คณะทหารหนุ่ม (31) | ก้าวสู่รัฐมนตรี ด้วยวาทะ.. “จะเอาเปรมนี่แหละ”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

สงครามตัวแทน

วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 หลังการยึดครองกัมพูชาได้ไม่นาน รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาของเฮง สัมริน ซึ่งเวียดนามและประเทศกลุ่มสังคมนิยมสายโซเวียตให้การรับรองว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายเวียดนามในการยึดครองกัมพูชา โดยจัดให้มีการประชุมเพื่อลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน

ประเด็นสำคัญให้ถือว่าความปลอดภัยของเวียดนามและกัมพูชาเกี่ยวข้องเป็นหนึ่งเดียวกัน และจะต้องป้องกันซึ่งกันและกัน ทำให้การคงอยู่ของทหารเวียดนามในกัมพูชาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย การคงอยู่ของทหารเวียดนามเหนือในกัมพูชาจึงมีโอกาสที่จะยืดเยื้อยาวนานต่อไป

ฝ่ายความมั่นคงและกองทัพไทยจึงเตรียมรับสถานการณ์รุนแรงที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งฝ่ายเขมรแดงใช้เป็นพื้นที่หลบซ่อนอยู่

ในที่สุด ฝ่ายสังคมนิยมที่มีโซเวียตเป็นผู้นำ และอินเดียซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับจีนก็แสดงท่าทีสนับสนุนเวียดนามและรัฐบาลกัมพูชาของเฮง สัมริน อย่างชัดเจนแต่แรก ก็ได้ประกาศรับรองรัฐบาลกัมพูชาของเฮง สัมริน ให้เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และประณามสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชาของเขมรแดงว่าเป็นทรราชที่มีจีนสนับสนุน

การเผชิญหน้าในรูปสงครามตัวแทนระหว่างจีน-รัสเซียในกัมพูชาจึงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

 

สงครามสั่งสอน

17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 หลังเวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชาเพียงเดือนเศษ และองค์การสหประชาชาติกำลังหาทางแก้ปัญหาอยู่นั้น จีนก็เปิดฉาก “สงครามสั่งสอน” ตามแนวชายแดนจีน-เวียดนาม ทำให้เวียดนามต้องถอนกำลังบางส่วนจากกัมพูชาไปเสริมแนวรบ

ครั้นเมื่อจีนถอนกำลังกลับใน 16 มีนาคม พ.ศ.2522 เวียดนามและรัฐบาลเฮง สัมริน ก็มีกำลังมากพอและเริ่มการกวาดล้างกองกำลังเขมรแดงในกัมพูชาทันที

กำลังเขมรแดงถอนตัวมาหลบซ่อนและสร้างฐานต่อต้านตามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมีทหารเวียดนามเหนือไล่ติดตามมาอย่างไม่ลดละ

จนนำไปสู่การเผชิญหน้าและปะทะกับกองกำลังทหารไทยที่เฝ้าระวังตามแนวชายแดนด้านนี้บ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้นตามลำดับ

 

อาเซียนผนึกกำลัง

กลางปี พ.ศ.2522 ในการประชุมทั่วไปของสหประชาชาติครั้งที่ 34 ตัวแทนของ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชา” เขมรแดงของพล พต และ “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” ของเฮง สัมริน ต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนประเทศกัมพูชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

แต่ในที่สุดสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชา (เขมรแดง) ของพล พต ก็ได้รับการรับรองจากสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน แม้เขมรแดงจะมีมลทินเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ติดตัวอย่างล้างไม่ออกก็ตาม

มกราคม พ.ศ.2523 ครบ 1 ปีหลังเวียดนามยึดครองกัมพูชา สมาชิกองค์การสหประชาชาติเกือบ 80 ประเทศก็ประกาศยอมรับให้รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ของพล พต เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ 29 ประเทศค่ายสังคมนิยมยอมรับและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาของเฮง สัมริน

มหาอำนาจตะวันตกและกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทยมีท่าทีสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยการประกาศรับรองรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ของพล พต และประณามการใช้กำลังทหารของเวียดนามในการบุกรุกและยึดครองกัมพูชา

สำหรับประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนติดกัมพูชา และกำลังเผชิญกับปัญหาการอพยพของชาวกัมพูชาที่มีจำนวนมากขึ้นทุกขณะยังได้เรียกร้องให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาโดยทันที

สมาชิกกลุ่มอาเซียน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ สนับสนุนท่าทีนี้ของไทยอย่างเป็นเอกภาพ

สมาชิกกลุ่มอาเซียนยังมีความเห็นร่วมกันว่า การเข้ายึดครองกัมพูชาของเวียดนามมีสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน ซึ่งจีนก็มีความเห็นในทำนองนี้เช่นกัน แม้แต่สหรัฐซึ่งไม่เคยรับรองรัฐบาลเขมรแดงของพล พต มาก่อนก็ได้ประกาศสนับสนุนสมาชิกภาพรัฐบาลเขมรแดงของพล พต ในองค์การสหประชาชาติ และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ให้ถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชา

กำลังทหารเวียดนามที่ยึดครองกัมพูชาในขณะนั้นมีทั้งสิ้นถึง 20 กองพล ในจำนวนนี้มีกำลังที่วางตัวตามแนวชายแดนติดกับไทย 3 กองพล และแสดงท่าทีคุกคามยั่วยุอย่างต่อเนื่อง

การคุกคามจากเวียดนามเหนือครั้งนี้จึงนำไปสู่ความวิตกกังวลของคนไทยทั่วไปว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นโดมิโนตัวที่ 4 หรือไม่

 

ศึกภายใน

หลังการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 แล้ว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเพิ่งได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งใน “ห้าเสือ ทบ.” เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2520 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย” เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2520 และเริ่มตกเป็นเป้าแห่งความสนใจของสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์การเมืองไทย

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เล่าเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกนี้ไว้ใน “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ว่า…

“ตอนที่ พล.ร.อ.สงัด เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิวัติเหมือนกัน เพราะว่าเป็นแม่ทัพ เขาก็ฟอร์มรัฐบาลกัน พี่เกรียงเป็นนายกฯ พี่เกรียงก็เที่ยวหาคนโน้นคนนี้ ก็ยังขาดอีกคนเดียวคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผมกับ พล.อ.ยศ เป็นเพื่อนชอบพอกันก็ช่วยกันหาอยู่ตั้งนานก็ไม่ได้สักที ในที่สุดพี่เกรียงก็เรียกผมเข้าไปบอกว่า หาได้แล้วล่ะรัฐมนตรีว่าช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ขาดอยู่ ผมก็ถามพี่เกรียงว่าใคร เขาบอกคุณนี่แหละ แล้วตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ผมก็บอกผมเป็นไม่ได้หรอกพี่เกรียง ผมเป็นผู้ช่วยแล้วพี่เสริมท่านก็อยู่ เขาก็บอกไม่เอา จะเอาเปรมนี่แหละ”

เหตุผลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า “ผมเป็นไม่ได้หรอกพี่เกรียง ผมเป็นผู้ช่วยแล้วพี่เสริมท่านก็อยู่” สะท้อนการยึดมั่นในแบบธรรมเนียมเรื่อง “อาวุโส” ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เข้าใจเหตุผลนี้เป็นอย่างดี แต่มีเหตุผลอย่างอื่นที่สำคัญกว่า จึงตอบว่า “จะเอาเปรมนี่แหละ”

 

อำนาจคู่

เมื่อครั้งการปฏิรูปการปกครอง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องตัวหัวหน้าคณะปฏิวัติและผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งได้เสียงสนับสนุนจากผู้นำทุกเหล่าทัพ กับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่ม

ผู้ที่ทำให้ปัญหาครั้งนั้นจบลงก็คือคณะทหารหนุ่มซึ่งส่วนใหญ่แม้มียศเพียงพันตรี แต่เป็นผู้ควบคุมกำลังที่แท้จริงได้ยื่นคำขาดว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มิฉะนั้นจะทำการปฏิวัติซ้อน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และผู้นำทั้งสามเหล่าทัพจึงต้องจำยอม

อย่างไรก็ตาม สภาวะ “อำนาจคู่” ในหมู่ผู้นำทหารระหว่างฝ่าย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กับฝ่าย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จะยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การกำหนดอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่าใครจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ระหว่างนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กับประธานสภานโยบายแห่งชาติ คือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่

ซึ่งท้ายที่สุดฝ่าย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นฝ่ายชนะ เป็นต้น