จากท่องเที่ยว ถึงเลือกตั้ง ไทยสิทธิเสมอกัน

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

จากท่องเที่ยว ถึงเลือกตั้ง

ไทยสิทธิเสมอกัน

 

สุดสัปดาห์ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2566 มีงานเทศกาลไทยเที่ยวไทย ครั้งที่ 65 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ซึ่งปรับปรุงใหม่

หลังจากโดนสถานการณ์โรคโควิดกระทำย่ำยีมาเสียเกือบสามปีเต็ม ผมก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะต้องไปเที่ยวงานนี้ให้จงได้ แหะ แหะ เพื่อไปเลือกซื้อของดีราคาถูกมาเป็นสมบัติ

เพราะงานนี้โรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวต่างๆ พากันมาออกร้านเพื่อเสนอรายการพิเศษลดแลกแจกแถมสารพัด คือว่าถ้าเราซื้อคูปองจากงานนี้ไว้แล้ว ก็กินขนมเชื่อได้ว่าจะได้สินค้าหรือบริการราคาถูกสมใจ

เหมาะสำหรับคนรสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำเป็นอันมาก อิอิ

ข้างฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจเขาก็ได้เงินสดไปถือไว้ในมือเพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนทำธุรกิจต่อไป ดีกว่ารอขายสินค้าในวันข้างหน้าแต่ไม่มีความแน่นอนว่าจะมีใครมาซื้อหรือไม่

เรียกว่างานนี้วิน-วินด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

ผมไปเดินเที่ยวงานดังกล่าวข้างต้นในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน

ห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีบูธออกร้านของผู้ประกอบการหลายร้อยบูธเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยหรือมาเลือกซื้อสินค้าและบริการ

ในงานนี้เขาจัดสมกับชื่อของงานล่ะครับ กล่าวคือ สถานที่พักหรือบริการท่องเที่ยวทั้งหลายล้วนแต่อยู่ในเมืองไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ มีแทบทุกจังหวัดเลยทีเดียว แต่ก็แน่นอนว่าแหล่งท่องเที่ยวสำคัญย่อมมีสินค้ามาขายมาก เช่น จังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ทั้งฝั่งริมทะเลอันดามันและอ่าวไทย พัทยา หัวหินระยอง จันทบุรี เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี

ตามจังหวัดหรือแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้มีสินค้าเป็นตัวเลือกมาก และเท่าที่ผมสังเกตดูก็ขายดีด้วยกันทั้งนั้น

นี่น่าจะแปลว่าการท่องเที่ยวของเราเริ่มฟื้นตัวแล้ว และในขณะที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังเข้ามาไม่เต็มเหนี่ยว ตรงนี้ก็ยังเป็นตอนปลายของโอกาสที่คนไทยจะเที่ยวไทยด้วยกันเอง

พอเห็นไทยเที่ยวไทยอย่างนี้ ผมเลยมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าคนไทยเริ่มท่องเที่ยวกันเมื่อไหร่ เพราะแต่เดิมมา ในอดีตบ้านเรานั้นการเดินทางไม่สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ การเดินทางไม่ว่าทางบกหรือทางน้ำยากไปหมด ทางอากาศไม่ต้องคิดเพราะไม่เคยมีมาก่อน สถานที่พักแรมที่จะพักอาศัยได้ก็ไม่มีให้บริการ นอกจากไปขอนอนตามวัดหรือบ้านญาติ อาหารการกินก็ไม่มีร้านอาหารมากมายให้เลือกอย่างทุกวันนี้

การเดินทางทุกครั้งมีความเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บ โจรภัยหรืออุบัติเหตุ การเดินทางไปท่องเที่ยวของคนไทยในสมัยก่อนจึงเป็นเรื่องเกินความฝันที่จะปฏิบัติได้

 

การเดินทางจากถิ่นที่อยู่ไปยังต่างจังหวัดมีแต่เฉพาะเพื่อไปธุระสำคัญ เช่น ไปราชการ หรือไปรบทัพจับศึก ดังที่ปรากฏในนิราศต่างๆ อย่างเบาลงมาหน่อยก็คือการไปแสวงบุญตามบุณยสถานสำคัญทั้งหลาย ที่เป็นที่นิยมมาแต่ไหนแต่ไรก็มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง หมายเลขหนึ่งน่าจะได้แก่พระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้คนมาตั้งแต่กลางสมัยอยุธยาแล้ว

แถมด้วยความเชื่อว่าถ้าได้ไหว้พระบาทถึงเจ็ดหนแล้วจะไม่ตกนรกหมกไหม้ ใครต่อใครจึงอยากไปไหว้พระบาทกันนัก

จนถึงขนาดที่คุณเปรมพระเอกเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ต้องหยิบยกเรื่องชวนไปเที่ยวพระบาทมาคุยกับแม่พลอยผู้เป็นเจ้าสาวในคืนวันส่งตัว

 

ตามหลักฐานที่อ่านพบจากหนังสือต่างๆ ความคิดเรื่องการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มเข้าสู่ความรับรู้ของคนไทยในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเนื่องกัน

สาเหตุคือยุคนั้นมีฝรั่งเดินทางเข้ามาในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าฝรั่งที่มาครั้งนั้นเป็นฝรั่งที่มีใจรักเดินทางอยู่แล้วเป็นทุน เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วก็ไม่ยอมอยู่นิ่ง เที่ยวเดินทางไปโน่นไปนี่อยู่เสมอ

คนไทยที่คบค้าสมาคมหรือรู้เรื่องราวว่าฝรั่งเดินทางท่องเที่ยวอย่างไรก็พลอยเกิดความนิยมขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จธุดงค์ไปตามจังหวัดต่างๆ มาตั้งแต่สมัยที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

เมื่อทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ยังเสด็จไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรความเป็นไปของบ้านเมืองพร้อมกันนั้นก็เป็นการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในทำเนียบเรือหลวงตั้งแต่รัชกาลที่สี่ ได้เป็นพระราชพาหนะสำคัญที่นำเสด็จในหลวงไปเที่ยวตลอดทั่วอ่าวไทยทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

แม้จนครั้งสุดท้ายที่เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอเมืองประจวบคีรีขันธ์ก็อาจจะนับเนื่องอยู่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยอ้อมได้เหมือนกัน

 

ล่วงมาถึงรัชกาลที่ห้า คนที่มีกำลังความสามารถมีทรัพยากรมากพอสมควรก็เริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากเส้นทางแสวงบุญดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่นเกาะสีชัง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่อยู่ใกล้กับพระนครมากที่สุด ตลอดถึงอ่างศิลาซึ่งอยู่ทางฝั่งตรงกันข้าม ก็ได้รับความนิยมมากไม่แพ้กัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ได้ทรงสร้างพระราชฐานไว้ที่เกาะสีชัง ชื่อพระจุฑาธุชราชฐาน ที่ยังปรากฏร่องรอยอยู่จนถึงทุกวันนี้ ภายในบริเวณพระจุฑาธุชฯ มีอาคารสองสามหลังซึ่งเคยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็น “อาศัยสถาน” ความหมายก็ในราว Home stay ล่ะครับ คือใครอยากไปอยู่ก็ต้องไปแจ้งความจำนงที่ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม จากนั้นก็ไปอยู่ฟรี ทางราชการจัดข้าวของเครื่องใช้ไว้ให้พอสมควร แต่ขาดเหลือเกินกว่านั้นหรืออาหารสดอาหารแห้ง นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไปเองนะครับ

ในเวลาต่อมาเมื่อมีทางรถไฟเกิดขึ้น การท่องเที่ยวก็ยิ่งขยายตัวและได้รับความนิยมมากขึ้น

เช่น ในรัชกาลที่เจ็ด กรมรถไฟหลวงมีโรงแรมที่ได้ระดับมาตรฐานสากลสองสามแห่ง ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือโรงแรมของกรมรถไฟหลวงที่หัวหิน ซึ่งมีสนามกอล์ฟหลวงอยู่คู่กันด้วย

เวลานั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวตกอยู่ในภาระหน้าที่ของกรมรถไฟหลวง ถึงขนาดต้องทำหนังสารคดีเผยแพร่ไปทั้งภายในและต่างประเทศ หนังสารคดีเก่ายุคนี้มีคุณค่ามากและทำให้เรามีโอกาสได้เห็นเมืองไทยเมื่อหนึ่งร้อยปีมาแล้วได้อย่างชัดเจน

เห็นไหมครับว่า เวลาผ่านไปเพียงประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบปี การท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นกิจกรรมจำกัดเฉพาะคนชั้นสูงที่มีมีเรือแพบริวารและสตุ้งสตางค์ ได้เปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมที่คนจำนวนมากสามารถเข้าถึง

มีทางเลือกตั้งแต่ระดับสุดโต่งสำหรับมหาศาลเศรษฐี ลงไปจนถึงทางเลือกของคนเบี้ยน้อยหอยน้อยก็พอเที่ยวกันได้

 

ไม่เชื่อก็คอยดูเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้สิครับ เที่ยวแบบฉิ่งฉับทัวร์หรือเสื่อผืนหมอนใบ อาศัยศาลาวัดเป็นที่อาบน้ำหลับนอนก็ยังมีอยู่ ถึงจะมีเงินน้อยเพียงใดแค่ไหน แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ต้องนับจำนวนคนเหล่านี้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศของเราอยู่ดี

เขียนพร่ำเพ้อมาอย่างนี้แล้ว เกิดคำถามกับตัวเองในวินาทีนี้ว่า แล้วจะจบข้อเขียนครั้งนี้อย่างไร

จะไปยากอะไรครับ

ลองนึกเทียบกันดูว่า การปกครองบ้านเมืองก็เหมือนกับการท่องเที่ยวนั่นแหละ แต่เดิมมาก็มีแต่จำกัดวงเฉพาะแต่ผู้ที่มียศอำนาจวาสนา ที่จะสามารถบอกได้ว่าบ้านเมืองสมควรเดินไปทางไหน

ยิ่งเวลาเดินล่วงไป ความคิดในเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไปเป็นว่า

การปกครองบ้านเมืองไม่สามารถจำกัดได้แต่เฉพาะใครหมู่ใดหมู่หนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะมีส่วนในการกำหนดอนาคตของประเทศ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเสมอกัน

ใครทุกคนในที่นี้มีวงกว้างกว่าคนที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวเสียอีก เพราะตามความจริงแล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีกำลังวังชาจะไปท่องเที่ยวได้

 

แต่สำหรับการเป็นเจ้าของประเทศและการมีส่วนร่วมในการบอกทิศทางของประเทศว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของทุกคน และต่อให้เป็นคนยากคนจนคนพิการคนสูงอายุ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนไทยแล้วก็มีหนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิเสมอกันหมด

ไปลงคะแนนเลือกตั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าได้เหมือนกัน

มาจบลงตรงนี้ได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ฮา!