จาก “บ้านศาลาแดง” มาเป็นโรงแรมดุสิตธานี โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น

ปริญญา ตรีน้อยใส
ดุสิตธานี ก่อนมีรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งผ่าน

พาไปมองย่านศาลาแดง และบ้านศาลาแดง มาแล้วหลายฉบับ ด้วยสถานที่แห่งนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน จากอดีตมาถึงปัจจุบัน และจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ด้วยความใหญ่โตและพื้นที่กว้างขวางของบ้านศาลาแดง ผู้ครอบครองมีทั้งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ในครั้งแรก และเจ้าพระยายมราช ในเวลาต่อมา ล้วนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับสูง

เช่นเดียวกับย่านศาลาแดง ทำเลที่ตั้งเดินทางสะดวกทั้งทางน้ำ ทางดิน และรถไฟในอดีต ล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

ระหว่างที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ย้ายออกจากบ้านศาลาแดง ในปี พ.ศ.2451 มีการสำรวจหาสถานที่สำหรับเป็นที่ตั้งของสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทยในปัจจุบัน)

นายพลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ก็ได้เสนอบ้านศาลาแดง ด้วยเหตุผลว่า มีตึกใหญ่สง่างาม พื้นที่กว้างขวาง พอที่จะทำการได้ดี และอวดต่างประเทศได้

แต่ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินฝั่งตรงข้ามบ้านศาลาแดง บริเวณหลังสถานีรถไฟศาลาแดง เพื่อให้เป็นที่ตั้งของสภาอุณาโลม ด้วยมีวิสัยทัศน์ว่า ต่อไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะใหญ่โตในปัจจุบัน

 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คนในครอบครัวเจ้าพระยายมราช ได้ย้ายไปอยู่ในสวนฝั่งธนบุรี กองทัพญี่ปุ่นจึงได้เข้าใช้ตึกใหญ่ของบ้านศาลาแดงเป็นที่บัญชาการของหน่วยสารวัตรทหารเคมเปไต รวมทั้งเรือนหลายหลังเป็นบ้านพักนายทหาร

หลังสงคราม แม้จะมีการโยกย้ายกลับมาอยู่บ้านศาลาแดงอีกครั้ง แต่อาคารบางส่วนยังว่าง จึงมีการใช้อาคารหลังที่อยู่ริมถนนสีลม เป็นที่ตั้งของสมาคมนักเรียนเก่าภาคพื้นยุโรป

ในปี พ.ศ.2491 แพทยสมาคม ได้เจรจาขอเช่าบางส่วนของบ้าน เป็นที่ทำการ

แต่สมาชิกเห็นว่า ที่ตั้งอยู่ไกล และอาคารมีขนาดใหญ่ต้องเสียค่าซ่อมแซมดูแลรักษามาก ทำให้มีการเชื้อชวนอีกสามสมาคม ได้แก่ ทันตแพทยสมาคม เภสัชกรสมาคม และสมาคมนางพยาบาล ร่วมออกค่าใช้จ่าย และร่วมใช้เป็นที่ตั้งสมาคม

มีการดัดแปลงเรือนพักให้เป็นสโมสร ตั้งโต๊ะบิลเลียดและโต๊ะเล่นไพ่บริดจ์ รวมทั้งสนามเทนนิส ทำให้ได้รับความนิยม มีสมาชิกมาใช้บริการต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงต้นปี 2509

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่า เพื่อจะนำไปพัฒนาให้เป็นอาคารทันสมัย

ด้วยย่านศาลาแดงและสีลมในเวลานั้น กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ และประเทศไทย

นอกจากจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วย โรงแรม สำนักงาน และพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการประชุม งานรับรองจัดเลี้ยง และนิทรรศการแล้ว

สถาปนิกผู้ออกแบบที่เป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ Yozo Shibata ยังมุ่งสร้างจุดหมายตาใหม่ของกรุงเทพฯ โดยวางผังพื้นอาคารส่วนห้องพักเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง 22 ชั้น ที่แต่ละชั้นค่อยๆ เอียงสอบ ยอดอาคารเป็นเสาสูงสีทอง จึงทำให้ดูคล้ายพระเจดีย์

รวมทั้งเป็นอาคารที่สูงสุดในประเทศไทย เมื่อเริ่มเปิดดำเนินกิจการ ในปี พ.ศ.2513

ที่มาของนามโครงการคือ ดุสิตธานี นั้น นอกจากความยิ่งใหญ่ สวยงาม และหรูหรา เปรียบดังสวรรค์ชั้นที่ 4 ที่ชื่อว่า ดุสิต แล้ว ยังตั้งอยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงสร้างเมืองแม่แบบประชาธิปไตยชื่อ ดุสิตธานี ไว้ในบริเวณพระราชฐาน วังพญาไท

กิจการดุสิตธานี ดำเนินการต่อเนื่องนานถึงห้าสิบปี มีทั้งบุคคลสำคัญจากนานาประเทศ และคนไทยเข้าพัก ร่วมประชุม ใช้บริการห้องจัดเลี้ยง และร้านอาหารต่างๆ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำ จนอาคารมีสภาพเก่าทรุดโทรม

ในขณะที่มีโรงแรมอีกหลายแห่งที่หรูหราทันสมัยกว่า และมีอาคารสูงหลายหลังที่สูงกว่า

จึงเป็นที่มาของโครงการดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม ที่กำลังก่อสร้าง

โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปีหน้า •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส