ลมเปลี่ยนทิศ ‘กปปส.’ เทกโอเวอร์ ‘ปชป.’ ของจริงหรือฝันกลางวัน?

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ และคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว. ซึ่ง คสช. แต่งตั้ง 250 คนมีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านประชามติ เป็นที่แน่นอนว่าการเมืองไทยต้องเดินหน้าตามกติกาใหม่นี้ ทิศทางข่าวสารการเมืองก็เปลี่ยนจากการจับจ้องผลประชามติมาเป็นเกมการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่

การร่างกฎหมายลูก ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังคงเต็มไปด้วยข่าวลือ “เซ็ตซีโร่” ให้พรรคการเมืองจดทะเบียนกันใหม่ เริ่มนับ 1 กันใหม่ เพราะจนถึงเวลานี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ฟันธง

แต่อีกประเด็นที่วงการเมืองวิเคราะห์กันคือ “ช่องทางเลือกนายกฯ คนนอก”

ซึ่งหากดูตามร่างรัฐธรรมนูญแล้วต้องบอกว่าไม่ง่าย ตามร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงซึ่งผ่านประชามติไปนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อเลือกนายกฯ ตามบัญชี

แต่ถ้าเลือกกันไม่ได้ ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ต้องให้เสียง ส.ส.กึ่งหนึ่งหรือ 250 คนเสนอต่อประธานรัฐสภาให้มีมติยกเว้นไม่ต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่เสนอมา

จากนั้นจึงจะใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ยกเว้นข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเปิดช่องเลือกนายกฯ คนนอก

แม้ล่าสุด สนช. บางส่วน เสนอว่า ในการประชุมนัดแรกเพื่อร่วมกันลงมติเลือกนายกฯ หากเลือกไม่ได้ ควรให้รัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ลงมติ 2 ใน 3 (500 จาก 750) เสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้เลย ซึ่งเท่ากับลดขั้นตอน ทำให้โอกาสเลือกนายกฯ คนนอกทำได้ง่ายขึ้น

แต่ด้วยแรงกดดันว่าจะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าโอกาสจะเกิดขึ้นคงลำบาก

นักวิเคราะห์มองว่า อิทธิพลของ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. 250 คน จะลดลงทันที หาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์จับมือกันได้ และใช้ความเป็นทิศทางเดียวกันของ 2 พรรคใหญ่รวมเสียง ส.ส. ให้ได้ไม่น้อยกว่า 376 เสียง จากเสียง ส.ส. ทั้งหมด 500 เสียง ถ้ารวมได้

อิทธิพลของ ส.ว. จะลดลงอย่างมากทันที เว้นแต่ กรธ. และศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้ ส.ว. มีสิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA
AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ด้วยเหตุนี้กระแสข่าวยึดพรรคประชาธิปัตย์เพื่อควบคุมพรรคเก่าแก่แห่งนี้ไม่ให้ไปจับมือกับขั้วเพื่อไทยจึงมีขึ้นต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อผลประชามติของคนใต้และพื้นที่ฐานเสียงอื่นๆ ของพรรคออกมาสวนทางกับจุดยืนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค หันไปเทคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ กปปส. นำโดยลุงกำนันสุเทพ เชียร์สุดหัวใจ ข่าวลือว่าผู้มีอำนาจจะส่ง กปปส. มายึดพรรคประชาธิปัตย์ จึงอยู่ในกระแสและวงวิเคราะห์การเมือง

จากการพูดคุยกับแกนนำหัวแถวของ กปปส. เปิดเผยว่า ยังมีความสนิทสนมกับเพื่อนๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เหินห่างไปไหน ตอนนี้กติกาการเมืองใหม่เริ่มชัด แกนนำ กปปส. หลายคน ยกเว้นกำนันสุเทพ ก็ตัดสินใจคิดจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกเพื่อสานต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปต่างๆ

และตอนนี้แกนนำ กปปส. หลายคนก็ยื่นใบสมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว รอเพียงการตอบรับจากกรรมการบริหารพรรค ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ได้เพราะติดคำสั่ง คสช.

แกนนำคนสำคัญของ กปปส. ผู้หนึ่ง ยืนยันว่าจุดยืนที่ต่างกันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง กปปส. กับพรรคประชาธิปัตย์แย่ลง

 

ส่วนกรณีที่ นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาไล่ กปปส. ที่รับร่างรัฐธรรมนูญออกจากพรรค ก็เป็นเรื่องตัวบุคคล ขณะที่ลูกหมี ชุมพล จุลใส แกนนำ กปปส. เจ้าของพื้นที่ชุมพร ก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้ให้เรื่องบานปลาย

เมื่อถามตรงๆ ถึงกระแสข่าวที่ กปปส. จะยึดพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ กปปส. คนสำคัญ หัวเราะ ก่อนตอบว่า ก็พูดกันไป “ประชาธิปัตย์ยึดโดยใครไม่ได้ มันมีที่ประชุมใหญ่พรรค มีกระบวนการพรรค กปปส. ก็ไม่คิดจะไปทำอะไรแบบนั้น จินตนาการบางทีก็เหมือนฝันกลางวัน และ กปปส. ไม่มีแนวคิดตั้งพรรคใหม่”

“คิดว่าหลายคนใน กปปส. ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งลง ก็คงไม่ลงกับพรรคอื่น กปปส. ซื่อสัตย์กับประชาธิปัตย์” แกนนำ กปปส. ผู้นี้กล่าว

 

เมื่อถามถึงโอกาสที่หากสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อนายกฯ ไม่ถูกใจ ส.ว. ก็จะตั้งนายกฯ ไม่ได้ ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แกนนำ กปปส. มองว่า กระบวนการรณรงค์ตอนเลือกตั้งมันเสมือนสัญญาประชาคมที่จะให้คนที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่ถ้าถึงเวลาเกิดไปหักสัญญาประชาคมก็ไม่ง่าย ถ้ามองแยกส่วนอาจสู้พรรค ส.ว. ไม่ได้ แต่มองว่า ส.ว. จะรู้บทบาทหน้าที่ว่าตนไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ มีสิทธิแค่เลือกตามเสียงข้างมาก

 

ส่วนโอกาสเปลี่ยนหัวจากเดอะมาร์ค เป็น “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ตามที่มักปรากฏออกตามข่าวนั้นโอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะ ดร.สุรินทร์ ยังไม่สามารถทำให้แกนนำพรรคบางส่วนยอมรับได้

แม้แกนนำ กปปส. จะยืนยันหนักแน่นว่าไม่เคยมีแนวคิดยึดพรรคประชาธิปัตย์ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของ กปปส. มีผลโดยตรงต่อทิศทางพรรค

ย้อนไปช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะประกาศไม่ลงเลือกตั้งครั้งดังกล่าว มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคซึ่งประชุมเลือกตั้งกันวันที่ 17 ธันวาคม 2556

ในเวลานั้นมีการวิเคราะห์กันว่าหากโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีปีกอดีต ส.ส. ของกำนันสุเทพ มากกว่าปีกฝั่งอภิสิทธิ์ โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะไม่ลงเลือกตั้งจะมีมากขึ้น แม้ผลการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคในเวลานั้นปีกของกำนันสุเทพและอภิสิทธิ์จะมีในสัดส่วนที่พอกัน แต่อิทธิพลของ กปปส. ในเวลานั้นทั้งบนถนนและในพรรคสามารถทำให้ประชาธิปัตย์ประกาศไม่ลงเลือกตั้งได้

ดังนั้น หากการเลือกตั้งตามกติกาใหม่มีขึ้น จึงน่าจับตาว่า “แกนนำ กปปส.” ที่จะพาเหรดกันเข้ามาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ จะส่งผลต่อทิศทางของพรรคสีฟ้ามากน้อยแค่ไหน และโอกาสที่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะจับมือกันเพื่อคานอำนาจ ส.ว. จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2560 ทั้งประชาธิปัตย์ และ กปปส. จึงเป็นตัวแปรสำคัญไม่แพ้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557