สงครามของนักข่าวรางวัลโนเบล กับอำนาจเถื่อนจากรัฐ และเครือข่ายออนไลน์

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

สงครามของนักข่าวรางวัลโนเบล

กับอำนาจเถื่อนจากรัฐ

และเครือข่ายออนไลน์

 

คนทำข่าวสมัยนี้ไม่ได้ต่อสู้กับผู้นำเผด็จการที่พยายามจะสกัดกั้นการตรวจสอบของประชาชนที่จะเปิดโปงความชั่วร้ายและพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น

แต่สื่ออาชีพที่พยายามทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบยังต้องปะทะกับแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียที่เป็นธุรกิจมุ่งกำไร

โดยไม่จำเป็นต้องสนใจคำว่า “จรรยาบรรณ” แห่งสื่อสารมวลชน

ยิ่งเมื่อสื่อต้องเผชิญกับ “ความป่วน” อันเกิดจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการล่มสลายของสื่อแบบดั้งเดิมด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การดิ้นรนต่อสู้ของคนข่าวเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดอย่างหนักหน่วง

และต้องเป็นความอยู่รอดที่ต้องปกปักรักษาผลประโยชน์ของสังคมและศักดิ์ศรีแห่งความเป็น “นักข่าวผู้ซื่อสัตย์ต่อประชาชน” อย่างหนักหนาสาหัสอีกด้วย

ในห้องข่าว Rappler : มาเรีย เรสซา กับทีมข่าวที่ต้องต่อสู้กับอำนาจมืด, อำนาจรัฐ และ Fake News

เมื่อผมได้อ่าน How to Stand up to a Dictator (“เราจะยืนหยัดต่อสู้กับจอมเผด็จการอย่างไร”) โดย Maria Ressa นักข่าวหัวเห็ดชาวฟิลิปปินส์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีล่าสุด จึงเห็นความท้าทายอันใหญ่หลวงนี้

เป็นเรื่องราวที่ควรจะได้รับการเผยแพร่, แลกเปลี่ยนและต่อยอดเพื่อให้สังคมได้รับทราบและร่วมมือกันในการปกป้อง “เสรีภาพแห่งการสื่อสาร” ของโลกยุคใหม่นี้อย่างเข้มข้น

สำหรับคนในแวดวงสื่อมวลชนด้วยแล้ว เรื่องราวของการต่อสู้ของคนข่าวกับขวากหนามทั้งด้าน “การเมืองแบบเจ้าพ่อ” กับการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างข่าวเท็จอย่างเป็นขบวนการกับนโยบายทำกำไรสูงสุดของแพล็ตฟอร์มสังคมออนไลน์เป็นบทเรียนอันล้ำค่า

เป็นบทเรียนที่ยังสดๆ ร้อนๆ ที่ทุกสังคมกำลังเผชิญอยู่ทุกวี่ทุกวัน

เป็น “สงคราม” ระหว่างสังคมที่ต้องการการสื่อสารอย่างถูกต้องเป็นธรรมกับขบวนการ “สร้างข่าวปลอม” และ “ผลิตข่าวลวง” เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน

และทำลายล้างผู้เห็นต่าง

กับล้างสมองและป้อนข้อมูลด้านเดียว ทำให้ “ข่าวเท็จ” ได้รับการแพร่กระจายซ้ำๆ จนกลายเป็น “ข่าวแพร่สะพัด” ที่เป็นสาเหตุแห่งความเกลียดชัง, การทำลายล้าง และการแตกแยกของสังคมอย่างบ้าคลั่ง

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบภายในไม่กี่ชั่วโมง พร้อมกับขีดเส้นใต้หลายๆ บทที่ต้องนำมาเล่าขาน, ตั้งประเด็นถกเถียง, จุดไฟกระตุ้นให้สังคมตื่นขึ้นมาร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของการได้รับรู้ข้อมูลและข่าวสารอย่างถูกต้องและปราศจากการบิดเบือนหรือการที่ฝ่ายผู้มีอำนาจใช้ “ปฏิบัติการข่าว” (Information Operation หรือ IO) เพื่อทำลายความพยายามที่จะแสวงหาความจริงและเปิดโปงความชั่วร้ายของผู้มีอำนาจ

เธอมีชื่อเต็มว่า Maria Angelita Ressa เกิดวันที่ 2 ตุลาคม 1963 เป็นนักข่าวชาวฟิลิปปินส์-อเมริกันที่ไต่เต้าจากการทำข่าวทุกประเภท

หลังจากทำงานเป็นนักข่าวของ CNN และเป็นผู้บริหารข่าวให้กับทีวีฟิลิปปินส์ช่องใหญ่ที่สุด ABS-CBN มาเรียเห็นโอกาสในสื่ออินเตอร์เน็ต จึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ชื่อ Rappler ในปี 2012

มาเรียเกิดในกรุงมะนิลาและไปโตที่เมืองทอมส์ริเวอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ของสหรัฐ

นิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งใน Time’s Person of the Year ปี 2018

เป็นการเชิดชูให้กำลังใจกลุ่มนักข่าวจากทั่วโลกที่ต่อสู้กับ “ข่าวปลอม” หรือ Fake news อย่างแข็งขัน

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2019 เธอถูกทางการฟิลิปปินส์จับกุมในข้อหาหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต

ด้วยข้อกล่าวหาว่า Rappler เผยแพร่ข่าวเท็จเกี่ยวกับนักธุรกิจ Wilfredo Keng

วันที่ 15 มิถุนายน 2020 ศาลในกรุงมะนิลาตัดสินว่าเธอมีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ตภายใต้กฎหมายต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์

กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักข่าวประณามความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

มาเรียเป็นคนข่าวที่เจาะข่าววิเคราะห์ที่โดดเด่นว่าด้วยพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายอย่างของประธานาธิบดีดูเตอร์เต

การจับกุมและการลงโทษเธอจึงถูกมองจากหลายฝ่ายในฝ่ายค้านและประชาคมระหว่างประเทศว่าการฟ้องร้องเธอนั้นมาจากแรงจูงใจทางการเมืองโดยรัฐบาล

มาเรียได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 ร่วมกับดมิทรี มูราตอฟ บรรณาธิการสื่อ Novaya Gazeta ของรัสเซียเพื่อเชิดชู

“ความพยายามของพวกเขาในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน”

ในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากอำนาจรัฐนั้น มาเรียตั้งคำถามที่สำคัญว่า : คุณพร้อมจะเสียสละอะไรแค่ไหนเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ?

เธอใช้เวลาหลายทศวรรษในการพยายามนำเสนอข่าวคราวที่ตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำแบบที่นักข่าวอาชีพพึงจะทำเพื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจ

แต่การทำหน้าที่ในฐานะคนข่าวที่ต้องการรักษามาตรฐานสากลนั้นถูกต่อต้านและบิดเบือนปลุกปั่นโดย “เครือข่ายข้อมูลเท็จ” ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเพื่อรักษาฐานอำนาจของตนอย่างสุดฤทธิ์

เธอต้องเผชิญกับภัยคุกคามโดยการเผยแพร่เรื่องโกหกที่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งโดยเครือข่ายที่สนับสนุนโดยกลไกรัฐ

เป็นการปั้นแต่งข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายของฝ่ายผู้มีอำนาจไปยังประชาชนที่เจือด้วยความโกรธและความเกลียดชัง

 

ไม่ช้าไม่นาน มาเรียก็ต้องมายืนจังก้าต่อหน้าบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศ

นั่นคือประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต (ก่อนที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แทนหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนปีที่แล้ว)

ในการทำหน้าที่การ “ทำความจริงให้ประจักษ์” นั้น มาเรียถูกหมายหัวโดยผู้นำประเทศ

จะเรียกว่าเธอเป็นเป้าของ “ปฏิบัติการตามไล่ล่า” ของรัฐบาลก็ไม่ผิดนัก

“หกปีเต็มๆ ที่ดิฉันถูกรัฐบาลตามไล่ล่าด้วยทุกวิธีการ เพียงไม่ถึงสองปี รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกหมายจับดิฉันไม่ต่ำกว่า 10 หมาย…ดิฉันอาจจะต้องเข้าคุกตลอดชีวิตที่เหลือ หรือตามที่ทนายแจ้งมาก็อาจจะติดตารางไม่น้อยกว่า 100 ปีถ้าว่าตามความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีต่างๆ…” มาเรียเขียนไว้ในหนังสือ

เธอเสริมว่า “หรือไม่ดิฉันก็อาจจะเป็นเป้าของความรุนแรง อาจมีคนถามว่าตำรวจหรือรัฐบาลจะโง่พอที่จะเก็บดิฉันหรือ…คำตอบคือใช่…คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ประเมินว่ามีคนถูกสังหารไปแล้วประมาณ 27,000 คนในช่วงระยะเวลาไม่ถึงสามปีภายใต้นโยบาย ‘สงครามต่อต้านยาเสพติด’ อันโหดร้าย จาก 2016 ถึง 2018 ภายใต้อดีตประธานาธิบดีดูเตอร์เต…”

มาเรียบอกว่าเธอเริ่มใส่เสื้อกันกระสุนระหว่างเดินทางตั้งแต่ปี 2018

 

หนังสือ How to Stand Up to a Dictator เป็นเรื่องราวของระบอบประชาธิปไตย “ถูกสังหารด้วยบาดแผลนับพัน” และระเบิดปรมาณูที่มองไม่เห็นผ่านโลกออนไลน์อย่างร้อนแรงและต่อเนื่อง และไร้ความปรานีโดยสิ้นเชิง

เมื่อผู้มีอำนาจและธุรกิจที่แสวงหากำไรจากยอดคลิก, ยอดแชร์และการปลุกปั่นให้เกิดอารมณ์ดุดัน, โกรธแค้นและล้างสมองผู้คนจำนวนมากได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ…ความหมายของคำว่า “เสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็น” ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกบิดเบือนและถูกกระทำชำเราอย่างน่าสะพรึงกลัว

ความชั่วร้ายของการสร้างเรื่องโกหกมดเท็จเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการเมืองและผลประโยชน์ด้านธุรกิจกลายเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่แพร่เหมือนโรคระบาดที่กระจายไปทั่วโลก

ไม่ว่าจะเป็นสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เตหรือการก่อการจลาตลที่ตึกรัฐสภาของสหรัฐภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์

และยังเป็นเชื้อร้ายที่ระบาดถึง Brexit ของสหราชอาณาจักรลามไปถึงสงครามไซเบอร์ของรัสเซียและจีน

และข้ามไปถึง Facebook และ Silicon Valley

และรวมถึงการกดคลิกและการลงคะแนนในการเลือกตั้งของพลเมืองทุกคน

 

มาเรียเล่าประสบการณ์อันน่ากลัวของตัวเองจากแนวหน้าของสงครามดิจิทัล

จากประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยถอยลงสำหรับเธอและคนในอาชีพอื่นๆ จำนวนมาก

มาเรียเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็น “เสียงเรียกร้องเร่งด่วน”

สิ่งที่เธอต้องการจะเรียกร้องผ่านตัวหนังสือเล่มนี้คือการปลุกให้คนทั้งโลกตื่นขึ้นเพื่อร่วมกันยืนหยัดต่อสู้กับเชื้อร้ายแห่งขบวนการบิดเบือนเพื่อก่อความรุนแรงและทำลายล้าง “ความจริง”

“ความจริง” ที่มีความสำคัญเหลือเกินสำหรับการสร้างประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและตรวจสอบได้

ก่อนที่มันจะสายเกินไป