ขับเป้าจาก 250 มาเป็น 310 เหนือกว่า ‘แลนด์สไลด์’

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เหตุผลที่ “แลนด์สไลด์เพื่อไทย” ขับเป้าจาก 250 มาเป็น 310 จาก ส.ส. 500 คน ในข่าวที่แย้มออกมาคือเป็นไปตาม “โพลของพรรค” ขณะคำอธิบายอีกชุดหนึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนใน “เพื่อไทย” เพิ่มความทุ่มเทเพื่อปิดทางพลาดเป้า

หากมองถึงแนวโน้มทางการเมืองตามทุกมิติของการอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินจากตัวผู้สมัครที่มีแนวโน้มจะได้รับการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ จากกระแสทฤษฎีวิชาการทางการเมือง จากผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ แทบออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “เพื่อไทย” จะได้รับเลือกเข้ามามากที่สุด ทั้งในแบบ ส.ส.เขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

บ้างประเมินไว้ที่ 210 เสียง บ้างประเมินที่ 250 เสียง นั่นหมายความว่า “สิทธิ” ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตามธรรมเนียมของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ย่อมหนีไม่พ้น

และใช่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ด้วยหาก “เพื่อไทย+ก้าวไกล+ภูมิใจไทย” โอกาสที่จะได้ ส.ส.เกินกว่าครึ่งสภา หรือถึงตัวเลข 300 ขึ้นไป ย่อมง่ายดาย

 

แต่น่าแปลกไม่น้อย ที่กองเชียร์ “ลุงตู่” ยังเชื่อว่า “นายกรัฐมนตรี” จะมาจาก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งเลย

เป็นความเชื่อมั่นที่มาจาก “กลไกที่ออกแบบไว้เพื่อสนองการสืบทอดอำนาจ” ซึ่งมั่นใจกันว่าจะทรงพลานุภาพ เหนืออำนาจประชาชน สามารถจัดการได้ในทุกขั้นตอน เพื่อเปิดทางให้ “การสืบทอดอำนาจ” ประสบความสำเร็จ

มีผู้ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นนั้นดูได้จากท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และการส่งเสียงของคนในพรรคพลังประชารัฐ ต่อการที่ตำรวจราชบุรีปราบปรามผู้ที่ออกมาแสดงออกต่อต้าน “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างเอาเป็นเอาตาย

ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่นักการเมืองปกติจะแสดงท่าทีเช่นนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

แต่คนของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” เชื่อมั่นว่าท่าทีไม่ปกตินั้นจะไม่ส่งผลต่อ “การสืบทอดอำนาจ”

หากจะตีความว่า เป็น “ความเชื่อมั่นที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน แต่เป็นความมั่นใจในพลานุภาพของกลไกที่ออกแบบไว้รองรับคงไม่ผิด”

 

หากย้อนไปดูผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “คนอุดรธานี” จะเลือกพรรคไหน ที่ออกมาว่า

ในคำถาม “บุคคลที่คนอุดรธานีจะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” ร้อยละ 48.24 คือ “น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร”, ขณะที่จะเลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีแค่ร้อยละ 10.29

เมื่อถามว่า “พรรคการเมืองที่คนอุดรธานีมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตในวันนี้” ร้อยละ 61.27 ตอบว่า “พรรคเพื่อไทย” ที่ตอบว่า “รวมไทยสร้างชาติ” มีเพียงร้อยละ 7.16

เช่นเดียวกับเมื่อถามว่า “จะเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใด” ร้อยละ 61.08 ตอบว่า “เพื่อไทย” ทิ้งห่าง “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ได้แค่ร้อยละ 7.75 อย่างขาดลอย

ไม่ใช่แค่อุดรธานีที่เป็นเช่นนี้ หากย้อนไปดูการสำรวจครั้งก่อน จะเห็นว่าเมื่อรวบรวม ชั่งน้ำหนักแล้ว ไม่มีทางเลยที่ “รวมไทยสร้างชาติ” จะได้ ส.ส.มากกว่า “เพื่อไทย”

ทั้งที่ทุกคนมองเห็นว่าต้องพ่ายแพ้ แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่มีใครยืนกรานด้วยความมั่นใจได้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ซ้ำมีนักวิเคราะห์การเมืองไม่น้อยเลยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไปได้

 

คนเหล่านั้นไม่เชื่อว่า “เสียงของประชาชน” จะกำหนดว่า “ใครจะครองอำนาจ” ต่างเห็นว่า “กลไกที่ออกแบบและแต่งตั้งไว้” จะเป็นตัวกำหนดที่มีอิทธิฤทธิ์มากกว่า

แน่นอนว่าย่อมเป็นไปคนละทางกับที่ประชาชนส่วนใหญ่ปรารถนา

เพียงแต่ว่าไม่มีใครเชื่อว่า “ใครจะทำอะไรได้”

ที่สุดแล้วต้องยอมจำนนกับ “อำนาจที่เหนือกว่าอำนาจประชาชน”