รบหนัก และรบต่อไป! ปีที่ 2 สงครามยูเครน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

รบหนัก และรบต่อไป!

ปีที่ 2 สงครามยูเครน

 

“วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เป็นวันที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของพวกเรา”

ประธานาธิบดีเซเลนสกี (24 กุมภาพันธ์ 2023)

 

สงครามยูเครนเดินทางมาเป็นระยะเวลาครบปีอย่างไม่น่าเชื่อ

เพราะเมื่อสงครามเริ่มต้นจากการบุกของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 นั้น ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า ยูเครนจะสามารถต้านทานการรุกใหญ่ของกองทัพรัสเซียได้อย่างยาวนาน เพราะหากเปรียบเทียบอำนาจกำลังรบช่วงก่อนสงครามแล้ว การรักษาอธิปไตยของยูเครนแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ดังจะเห็นอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบในปี 2019 กองทัพบกรัสเซียมี 280,000 นาย ยูเครนมี 145,000 นาย กองทัพบกรัสเซียมีรถถังหลัก 2,750 คัน ยูเครนมี 854 คัน

กองทัพรัสเซียมีพลังอำนาจทางทหารเหนือกว่าอย่างมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการรบได้จริง และทำให้รัสเซียไม่ประสบความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ในการยึดครองยูเครน

 

ปีที่ 1 ของสงคราม

หากสำรวจสงครามใน 1 ปีแรกแล้ว เราอาจตั้งข้อสังเกตอย่างสังเขป 12 ประการ ดังนี้

1) ข้อสรุปในทางยุทธศาสตร์ทหารปีแรกคือ “ยูเครนไม่แพ้ รัสเซียไม่ชนะ” หรือในทางกลับกัน เราอาจกล่าวได้ว่าเป็นปีของ “ความสำเร็จในการยันทางยุทธศาสตร์” ของยูเครน กองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จทางทหารอย่างที่คาด และมีความล้มเหลวทางทหารหลายประการในสนามรบ

2) กองทัพรัสเซียประสบความเสียหายอย่างหนักทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ตัวเลขประมาณการของการบาดเจ็บและเสียชีวิตทหารรัสเซียอาจมากกว่า 2 แสนนาย และอาจสูญเสียรถถังมากถึงร้อยละ 40-50 จึงต้องประกาศการระดมพล การพึ่งกำลังทหารรับจ้างในการรบ และอาจต้องหาแหล่งสนับสนุนด้านอาวุธและกระสุนในอนาคต

3) รัสเซียประสบภาวะโดดเดี่ยวในทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากการถูกปิดล้อมและแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจากรัฐตะวันตก โดยเฉพาะการถูกตัดออกจากระบบการเงินโลก (SWIFT)

4) รัสเซียตัดสินใจใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการตอบโต้กับการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก แต่สหภาพยุโรปและโลกตะวันตกมีการปรับตัว จนสามารถรับมือกับ “สงครามพลังงาน” ได้ และตะวันตกยังตอบโต้ด้วยการกำหนดราคาพลังงานของรัสเซียในตลาดโลก อันกลายเป็นโอกาสให้จีนและอินเดียซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย แต่สงครามพลังงานไม่ทำให้ฝ่ายตะวันตกยอมรัสเซีย

5) ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันและการแซงชั่นจากตะวันตก รัสเซียมีท่าทีหันไปพึ่งความสนับสนุนจากจีน และสงครามยูเครนอาจทำให้รัสเซียกลายเป็นรัฐที่ต้องพึ่งพาจีน และมีสถานะเป็นรองจีน

6) สงครามยูเครนกลายเป็นสงครามในบ้านของประธานาธิบดีปูติน เพราะแรงต้านจากฝ่ายต่อต้าน และการประกาศระดมพลทำให้สังคมเกิดแรงเสียดทานกับฝ่ายรัฐมากขึ้น

7) การบุกยูเครนทำให้เกิดทัศนะด้านความมั่นคงที่มองรัสเซียเป็นภัยคุกคามสำคัญของยุโรป และทำให้ฝ่ายตะวันตกมีความเป็นเอกภาพมากขึ้นจากทัศนะเช่นนี้

8) ยูเครนสามารถสร้างพันธมิตรได้อย่างกว้างขวางในเวทีโลก และได้เสียงสนับสนุนในสหประชาชาติมากกว่ารัสเซีย หรือรัสเซียโดดเดี่ยวมากขึ้นในเวทีโลกนั่นเอง

9) บทบาทของประธานาธิบดีเซเลนสกีโดดเด่นอย่างมาก และเป็นแรงบันดาลใจอย่างสูงให้ชาวยูเครนเข้าร่วมสงคราม จนเป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” อย่างสำคัญ

10) การต่อสู้อย่างเข้มแข็งและบทบาทของผู้นำทำให้ฝ่ายตะวันตกให้ความสนับสนุนยูเครนในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง จนสามารถยกระดับขีดความสามารถทางทหารของกองทัพยูเครนในการยันจนแนวรบของรัสเซียต้องถอยร่นไปจากแนวยึดครองเดิมในช่วงแรก

11) สงครามยูเครนเป็นสัญญาณเตือนให้ฝ่ายตะวันตกต้องเตรียมรับสงครามตามแบบที่มีระยะเวลาการรบนาน เป็น “สงครามยืดเยื้อ” แต่ไม่ใช่ในแบบอิรักและอัฟกานิสถาน

12) สงครามยูเครนทำให้เกิดวิกฤตทับซ้อนปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน อาหาร ปุ๋ย และวิกฤตผู้อพยพชาวยูเครนในยุโรปด้วย

 

ปีที่ 2 ของสงคราม

ข้อสรุปอย่างสังเขปในปีแรกคือ การไม่มีผู้ชนะและผู้แพ้ที่ชัดเจน จึงมีนัยว่าการรบยังคงดำเนินต่อไปในปี 2023 และเป็นการรบที่ต่างฝ่ายต่างชิงความได้เปรียบในทุกพื้นที่การรบ

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบแล้ว ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 กำลังลดระดับความรุนแรงลง จนเรากล่าวได้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคหลังโควิด-19” แล้ว แต่สถานการณ์สงครามยูเครนยังไม่มีแนวโน้มที่จะเดินไปสู่โลก “ยุคหลังสงครามยูเครน” แต่อย่างใด… สงครามจากปี 2022 เดินเข้าสู่ปี 2023 อย่างที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด จนอาจสรุปเป็นแนวโน้มสงคราม 12 ประการ ดังต่อไปนี้

1) การกำเนิดของสงครามยูเครนชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสภาวะของการเมืองโลกที่เป็น “สงครามเย็น” หรืออาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลกในช่วงที่ผ่านมา ได้ยกระดับขึ้นเป็นการต่อสู้ในแบบสงครามเย็น

อันอาจกล่าวได้ว่าโลกกำลังเห็นถึง “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21” ที่มีบริบทและประเด็นการต่อสู้ต่างออกไปจากสงครามนี้ในศตวรรษที่ 20 จึงทำให้มีการเรียกสภาวะเช่นนี้ว่าเป็น “สงครามเย็นใหม่” (The New Cold War) ซึ่งมีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นในปี 2023

2) สงครามยูเครนจะเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อความเป็นไปของ “ระเบียบระหว่างประเทศของยุโรปใหม่” ที่สงครามนี้จะทำหน้าที่ “แบ่งยุโรป” ออกเป็น 2 ส่วน แต่ไม่ใช่เป็นยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกในแบบเดิม

พื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของยุโรปถูกลากเส้นด้วยทัศนะที่เกิดจากสงครามยูเครน หรืออีกนัยหนึ่งคือเส้นที่บ่งบอกถึงการอยู่กับฝ่ายรัสเซียหรือไม่

3) สงครามยูเครนมีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้าง “เอกภาพของรัฐยุโรปตะวันตก” ซึ่งแต่เดิมรัฐเหล่านี้อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันต่อปัญหารัสเซีย

แต่หลังจากการบุกรัสเซียแล้ว หลายรัฐยุโรปมีความพยายามในการรวมตัวทางการเมืองและการทหารอย่างเป็นเอกภาพ หรือแม้กระทั่งการยกเลิกแนวคิดแบบเป็นกลางในนโยบายต่างประเทศ เพื่อรับมือกับการคุกคามของรัสเซียในปี 2023

4) สงครามยูเครนยังมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของ “ระเบียบโลกใหม่” ที่ต้องใช้คำว่าระเบียบใหม่ เพราะผลจากสงครามกำลังมีส่วนในการจัด “ความเป็นขั้ว” ในการเมืองโลกอีกครั้ง เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสงครามเย็นครั้งก่อน

การกำหนดท่าทีและ/หรือการลงเสียงของรัฐบาลต่อปัญหาสงครามยูเครนจะเป็นประเด็นสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการต่างประเทศของแต่ละรัฐบาลในปี 2023

5) การรบที่ยูเครนยังไม่มีจุดสิ้นสุด คู่สงครามยังมีกำลังที่จะทำการต่อได้อีกนาน และมีอาวุธให้สามารถทำการรบต่อได้ แม้กองทัพของทั้งสองฝ่ายจะประสบความสูญเสียทั้งกำลังพลและอาวุธเป็นจำนวนมากก็ตาม

ในขณะเดียวกันสภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า คู่สงครามมีสภาวะของ “การยัน” ที่ยังไม่เห็นถึงผู้ชนะและผู้แพ้ที่ชัดเจน แต่อาจกล่าวได้ว่ากองทัพรัสเซียบอบช้ำอย่างมาก และอาจจะประสบความขาดแคลนอาวุธมากขึ้น และอาจต้องแสวงหาการสนับสนุนด้านอาวุธและกระสุนจากภายนอก เนื่องจากอุตสาหกรรมอาวุธภายในประสบปัญหาจากการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก

6) สภาวะที่คู่สงครามยังมีพลังอำนาจทางทหารที่สามารถทำการรบได้ต่อไป จึงไม่เป็นโอกาสให้เกิดการเจรจาสันติภาพ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการรบต่อ และชิงความได้เปรียบในสนามรบ สงครามดำเนินไปได้ และยังไม่ถึงจุดที่ทำให้เกิดการเจรจา ความหวังถึงสันติภาพยูเครนในปี 2023 จึงเป็นความฝันต่อไป

7) ความสำเร็จในการรุกกลับในช่วงปลายปี 2022 ทำให้ยูเครนมีความหวังที่จะเอาดินแดนที่รัสเซียยึดกลับคืนมาได้บางส่วน ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับเวทีโลกอย่างมาก และเป็น “ขวัญกำลังใจ” สำคัญ จนเชื่อว่ายูเครนอาจเอาไครเมียกลับคืนมาให้ได้

 

8) รัสเซียเองเตรียมตัวอย่างมากที่จะเปิดสงครามใหญ่ในฤดูใบไม้ผลิ และต้องการที่จะยึดดินแดนให้ได้มากขึ้น เพื่อตอบโต้กับชัยชนะของยูเครนในช่วงปลายปี 2022

อีกทั้งชัยชนะในบางพื้นที่แม้อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การรบอย่างหนักเพื่อชิงเมืองบัคมุต แต่การได้เมืองมีความสำคัญในการสร้างภาพของชัยชนะสำหรับประธานาธิบดีปูติน อันมีนัยกับอนาคตทางการเมืองของประธานาธิบดีปูตินด้วย ฉะนั้น รัสเซียอาจทุ่มกำลังมากขึ้นในการเปิดแนวรุกใหม่ และอาจนำไปสู่การรบที่รุนแรงมากขึ้นด้วยในอนาคต

9) สงครามน่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นในปี 2023 เพราะต่างฝ่ายต่างเตรียมตัวทำสงครามใหญ่ และมีความคาดหวังในชัยชนะของฝ่ายตนเองมากขึ้น

ในภาวะเช่นนี้ทั้งสองฝ่ายจึงต้องทุ่มความพยายามมากขึ้นในสนามรบ อันส่งผลประเทศตะวันตกต้องเตรียมสนับสนุนอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธหนัก ให้แก่ยูเครนมากขึ้น และยูเครนมีความหวังที่จะใช้รถถังและปืนใหญ่ที่ได้รับจากตะวันตกเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ในสนามรบ รวมทั้งการร้องขออากาศยาน

ซึ่งจะเป็นประเด็นในปี 2023 ต้องยอมรับว่าอาวุธตะวันตกมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้แนวของทหารต้องถอยร่นในหลายพื้นที่ แต่ฝ่ายตะวันตกเองก็กังวลกับความไม่เพียงพอของอาวุธและกระสุนที่กองทัพยูเครนต้องใช้ในแต่ละวัน

10) ความกังวลถึงการขยายสงครามออกนอกพื้นที่ของยูเครน ทำให้หลายประเทศที่มีแนวชายแดนติดกับรัสเซียกลัวว่ารัสเซียจะขยายการโจมตี หรือขยายพื้นที่สงครามออกไปนอกเหนือจากยูเครน ดังจะเห็นได้ว่าประเทศริมชายฝั่งทะเลบอลติก ฟินแลนด์ โปแลนด์ และโดยเฉพาะมอลโดวา มีการเตรียมการในทางทหารมากขึ้น

เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจรบเพียงขอบเขตของยูเครนหรือไม่

 

11) ข้อกังวลในเรื่องของสงครามนิวเคลียร์ ในระดับของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีต่อเป้าหมายในยูเครนนั้น เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลมาโดยตลอด แต่ก็หวังว่าประธานาธิบดีปูตินจะ “มีสติ” เพียงพอที่จะไม่ตัดสินใจใช้อาวุธเช่นนี้ เพราะอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่กับเนโต้และสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเมื่อประธานาธิบดีปูตินประกาศไม่ยอมรับความตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ (ความตกลง START) จึงยิ่งทำให้ความกังวลปัญหาสงครามนิวเคลียร์มีมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

12) ปัญหาผลกระทบจากสงครามยูเครนกับภูมิภาคเอเชียโดยรวมนั้น จะทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผลจากเงื่อนไขของความเป็น “สงครามเย็นใหม่” ที่มาพร้อมกับบทบาทของจีนในการสนับสนุนรัสเซียในเวทีโลก

เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าจีนไม่อาจทอดทิ้งรัสเซียได้ และรัสเซียก็ต้องพยายามดึงจีนไว้กับฝ่ายตนให้ได้ เนื่องจากจีนเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดสำหรับบทบาทของรัสเซีย

ดังนั้น สงครามยูเครนในปีที่ 2 จึงเป็นความท้าทายต่อการเมืองโลกอย่างยิ่ง!