ดุลยภาพในตะวันออกกลาง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ดุลยภาพในตะวันออกกลาง

 

10 มีนาคม 2023 มีรายงานข่าวสำคัญว่า ผู้นำของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและออสเตรเลียจะพบกันที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาในกลางเดือนมีนาคมนี้

เพื่อปรึกษาเรื่องความร่วมมือในไตรภาคีด้านความมั่นคง AUKUS-Australian United Kingdom and United state of America1

ในเวลาใกล้เคียงกัน ผู้นำอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย 2 ชาติใหญ่ที่สุด มีอิทธิพลมากที่สุดในตะวันออกกลาง ซึ่งขัดแย้งระหว่างกันมานานหลายทศวรรษ ก็ประกาศปรับความสัมพันธ์กัน โดยจะมีการเปิดสถานทูตที่เคยปิดไปอีกครั้งหนึ่ง

คำประกาศนี้ประกาศที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

 

ความประหลาดใจใหญ่

ในความเป็นจริงแล้ว ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีกิจกรรมทางการเมืองมากที่สุดในโลก ที่มีผู้เล่นใหญ่ 3 ชาติ โดยแต่ละชาติต่างมีเกมของตัวเองในการแสดงบทบาทในตะวันออกกลางคือ สหรัฐอเมริกา อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย

ในแง่ประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ดีและลึกซึ้ง ที่ห่อหุ้มด้วยเรื่องน้ำมัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกิจการด้านทหาร

ในขณะที่อิหร่านเป็นศัตรูกับซาอุดีอาระเบียในภูมิภาคนี้เสมอมา ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ว้าวุ่น แม้ว่าทั้งสองประเทศอยู่ในตะวันออกกลางด้วยกัน

ด้วยความแตกต่างที่แน่ชัดทางวัฒนธรรม ความเชื่อและอุดมการณ์ อิหร่านเป็น Shia ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียเป็น Sunni

นี่เป็นรากของการแข่งขันระหว่างกัน

ความสับสนอลหม่านของความขัดแย้งเกิดขึ้นในซีเรีย รวมทั้งสงครามกลางเมืองที่ไม่จบสิ้นในเยเมน ทำให้การแข่งขันระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียแย่ลง

อิหร่านหนุนกบฏ Houthi ในเยเมน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียหนุนฝ่ายรัฐบาล

ในซีเรียกลับกัน ซาอุดีอาระเบียสนับสนุนกลุ่มกบฏในซีเรีย ส่วนอิหร่านสนับสนุนรัฐบาลของนาย Assad

แล้วทั้งซาอุดีอาระเบียและอิหร่านต่างมุ่งมั่นจะมีนิวเคลียร์ อันทำให้ความตึงเครียดสูงขึ้น

แต่ 10 มีนาคม 2023 เหตุการณ์ที่ทำให้โลกตะลึงเกิดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ศัตรูผู้ทรงอิทธิพลแห่งตะวันออกกลางและต่อโลกจับมือกัน ประกาศเริ่มต้นเป็นมิตรต่อกันอีกครั้งหนึ่ง

 

อิหร่านจับมือซาอุดีอาระเบีย

หลังการพบกันที่จัดที่ปักกิ่ง ภายใต้ผู้ไกล่เกลี่ยจีน ตามแถลงการณ์ร่วม อิหร่านและซาอุดีอาระเบียตัดสินใจเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง และเปิดสถานทูตอีกครั้งภายในเวลา 2 เดือน2

ความขัดแย้งเริ่มต้นเมื่อเกิด Arab Spring 2011 ขบวนการประท้วงต่อชนชั้นนำดั้งเดิมทั่วตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบียกล่าวหาว่า อิหร่านยั่วยุผู้ประท้วงในบาห์เรนต่อต้านพระราชวงศ์3 ซาอุดีอาระเบีย

ในปีเดียวกัน สงครามซีเรีย 2011 กลุ่ม Shia ที่ปกครองอิหร่านหนุนประธานาธิบดีของซีเรีย Bashaar al-Assad และช่วยเขาทั้งกำลังทหารและเงิน ต่อต้านกบฏ

Sunni Sunni ซึ่งปกครองซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนกบฏกลุ่มต่างๆ แต่ภายหลังซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมกองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้น ผู้ประท้วงอิหร่านโจมตีสถานทูตซาอุดีอาระเบียในอิหร่านปี 2016 ตามมาด้วยการตายของนักเทศน์ผู้มีชื่อเสียง ท่าน Nimr al-Nimr ที่เมืองริยาด

ซาอุดีอาระเบียตัดความสัมพันธ์จากอิหร่าน แล้วการเมืองในตะวันออกกลางก็ถูกครอบงำด้วยความขัดแย้งของซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน

ความซับซ้อนในภูมิภาคยังเกิดจากมหาอำนาจภายนอก สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรวิจารณ์อิหร่านทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง

ตลอดช่วงทศวรรษ 2000 มีการกล่าวหาอิหร่านเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านปฏิเสธ สหรัฐอเมริกาแซงก์ชั่นอิหร่าน เป้าหมายคือ การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ยิ่งเมื่ออิหร่านมีและใช้แร่ยูเรเนียมดีขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐอเมริกาก็ยิ่งแซงก์ชั่นอิหร่าน

แน่นอน ในตะวันออกกลางยังมีรัสเซียและจีนที่แผ่อิทธิพลและถือหางชาติพันธมิตรของตน

 

การดิ้นรนของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอเมริการาบรื่นมาตลอด จนกระทั่งโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี

ซาอุดีอาระเบียขุ่นเคืองที่มีการปล่อยรายงานเชื่อมโยงมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย Mohammed bin Salman เรื่องการสังหารนักข่าว Washington Post นาย Jamal Khashoggi ซึ่งรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์เคยปกป้องการรายงานข่าวนี้

ประธานาธิบดีไบเดนตัดสินใจเผยแพร่รายงานเนื่องจากเขาเคยประกาศว่าจะเผยแพร่รายงานช่วงที่เขาหาเสียงเป็นประธานาธิบดี 20204

รัฐบาลไบเดนยังวิจารณ์ซาอุดีอาระเบียมากขึ้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งในเยเมน

ซาอุดีอาระเบียใช้กบฏ Houthi เพื่อแทรกแซงด้วยทหารของซาอุดีอาระเบียในเยเมน แต่สหรัฐอเมริกาบล็อกการจัดส่งอาวุธให้ซาอุดีอาระเบีย ด้วยเกรงจะนำอาวุธไปสนับสนุนกลุ่มกบฏ

แต่เหมือนย้อนกลับมาอีก ประธานาธิบดีไบเดนถูกกดดันให้ต้องหันมาพึ่งซาอุดีอาระเบียช่วงสงครามยูเครน ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางไปพบกับมกุฎราชกุมาร เพื่อรักษาแหล่งพลังงานและน้ำมันของสหรัฐอเมริกาในยามสงครามยูเครน

แต่มกุฎราชกุมารปฏิเสธข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีไบเดน5

 

ดุลยภาพใหม่และจีนในตะวันออกกลาง

การเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้คู่ขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียของจีน บางฝ่ายมองว่า จีนมีความเสี่ยงต่ำมาก แต่ได้รับรางวัลงดงามสูงมาก

จริงหรือไม่เราไม่ทราบ แต่ความพยายามของจีนได้เปลี่ยนโฉมหน้าภูมิรัฐศาสตร์และอาจไปไกลถึงระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง (Changing Global Order) เลยทีเดียว

เมื่อทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียร่วมกันละทิ้งอดีตของพวกเขาไว้ข้างหลัง ฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต

แล้วทั้งสองประเทศยังมุ่งมั่นเป็นสมาชิกใหม่ให้เร็วที่สุดของ Brazil Russia India China Countries – BRICs

เป้าหมายของ BRICs คือยกเครื่องระบบการเงินและเงินตราระหว่างประเทศ รวมทั้งปรารถนาสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและสมดุลมากขึ้น

BRICs แสดงบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระดับโลก และสนับสนุนเสถียรภาพทางการเงิน กลุ่มความร่วมมือ BRICs คิดเป็น 17% ของการค้าโลก และเป็น 1 ใน 3 ของ GDP โลก6

BRICs ยังให้ความสำคัญกับการลดความยากจนของโลก ท้าทายอำนาจนำ (Hegemony) ของเงินดอลลาร์ ยังมีอีกหลายประเทศ เช่น อียิปต์ยื่นความจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICs

การผนวกอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในตะวันออกกลาง ก้าวสู่การเป็นพันธมิตรในฐานะสมาชิกใหม่ของ BRICs ย่อมเสริมแรงและเร่งพลังอำนาจและอิทธิพลของพันธมิตรผ่าน BRICs อย่างไม่ต้องสงสัย

อาจกล่าวได้ว่า ภูมิภาคตะวันอออกกลางกำลังลื่นไหลไปอย่างรวดเร็วออกไปไกลจากอุ้งมือของประธานาธิบดีไบเดนและสหรัฐอเมริกา

ที่น่าสนใจสำหรับสหรัฐอเมริกา BRICs ประกอบด้วยศัตรูเฉพาะหน้าอย่างรัสเซีย

คู่แข่งที่ทรงพลังและแข็งแกร่งด้วยระบอบการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์เดียวคือจีน

บราซิลประเทศใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ที่นำโดยประธานาธิบดีผู้รักป่าและสิ่งแวดล้อม แล้วชื่นชอบประชานิยม (Populism) หัวเอียงซ้าย แล้วไม่สู้เป็นมิตรกับวอชิงตันสักเท่าไร

อินเดียชาติประชากรมากที่สุดในโลก แล้วใครๆ มองว่า อินเดียเป็นมหาอำนาจระดับกลาง (Middle Power) ที่ใกล้ชิดกับรัสเซียด้านการค้าน้ำมัน ร่วมผลิตอาวุธ ไม่หนุนรัสเซียบุกยูเครน แต่ก็ไม่ได้ประณามรัสเซีย

นี่อาจก่อเกิดโฉมหน้าใหม่แห่งภูมิรัฐศาสตร์ ข้ามภูมิภาคอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชียและตะวันออกกลาง ด้วยสมาชิกใหม่ผู้ทรงพลัง ร่ำรวยและใหญ่อย่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ท่ามกลางพลังอำนาจของสหรัฐอเมริกาสั่นคลอนลง

ไม่ควรลืมตะวันออกกลางที่เลี้ยงพลังงาน น้ำมันในสงครามยูเครน ย่อมเสริมฝ่ายตรงข้ามสหรัฐอเมริกาในสงครามยูเครนด้วย นี่คือภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนไป

1Jack Detsoh and Robbie Gramer, “Biden’s AUKUS point man to exit” Foreign Policy 10 March 2023.

2จากรายงานของสำนักข่าว Al Jazeera มีการเจรจาระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ผ่านจีนมาตั้งแต่ปี 2022 “Timeline : Iran and Saudi Arabia, from rivalry to rapprochement” Al Jazeera, 10 March 2023.

3“Bahrain, UAE and Sudan rally to Saudi side in Iran row”, Al Jazeera, 5 January 2016.

4Grace Pametta, “MBS says being accused of ordering the murder of Jamal Khashoggi…” Business Insider 4 March 2022.

5Bill Bostock, “Saudi crow prince snubbed Biden’s request’s…” Business Insider 9 March 2022.

6Ansh Pandey, “A BRICSy Middle East ! Raise and MBS join forces leaving Biden out of equation” TFIGOBAL 11 March 2023.