E-DUANG : “บทเรียน” จากปัญหาราคา “ยาง”

กระบวนการแก้ปัญหา “ยางพารา” โดยการเชิญแกนนำเกษตรกรเข้า “ปรับทัศนคติ” ได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งอันแหลมคม

แหลมคมในทาง “ความคิด”

แหลมคมในทาง “การปฏิบัติ”

ไม่เพียงแต่บรรดาแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้นที่ได้ประสบด้วยตนเอง

หากแต่ยังเป็น “อนุสติ” อันทรงพลัง

คำถามอันตามมาโดยอัตโนมัติก็คือ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรเป็นปัญหาอะไร

เป็นปัญหาเศรษฐกิจ หรือ ปัญหาการเมือง

คำเตือนจากคสช.ที่ว่า อย่าขยายปัญหาเศรษฐกิจให้เป็นปัญ หาการเมืองจึงสำคัญ

 

นับแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา แนวทางเรียกตัวเข้าค่าย “ปรับทัศนคติ” เป็นแนวทาง 1 ที่ได้รับความนิยม

ในเบื้องต้น ก็เข้าจัดการกับปัญหาทางการเมือง

เห็นได้จากในกรณีมีคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ถามว่ามีปัญหาทางด้าน “เศรษฐกิจ” ดำรงอยู่หรือไม่

คำตอบในห้วงแห่งการปรับครม. “ใหญ่” ไม่ว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ไม่ว่าที่กำลังเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเด่นชัดว่าเนื่องแต่ปัญหา “เศรษฐกิจ” มากกว่าปัญหา “การเมือง”

เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดีจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพผู้บริหารในกระทรวงเศรษฐกิจ

ดังที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตกเป็น “เป้า”

 

แม้การเรียกตัว “แกนนำ”เข้าค่ายทหารเพื่อ”ปรับทัศนคติ”จะสยบปัญหาลงได้แต่ก็เป็นเพียงระยะหนึ่ง

เนื่องจาก “ปัญหา” แท้จริงยังคงอยู่

คงอยู่เหมือนก่อนเดือนสิงหาคม 2558 คงอยู่เหมือนก่อนเดือนพฤศจิกายน 2560

สะท้อนว่า “ปรับทัศนคติ” มิได้แก้ปัญหา

ตรงกันข้าม กลับเป็นกระบวนการกลบและปัดปัญหาที่เป็นจริงออกไป ไม่ว่าปัญหาการเมือง ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ

ดังที่เกษตรกรชาวสวนยางประสบอยู่