กรมโรงงานฯ ยุค ‘จุลพงษ์’ ฟันกิจการเย้ย กม. ทำร้าย ปชช.-สวล. เช็กแอนด์บาลานซ์ ต้องมาตรฐานเดียวกัน

บทความเศรษฐกิจ

 

กรมโรงงานฯ ยุค ‘จุลพงษ์’

ฟันกิจการเย้ย กม. ทำร้าย ปชช.-สวล.

เช็กแอนด์บาลานซ์ ต้องมาตรฐานเดียวกัน

 

พลันที่ “จุลพงษ์ ทวีศรี” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมือวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบันรวมกว่า 5 เดือน

ด้วยความเป็นลูกหม้อกรมโรงงานฯ วางโครงสร้างหลายๆ อย่างไว้ การกลับมาบริหารกรมครั้งนี้จึงเข้มข้น เจ้าหน้าที่และโรงงานที่เกเร จึงปาดเหงื่อกันเป็นแถวๆ

เจ้าตัวระบุถึงภารกิจเร่งด่วนของกรมโรงงานฯ ว่า นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้เน้นย้ำให้กรมเดินหน้าปฏิรูปกฎหมาย ถ้าออกมาแล้วทำโทษคนทำดี ไม่ควรทำ

หรือกฎหมายอะไรที่ออกมาแล้วซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น กระทรวงอื่น ต้องไม่ทำเช่นกัน เพราะจะเกิดปัญหาใครจะเป็นเจ้าภาพ

ดังนั้น ควรใช้วิธีแชร์ข้อมูล

ขณะเดียวกันจะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด จะเริ่มจากกฎหมายกากอุตสาหกรรม ปรับใหม่ทั้งหมด อันไหนซ้ำซ้อน ไม่จำเป็น จะปรับใหม่ทั้งหมด ลดภาระการรายงานซ้ำซ้อนของผู้ประกอบการ และจะใช้อิเล็กทรอนิกส์กำกับ

ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 กระบวนการที่เกี่ยวกับการทำงานของกรมจะต้องเป็นดิจิทัลทั้งหมด

ปีงบประมาณ 2567 กรมจึงขออนุมัติงบประมาณ 150 ล้านบาท พร้อมปรับลดงบประมาณส่วนอื่น เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

และยังได้งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เป็นงบฯ บูรณาการ 20 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการจัดการกากผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

 

ต่อมาคือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จัดการโรงงานที่เกเร ผู้ที่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล เบื้องต้นได้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน ระหว่างนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเน้นใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดผล เกิดประสิทธิภาพ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ดังนั้น ภารกิจด่วนจึงมุ่งไปที่การกำกับดูแลโรงงานกว่า 73,000 โรงงานทั่วประเทศ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน ทั้งด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม หลังออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานแล้ว ผู้ประกอบการต้องไม่สร้างความเดือดร้อนกับชุมชน แต่ที่ผ่านมาพบโรงงานหลายแห่งถูกร้องเรียนซ้ำซาก มีไม่ถึง 1% เป็นส่วนน้อยของคนที่ทำดี

“กรมในยุคผมจะจัดการกับคนไม่ดี คนเกเร อย่างจริงจัง แต่เราไม่เพิ่มภาระคนดี ไม่ออกกฎหมายมาเพิ่มภาระในภาพรวม แต่จะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง บูรณาการร่วมกับทุกฝ่าย ไม่ให้โรงงานใหม่ถูกต่อต้านจากประชาชน”

ด้วยโครงสร้างการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ทำให้ปัจจุบัน กรมมีหน้าที่ออกใบอนุญาตโรงงานหรือ ร.ง.4 ตั้งแต่ 500 แรงม้าขึ้นไป แต่มีอำนาจตรวจสอบ กำกับดูแล 5,200 โรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยบางส่วน

ศักยภาพการตรวจสอบโรงงานทั้งหมดของกรมจึงใช้เวลาถึง 5 ปีจะครบทั้ง 73,000 โรงงาน เรื่องนี้จึงต้องกลับมาดูจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้กรมกำกับดูแลโรงงานทั้งประเทศได้มีศักยภาพและใช้เวลาลดลง

 

อีกภารกิจคือ งานส่งเสริม 2 เรื่อง คือ

1. พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อให้เจ้าของโรงงาน หรือผู้ประกอบการนำไปเป็นหลักทรัพย์กู้สินเชื่อ

และ 2. ส่งเสริมผ่านทาง พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ด้วยการออกระเบียบเพื่อพัฒนาโรงงานไปสู่มาตรฐาน

ขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างกรมให้รองรับ พัฒนากำลังคน เพิ่มเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ การทำงานยุคนี้จะไม่ยอมให้นั่งอ่านเอกสารอยู่ในกรมอีกต่อไป รวมทั้งเช็กแอนด์บาลานซ์ เพราะพบว่าโรงงานประเภทเดียวกันแต่อยู่คนละจังหวัด กลับมีมาตรการกำกับดูแลต่างกัน ดังนั้น ถึงเวลาต้องออกไปเช็กแอนด์บาลานซ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีดับเบิล สแตนดาร์ด หรือทริปเปิล สแตนดาร์ดอีก เพื่อลดความเสียหายให้กับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการประกอบกิจการที่สอดรับโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโอ อีโคโนมี) เศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี) และเศรษฐกิจสีเขียว (กรีน อีโคโนมี) หรือบีซีจี โดยกรมจะเน้น 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

โดยเซอร์คูลาร์ เกี่ยวกับของเสีย ปัจจุบันมีของเสียประมาณ 808 รายการ ครึ่งหนึ่งเป็นของเสียอันตราย แต่อีกครึ่งหนึ่งไม่ใช่ ตอนนี้มีการคัดเลือกแล้วบางส่วนว่าจะเริ่มทำตัวไหนดี

ขณะที่กรีน อีโคโนมี จะเน้นดูแลชุมชน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เข้าสู่ตลาดโลกต้องดูแลชุมชน ลด/เลิกการปล่อยคาร์บอน จะจัดทำกรีนจีดีพี เปลี่ยนข้อกำหนดใหม่ให้ทุกเรื่องที่ทำต้องวัดค่ากรีนจีดีพีได้

 

สําหรับปัจจัยเสี่ยงต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งปัญหาโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้จะเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมไทย ส่งผลให้ต้นทุนผลิตแพงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นโอกาสของไทย เพราะจะมีการย้ายฐานผลิตมายังภูมิภาคที่สงบ ปัจจัยเอื้อลงทุน ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย

ดังนั้น บทบาทของกรมโรงงานต้องช่วยผู้ประกอบการแข่งขันได้ แก้ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่เป็นปัญหา อำนวยความสะดวก สนับสนุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่ปัจจุบันไทยพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว

ส่วนประเด็นต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลังงานราคาแพง อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอาจไม่เท่ากัน แต่ทุกโรงงานได้รับผลกระทบหมด

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ทันทีคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร เรื่องนี้สำนักงานจดทะเบียนเครื่องจักร ได้ประสานงานกับธนาคารหลายแห่งสนับสนุนดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ทำให้ต้นทุนพลังงานลดลง

อธิบดีจุลพงษ์ทิ้งทิ้ายว่า “กรมคงไม่สามารถทำให้ราคาพลังงานลดลงได้ แต่ช่วยเรื่องการผลิตและใช้ไฟฟ้าให้น้อยลงได้ พร้อมหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาทดแทน อาทิ โซลาร์ ร่วมมือกับธนาคารสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ”