‘ขอ-ถอน’ หมายจับ ส.ว.คนดัง ทุกคนเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย?

สะเทือนตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ

กรณีเอกสาร 7 หน้า แบ่งเป็น 27 ข้อ ว่อนโชเชียล ชี้แจงข้อเท็จจริงการร้องขอออกหมายจับ ส.ว.คนดังแล้วเพิกถอนในเวลาต่อมาวันเดียวกัน ของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท ส่งถึง ก.ต.บางคน

พ.ต.ท.มานะพงษ์ยอมรับว่าเป็นเอกสารจริง ระบุว่า “กังวลใจบ้าง แต่ความรู้สึกก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร”

สรุปใจความของเอกสารดังกล่าว “สารวัตรมานะพงษ์” เล่าถึงเหตุการณ์ขอหมายจับว่า เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงานเป็น สว.กก.สส.2 บก.สส.บช.น. โดยการเพิกถอนหมายจับครั้งนั้น อ้างว่า ส.ว.รายนี้เป็นบุคคลสำคัญ จึงเชื่อได้ว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และเปลี่ยนเป็นออกหมายเรียกภายใน 15 วันแทน

แต่จากเดือนตุลาคม 2565 จนขณะนี้ที่ปิดสมัยประชุมสภาแล้วก็ยังไม่มีการออกหมายเรียก

การประวิงเวลาการดำเนินคดี ส.ว.คนนี้เกิดผลเสียหายต่อความศรัทธาประชาชนในกระบวนการยุติธรรม

และการเพิกถอนหมายจับด้วยเหตุผลว่าผู้ถูกออกหมายจับ เป็นบุคคลสำคัญ เป็นการทำลายหลักการที่ว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย

 

พ.ต.ท.มานะพงษ์ระบุว่า ภายหลังการจับกุม ตุน มิน ลัต พร้อมพวก 4 คน เมื่อ 17 กันยายน 2565 ตามหมายจับศาลอาญาในความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน หลังจากควบคุมตัวไว้ 3 วัน ผู้ถูกจับบางส่วนได้สมัครใจให้การว่า มี ส.ว.คนดังเกี่ยวข้องขบวนการ พร้อมแสดงหลักฐาน จึงได้จัดทำเอกสารพยานหลักฐานประกอบคดี

ต่อมา กก.สส. 2 บช.น. เห็นควรดำเนินคดี ส.ว.คนนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานชัดแจ้ง

โดยยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับ 3 ตุลาคม 2565

ผู้พิพากษาเวรเรียกเขาไปไต่สวน เวลา 11.00 น. และได้อนุมัติหมายทั้งหมายจับและหมายค้นตามคำขอ ซึ่งเป็นการดำเนินการนอกสมัยประชุมสภา เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

ต่อมาเวลา 13.30 น. วันเดียวกันได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลให้นำหมายศาลฉบับจริงกลับไปที่ศาลอาญา และให้ไปพบผู้บริหารศาล ซึ่งกำลังโทร.ไปหานายตำรวจระดับสูง เพื่อสอบถามเหตุใดจึงขอศาลออกหมายจับ ส.ว.

ตัวเองจึงได้ชี้แจงว่าหลักฐานเพียงพอ

ต่อมาผู้บริหารคนดังกล่าวพูดทำนองว่า เหตุใดจึงได้มาขอออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภา และหาว่าตนจะล้มอำนาจนิติบัญญัติของประเทศ

นอกจากนี้ ยังต่อว่าเป็นตำรวจที่ไม่มีวินัย ไม่แต่งเครื่องแบบตำรวจมาพบผู้พิพากษา ไว้ผมรองทรงยาวกว่าตำรวจทั่วไป ซึ่งเจ้าตัวตอบว่า ทำงานภาคสนามตัดผมสั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

หลังจากนั้น ยังต่อว่าใช้ดุลพินิจไม่ชอบในการออกหมายจับ ส.ว.ที่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

 

ต่อมาเมื่อปรากฏเป็นข่าว คนในสังคมตั้งคำถาม “ระบบ” ว่าฟอนเฟะขนาดนี้หรือ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. จึงสั่งการให้จเรตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริง

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. ให้ข้อมูลว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 และ บช.ปส. เห็นว่าเป็นเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงเสนออัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

ต่อมา อสส.เห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา จึงมอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวน มีพนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนด้วย

 

พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 บช.ปส. ได้ไขข้อข้องใจกรณีศาลให้พนักงานสอบสวนไปออกหมายเรียก ส.ว.คนดังภายใน 15 วัน แล้วเหตุใดยังไม่ออกสักทีว่า คณะทำงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานในสำนวนหลายประการยังไม่สมบูรณ์ มีเอกสารที่ไม่ใช่ภาษาไทยมากกว่า 1,000 แผ่น และ อสส.ยังมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในสำนวนที่ 1

ซึ่งรายละเอียดพยานหลักฐานเกี่ยวพันกับผู้ต้องหาในสำนวนที่ 2 รวม 4 ประเด็นด้วย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายประเด็น แต่ยังเหลือประเด็นที่สำคัญที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ

ขณะเดียวกันมีความจริงอีกด้านให้พิจารณา คือรายงานการประชุมการปฏิบัติงาน กองกำกับการสืบสวนสอบสวน 2 (กก.สส.2) ซึ่งเป็นชุดทำคดี ส.ว.คนดัง ภายใต้การควบคุมกำกับ พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผกก.สส.2 ที่ต่อมามีคำสั่งโยกย้ายพร้อม พ.ต.ท.มานะพงษ์ รวมทั้ง พ.ต.ท. และ พ.ต.ต. อีก 2 นายนั้น

ปรากฏใจความว่า การประชุมวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.กก.บช.น. ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวว่า คดี “ตุน มิน ลัต” เกิดเมื่อ 17 กันยายน 2565 ก่อนที่จะมารับตำแหน่งในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ปรากฏว่าวันที่รับตำแหน่ง พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ไม่อยู่ในพิธีการรับตำแหน่งและรับมอบนโยบาย แต่ช่วงเย็น พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ได้มาพบแล้วได้รายงานให้ทราบว่าได้ขออนุมัติหมายจับ ส.ว.คนดัง ที่ศาลอาญา และได้นำเรียน พล.ต.ต.ธีรเดช เพื่อพิจารณา

ปรากฏว่า พล.ต.ต.ธีรเดชกล่าวว่า คดีใหญ่บุคคลสำคัญแบบนี้ทำไมไม่รอรายงานผู้บังคับบัญชาก่อน เพราะถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในตำแหน่งหน้าที่ของประเทศ

พ.ต.อ.กฤศณัฎฐ์ยอมรับว่าไม่ได้ขออนุมัติ พร้อมกล่าวต่อว่า วันนั้นหลังจากได้หมายจับแล้ว ปรากฏว่าศาลได้เรียกกลับอีกรอบ เพื่อแจ้งให้ถอนหมายจับ เนื่องจาก ส.ว.คนดัง เป็นคนสำคัญ และให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกตามขั้นตอนกฎหมาย

 

ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว การเสนอหมายจับนั้น พนักงานสอบสวน ทั้ง ผบก.หรือ ผกก.ขอจากศาลได้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ชอบด้วยระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกระบวนการขออนุมัติหมายจับจากศาล

ทั้งนี้ ระเบียบให้แจ้งผู้บังคับบัญชาก่อน เพื่อเป็นการรับรองให้ศาลมีความมั่นใจว่าได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ไม่ใช่การกลั่นแกล้งทางการเมือง อีกทั้งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอีกด้วย เนื่องจากขณะนั้นผู้บังคับบัญชายังไม่ได้ลงประจำวันรับตำแหน่ง

อีกทั้งเมื่อเกิดเอกสารหลุดอีกปรากฏว่าตำรวจได้รับการตำหนิเป็นชนวนความขัดแย้งในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการชุดปฏิบัติงานในการปราบปรามอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมพิเศษ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565-15 มกราคม 2566 ของ บก.สส.บช.น.

เป็นไปได้หรือไม่ว่า นำมาสู่คำสั่งเด้ง 4 นายตำรวจนั้น?

เพราะพบว่า กก.สส.2 ที่ พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์เป็นหัวหน้า มีผลงานการปฏิบัติรวมต่ำกว่า 2 ชุด คือ กก.สส.1, 3 อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วน กก.สส.4 นั้น เป็นภารกิจติดตามบุคคลเคลื่อนไหวและเป็นภัยความมั่นคง ไม่สามารถประเมินร่วมได้

 

ล่าสุดเพื่อขจัดความเคลือบแคลง นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟังข้อเท็จจริงมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริง แล้วให้รายงานภายใน 30 วัน

โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง ขอความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อจะพิจารณามีคำสั่งต่อไป

ถือว่าแต่ละองค์กรได้ตรวจสอบและปัดกวาดบ้านตัวเอง ก่อนความน่าเชื่อถือต่อ “ระบบ” จะพังลง แล้วประโยคที่ว่า “ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย” ไม่เคยมีอยู่จริง