วิกฤต Silicon Valley Bank จะกลายเป็นจุดเริ่มต้น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2 หรือไม่

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

วิกฤต Silicon Valley Bank

จะกลายเป็นจุดเริ่มต้น

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2 หรือไม่

 

ในยุค 5 จี โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางครั้งเร็วมากจนเราตั้งตัวไม่ทันกัน

ล่าสุด ธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา คนแห่ถอนเงินฝากจนธนาคารไม่สามารถจ่ายเงินคืนผู้ฝากเงินได้ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า “Bank run” เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา

จนสถาบันคุ้มครองเงินฝากของรัฐแคลิฟอร์เนีย (FDIC) มีคำสั่งเข้าควบคุมกิจการและสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคาร SVB

ความวัวยังไม่ทันหาย ความใหม่ก็เข้ามาแทรก ธนาคาร Signature Bank ธนาคารอันดับที่ 29 ของสหรัฐอเมริกา ปิดตัวลงตามมา

รัฐประกาศคำสั่งปิดกิจการและมีคำสั่งเข้าควบคุมกิจการเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

ข่าวการปิดกิจการของธนาคาร SVB แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง และสร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ฝากเงินธนาคารอี่นๆ ผู้คนตื่นตระหนกพร้อมที่จะถอนเงินฝากทั้งหมดจากธนาคารขนาดเล็กเพื่อย้ายไปฝากกับธนาคารขนาดใหญ่ หรือเก็บรักษาไว้กับตนเอง

เกิดภาวะ “คนแห่ถอนเงินฝาก” หรือ “Bank run”

ร้อนไปถึงธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (FED) ต้องรีบออกประกาศคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินธนาคาร SVB และธนาคาร Signature Bank เต็มจำนวน

หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกคือ คุ้มครองทุกบาททุกสตางค์ เพื่อลดความตื่นตระหนกและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงินทุกราย

สถานการณ์จึงกลับสู่ปกติ และเฟดจัดการประชุมด่วนในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ทันที

 

เรื่อง “คนแห่ถอนเงินฝาก” หรือ “Bank run” เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องธนาคารและวิกฤตการเงิน ที่เพิ่งจะได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปีล่าสุด ซึ่งมอบแก่ ดร.เบน เบอร์นันเก ดร.ดักลาส ไดมอนด์ และ ดร.ฟิลิป ดิบวิก

ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้ใช้งานวิจัยฉบับนี้อย่างรวดเร็วหลังจากพิธีมอบรางวัลเพียงไม่ถึงปี

และวิกฤตธนาคาร SVB และธนาคาร Signature Bank ในครั้งนี้ เป็นสิ่งยืนยันงานวิจัยดังกล่าวว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ “คนแห่ถอนเงินฝาก” หรือ “Bank run” รัฐต้องยื่นมือเข้าคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินทุกรายและเต็มจำนวน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากที่ธนาคาร SVB และธนาคาร Signature Bank มีการรับประกันเงินฝากไว้เพียง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ

กลไกการทำงานของธนาคาร ธนาคารทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ฝากเงินและผู้กู้ยืมเงิน

เมื่อมีผู้ฝากเงินฝาก ธนาคารจะนำเงินฝากจากผู้ฝากเงินแต่ละรายรวมกันเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ยืมเงิน ซึ่งผู้กู้ยืมเงินก็มีหลายรายเช่นกัน การปล่อยสินเชื่อจะมีทั้งสินเชื่อระยะสั้นและสินเชื่อระยะยาว ขึ้นอยู่กับโครงการที่ผู้กู้ยืมเงินจะลงทุน เมื่อใดที่ผู้ฝากเงินมีความต้องการใช้เงินฝากก็สามารถถอนเงินฝากจากธนาคารได้ทุกเมื่อ

ในภาวะปกติ ธนาคารจะมีเงินสำรองเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจของธนาคาร เพราะผู้ฝากเงินแต่ละรายมีความจำเป็นในการใช้เงินฝากของตนไม่พร้อมกัน ธนาคารจึงสามารถสร้างสภาพคล่องสำหรับรองรับการถอนเงินฝากได้อย่างเพียงพอ

 

ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ก่อตั้ง ค.ศ.1983 และเป็นธนาคารที่รับเงินฝากแห่งใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley เขตที่ตั้งของบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก รวมถึง Apple Inc. Netflix Twitter และ Meta (Facebook)

ธนาคาร SVB มุ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจสตาร์ตอัพ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูงมาก และสินทรัพย์มักอยู่ในรูปสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น มากกว่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible Asset)

ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ฝากเงินคือ กลุ่ม Venture Capital หรือที่เรียกกันว่า VC ซึ่งลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพเช่นกัน

เมื่อธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเพราะต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้น จากอดีตที่ดอกเบี้ยอยู่ในอัตราต่ำมาก 0.25% ปรับขึ้นมาที่ 4.75% ในปัจจุบัน

ฝั่งผู้ฝากเงินที่เป็นกลุ่ม VC ลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพ เมื่อสตาร์ตอัพมีกำไรลดลง ก็มีความจำเป็นต้องใช้กระแสเงินสดเพิ่มขึ้น จึงถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากเพิ่มขึ้น

และฝั่งลูกหนี้เมื่อลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้น้อยลงธนาคารก็ประสบปัญหาไม่สามารถนำเงินมาคืนผู้ฝากเงินรายอื่นๆ ได้ เกิดภาวะขาดสภาพคล่อง

และเมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป ผู้ฝากเงินก็แห่ถอนเงินจนเกิดสถานการณ์ “คนแห่ถอนเงินฝาก” หรือ “Bank run” ในที่สุด

 

ธนาคาร Signature Bank ก่อตั้ง ค.ศ.2001 มุ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ผู้มีฐานะดี ในปี 2018 ได้เริ่มต้นให้สินเชื่อเกี่ยวกับธุรกิจคริปโตเคอเรนซี จนกระทั่งในปี 2021 ธุรกิจคริปโตเคอเรนซีมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 30 ของเงินฝากทั้งหมด เมื่อตลาดคริปโตเคอเรนซีมีความผันผวนจึงส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร

ซึ่งเมื่อย้อนพิจารณาต้นเหตุของปัญหาครั้งนี้พบว่า การบริหารความเสี่ยงของธนาคารเองที่ทำได้ไม่ดีพอ เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นจึงแสดงผลออกมาอย่างรวดเร็ว

เมื่อเกิดปัญหาธนาคารกลางสหรัฐเดินนโยบายตามตำราเป๊ะ คือรีบเข้ารับประกันเงินฝากเต็มจำนวนเพื่อให้ประชาชนคลายกังวล แต่การช่วยเหลือผู้ฝากเงินจากธนาคารล้มเป็นเพียงการช่วยเหลือธนาคารที่ตายแล้วเท่านั้น ยังคงมีธนาคารอีกมากมายอยู่ในอาการโคม่า และต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

ล่าสุดเฟดประกาศตั้งกองทุน จำนวน 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือธนาคารที่ประสบปัญหา

 

สําหรับวิกฤตธนาคาร SVB นี้ ยังไม่ใช่บทสรุปสำหรับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ เป็นเพียงปฐมบทของวิกฤตการณ์

เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์วาณิชธนกิจ เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ล้มลงใน ค.ศ.2008 เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เฟดจะดำเนินนโยบายแก้ไขวิกฤตครั้งนี้อย่างไร ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจถดถอยยังไม่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

วิกฤตการณ์ธนาคาร SVB ครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ใน ค.ศ.2008 เพราะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น เกิดจากกลุ่มซับไพรม์ หรือกลุ่มแรงงานระดับล่าง

แต่วิกฤตธนาคาร SVB ครั้งนี้ เกิดจากธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินเอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ.2540 คือเกิดความเสียหายจากบนลงล่าง

 

สําหรับประเทศไทย

แม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

แต่คงเป็นสัญญาณเตือนที่ดีสำหรับการตั้งรับปัญหาแต่เนิ่นๆ จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น

ส่งผลให้ลูกหนี้ในประเทศมีความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง

ประกอบกับนโยบายพักชำระหนี้ช่วงโควิดหมดไปได้ไม่นาน จะส่งผลให้สถิติยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ปรับตัวสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด

ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างหนัก

ปีกระต่ายช่วงต้นปีนี้ เศรษฐกิจยังไม่ดีแน่นอน ฟันธง!