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ คือฝ่ายค้านแน่นอน

2. พรรคพลังประชารัฐ โอกาสของพรรคพลังประชารัฐในการส่งประวิตรขึ้นเป็นนายกฯ สำเร็จ มีน้อยมาก แต่มีโอกาสได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเกิน 80% แม้ผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐอาจจะได้ ส.ส. 40 คน แต่ พล.อ.ประวิตรยังมี ส.ว.ที่สนับสนุนอยู่จำนวนหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าได้ ส.ส.น้อยเกินไป ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ ก็เลือกที่จะร่วมรัฐบาลได้ถ้าฝ่ายรัฐบาลเดิมได้ใกล้เคียง 250 ก็เข้าร่วม หรือจะเลือกไปร่วมกับพรรคฝ่ายค้านที่รวมกันเกินกว่า 270 ก็ยิ่งง่าย แม้มีเพื่อไทยเป็นแกนนำก็ไม่มีปัญหา ยกเว้นพรรคฝ่ายค้านรวมกันได้ 376 อยู่แล้ว

จุดแข็งของประวิตรคือสามารถนำทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปสนับสนุนได้ไม่น้อยกว่าร้อยคะแนน จึงกล่าวได้ว่าพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสได้ร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่าย เกิน 80%

3. พรรคภูมิใจไทย มีโอกาสจะมี ส.ส.มากที่สุดในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ประเมินกันว่าอาจได้ 70-90 คน

ตัวเลขนี้ดูแล้วดีแต่ก็มีข้อเสียเหมือนกัน เพราะถ้าไปเข้าร่วมรัฐบาลกับใครก็จะแย่งโควต้ารัฐมนตรีไปเยอะมาก

โอกาสเป็นนายกฯ ของคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็มีน้อยเช่นกัน เชื่อกันว่าถ้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมรวมกันได้ใกล้เคียง 250 คนที่ถูกเสนอชื่อคนแรก ก็ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ (ถ้ารวมไทยสร้างชาติได้เกิน 25 คน)

แต่ถ้ารวมเสียงได้ไม่เกิน 200 ก็จะมีโอกาสเป็นฝ่ายค้าน ถึงตรงนี้ภูมิใจไทยจะต้องเลือกว่าจะทิ้งพรรครัฐบาลเดิมไปอยู่กับฝ่ายค้านที่ได้เกิน 270 หรือไม่ แต่ยังจะต้องได้รับการตกลงใจจากแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเลือกพรรคใดเข้ามาร่วม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภูมิใจไทยก็ได้ ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.และ ส.ว.ที่จะสนับสนุนในช่วงเลือกตั้งนายกฯ

จุดอ่อนอีกข้อหนึ่งของภูมิใจไทย ก็คือภาพธุรกิจการเมือง และการที่ภูมิใจไทยเคยคุมกระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มีหลายพรรคการเมืองมีความรู้สึกว่าควรจะให้พรรคภูมิใจไทยเป็นฝ่ายค้านได้บ้างแล้ว เพื่อมิให้ขยายอิทธิพลเติบโตมาแย่งชิงคะแนนเสียงในพื้นที่จังหวัดต่างๆ การต้อนรับภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครเต็มใจเท่าไร

4. พรรคประชาธิปัตย์ ในครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสได้ ส.ส.ประมาณ 40 คนเช่นกัน เรื่องการเป็นนายกฯ คงไม่ต้องพูดถึง ในการสำรวจความนิยมผ่านโพลต่างๆ ก็ชี้ชัดว่าอยู่ห่างจาก 3 อันดับแรก

ภาระหน้าที่ของประชาธิปัตย์ตอนนี้ก็คือการฟื้นฟูพรรค เพียงแค่การนำ ส.ส.เข้าสภา 50 คนเท่าเดิมก็ยังเป็นเรื่องยาก ตอนนี้ต้องแข่งกับรวมไทยสร้างชาติว่าใครจะได้ ส.ส.มากกว่า หลังเลือกตั้งโอกาสจะได้ร่วมรัฐบาลมีเพียงโอกาสเดียวคือการที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมรวมกันแล้วได้ใกล้เคียง 250

ดังนั้น ครั้งนี้ต้องเตรียมเป็นฝ่ายค้าน

 

ประเมินพรรคการเมืองก่อนยุบสภา

เพื่อไทยมีโอกาสเป็นนายกฯ 80% เป็นฝ่ายค้าน 20%

รวมไทยสร้างชาติมีโอกาสเป็นนายกฯ 20% เป็นฝ่ายค้าน 80%

พลังประชารัฐมีโอกาสเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 80%

ภูมิใจไทยมีโอกาสเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 30% เป็นฝ่ายค้าน 70%

ประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นฝ่ายค้าน 80% เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 20%