จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 ส.ค. 59

มีคำถาม

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ทหารได้นำตัวชาย 13 คน หญิง 2 คน รวม 15 คน ไปยังกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องหาในนามพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย มีความผิดร่วมกันเป็นอั้งยี่ และร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ โดยเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2558 ถึงเดือนมิถุนายน 2559

การติดตามจับกุมกลุ่มบุคคลทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังที่มีการวางระเบิด 7 จุดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้

และได้มีการให้ข่าวไปในทำนองว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุวางระเบิด

จากการสังเกตและพูดคุยกับผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าวเบื้องต้นพบว่า

มีผู้มีอายุระหว่าง 61-70 ปี จำนวน 9 คน

อายุระหว่าง 50-60 ปี จำนวน 5 คน

อายุต่ำกว่า 50 ปี จำนวนเพียง 3 คน

มีผู้ต้องหาอย่างน้อยสามรายเป็นโรคต่อมลูกหมากโต

อีกอย่างน้อย 6 รายเป็นความดันโลหิตสูง สองคนเป็นโรคเกาต์ หนึ่งคนเป็นโรคเบาหวาน และอีกหนึ่งคนมีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ

ผู้ต้องหาหญิงหนึ่งรายที่เป็นชาวมุสลิมได้ร้องขอให้ทางราชทัณฑ์อนุญาตให้สวมเครื่องแต่งกายตามหลักการศาสนาและสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นอย่างมาก ว่า

1. ใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคลทั้ง 15 คนห้ามเยี่ยมจากญาติ เป็นการกระทำไปโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือไม่?

2. การที่ทหารให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในลักษณะที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งมีแนวคิดและความเชื่อทางการเมืองต่างจากรัฐบาล เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดและวางเพลิงในเจ็ดจังหวัดภาคใต้ เป็นการให้ข่าวมุ่งที่จะทำให้สังคมเกิดความสงสัย หวาดระแวงและเกลียดชังกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองของคนในชาติอีกด้วย หรือไม่?

3. การตั้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร เป็นการแก้เกี้ยว หลังไม่มีพยานหลักฐานว่าคนทั้ง 15 คนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดและวางเพลิงหรือไม่?

4. การตั้งข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเป็นเพียงวิธีการในการใช้อำนาจของทหารเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นต้องตกอยู่ในอำนาจของการพิจารณาคดีของทหารหรือไม่?

5. การสืบสวนกรณีวางระเบิดและวางเพลิงในเจ็ดจังหวัดภาคใต้ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีความรู้ความชำนาญในการสืบสวนสอบสวนมากกว่าหรือไม่?

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาทั้ง 15 คน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กรณี นปป. 15 คนที่วันนี้ได้ประกันตัวแล้ว

มีอะไรน่าสงสัยอยู่มาก

รวมถึงเหตุระเบิดที่ภาคใต้

ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ สามารถจับคนร้ายได้ “จริงๆ” เถิด

ทุกอย่างจะได้คลี่คลาย

ไม่มีคำถามอย่างที่ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ถาม

ประณาม

แอมเนสตี้ชี้เหตุระเบิดในไทยเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายและไม่เคารพสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งโจมตีแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ของไทยตั้งแต่เมื่อคืนที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ถือเป็นการใช้ความรุนแรงที่เลวร้าย

ควรต้องมีการสอบสวนอย่างเต็มที่ และนำตัวผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

จากเหตุระเบิดสี่ครั้งในเขตเทศบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหลายจุดในจังหวัดภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งในจังหวัดตรัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่คนและได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

แชมพา พาเทล (Champa Patel) ที่ปรึกษาอาวุโสงานวิจัย สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย

และกระทำด้วยความจงใจเช่นนี้ถือเป็นการไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีชีวิต

การใช้ความรุนแรงเช่นนี้แสดงถึงการไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง

ต้องมีการนำตัวผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและมีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้มีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม สอดคล้องกับพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีเหล่านี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

อี-เมลนี้มาเมื่อ 12 สิงหาคม 2559

บอกไว้เป็นหลักฐาน

เพื่อยืนยัน ให้คนฟากรัฐบาลที่ส่งเสียง เอ็นจีโอ หายไปไหน

ได้สบายใจ ว่า พวกสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ตำหนิรัฐบาลข้างเดียว–แฮ่ม

ใครใช้ความรุนแรงไม่เหมาะสม

ต้องร่วมประณาม

ตั้งข้อสังเกต

บ.ก. เคยสังเกตไหมว่า

สัตว์ดุร้าย เช่น เสือ งู

มันจะขู่หรือทำร้ายเรา เพราะ “กลัว” หรือ “ระแวง” ภัยที่จะมีต่อมัน

ฉันใดฉันนั้น มนุษย์ที่เที่ยวข่มเหง ข่มขู่มนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะถ้าพบในผู้ที่มีอาวุธ ก็เป็นเพราะ “ความขลาดกลัว” นั่นเอง

ไม่ใช่ “ความกล้า” เพราะกลัว แม้กระทั่งนิ้ว กระดาษ สัญลักษณ์ ฯลฯ เป็นลักษณะของความกลัวแบบ PHOBIA ที่ต้องรับการบำบัด

ฉะนั้น หากเราไม่กลัว และใช้ความสงบนิ่ง สมอง และปัญญา ที่เหนือกว่า แม้ปากกาก็สามารถ “ฆ่าสิ่งเลวร้ายได้โดยไม่ต้องใช้วิถีแห่งความรุนแรง”

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะขอฝากไปถึงผู้ใหญ่ทั้งหลายว่า อย่าไปต่อว่าเด็กที่มันตีรันฟันแทง หรือใช้วิถีแห่งความรุนแรงเลย

ในเมื่อรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ยังเลือกการแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม

ฝากมาด้วยใจรักและอย่าเอาไปตีความซื้อหวย

ศ.เกษียณ

เสือ มี 4 ขา

งูไม่มีขา เท่ากับ 0

งวดนี้ 40 (ฮา)

ตีหวยขัดคำสั่ง ศ.เกษียณ เสียหน่อย

ท่านคงไม่ “ดุ” และ “ขู่” มั้ง