มุสลิมในอินเดีย และเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (3)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

มุสลิมในอินเดีย

และเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (3)

 

เซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน

: ปัญญาชนมุสลิมของอินเดีย (ต่อ)

อัลลามา อิกบาล ซึ่งเป็นกวีแห่งบูรพาพิศคนสำคัญของปากีสถานและของโลก เจ้าของบทกวีที่คนอินเดียและปากีสถานนับล้านรู้จัก จนจำบางท่อนจากบทกวีของเขาได้อย่างขึ้นใจ กล่าวถึงเซอร์ ซัยยิด (Sir Syid Ahmad Khan) เอาไว้ว่า

ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน เกิดจากการที่เขาเป็นชาวมุสลิมอินเดียคนแรกที่รู้สึกถึงความจำเป็นในการวางวิถีทางใหม่ของศาสนาอิสลามและทำงานเพื่อสิ่งนั้น

ธรรมชาติที่ละเอียดอ่อนของเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน ทำให้เขาเป็นคนแรกที่ตอบสนองต่อยุคสมัยใหม่ได้

งานเฉลิมฉลอง 100 ปีของมหาวิทยาลัยอลิการ์มุสลิมซึ่งถือกำเนิดมาจากแรงผลักดันของเซอร์ ซัยยิด ได้รับการเฝ้าดู และเราควรสำรวจรายละเอียดของขบวนการอลิการ์ไปพร้อมๆ กัน

ในฐานะผู้ให้กำเนิดแนวคิดการจัดตั้งมหาวิทยาลัย Aligarh Muslim University แม้ว่าเขาจะไม่ทันได้เห็นมหาวิทยาลัยเพราะจากไปเสียก่อนในปี 1898 ก็ตาม กระนั้น เซอร์ ซัยยิด ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เปิดรับแนวคิดใหม่และสำรวจวิธีการยกระดับชุมชนหลังจากการจลาจลในปี 1857

เขามีความเห็นว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในเรื่องศาสนาควรได้รับการรักษาเอาไว้และควรส่งเสริมวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมในทุกระดับ

เขาใช้สูตรการเรียนรู้ หารายได้ และรับใช้ชีวิตตนเอง ‘ด้วยแนวทางทางวิทยาศาสตร์’ อันเป็นคำสำคัญที่เซอร์ ซัยยิด นำมาใช้เพื่อถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษพร้อมกับการศึกษาแบบดั้งเดิมไปพร้อมๆ กัน

โรงเรียนของเขาที่เมืองโมราดาบัดและกาซิปุรเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อการศึกษาของเขา

การก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์ที่กาซิปุรเป็นก้าวสำคัญ เนื่องจากเป็นสถาบันที่ล้ำหน้ากว่ายุคสมัยและรวมเอาผู้คนมาจากทุกสาขาอาชีพ

การเดินทางของเซอร์ ซัยยิด ไปลอนดอนเพื่อเขียนหนังสือและสำรวจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ ก็เป็นผลงานหลักของเขา

 

ความฝันและรูปแบบ

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยของเซอร์ ซัยยิด

ความคิดในการก่อตั้งวิทยาลัยเริ่มต้นในปี 1870 ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มครั้งแรกในอินเดีย วันที่ 24 พฤษภาคม ปี 1875 เป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันแห่งนี้ในชื่อมัดเราะซะตุลอุลูม (Madarsat-ul Uloom) ซึ่งได้รับการยกระดับเป็นวิทยาลัยมุฮัมมะดันแอลโกล โอเรียนตัล (Muhammadan Anglo Oriental College) เมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 1877 ถึงจุดสุดยอดในช่วงเวลาของเซอร์ ซัยยิด และต่อมาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ได้รับการสถาปนาเป็น Aligarh Muslim University ในที่สุดในปี 1920

เซอร์ ซัยยิด มีเหตุผลในแนวทางของเขาและคอยตรวจสอบความคืบหน้าในทุกระดับ เขาต่อต้านการยึดติดนิกายและนั่นคือเหตุผลที่คนจากทุกภาคส่วนสนับสนุนเขา เขายังคงเดินหน้าต่อไปในการมองไปข้างหน้าของเขาทั้งๆ ที่มีฟัตวา (การวินิจฉัยทางศาสนา) จำนวนมากต่อต้านเขา

ญะมา มัสญิด (Jama Masjid) อันเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของ Aligarh Muslim University (AMU) ได้รับอิทธิพลจากญะมา มัสญิดของเดลี แรงงานที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมที่มาร่วมก่อสร้างมัสญิดแสดงถึงแนวคิดเรื่องพหุนิยมของเขา อาคารอื่นๆ รวมถึงหอพักและอาคาร Strachey เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย

วัฒนธรรมของสถาบันนี้ ไม่มีการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของศาสนาและชนชั้น

 

เซอร์ ซัยยิด

ในฐานะนักการศึกษาคนสำคัญของอินเดีย

ในด้านการศึกษา เซอร์ ซัยยิด ได้รับการกล่าวขวัญถึงโดยบุคคลสำคัญของโลกรวมทั้งบุคคลสำคัญของอินเดียและจากสหราชอาณาจักร ดังนี้

ลอร์ด ลิตตัน : ยุคแห่งความก้าวหน้าทางสังคมของอินเดีย

ลอนดอนไทม์ส (London Times) : เซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิก Muhammadan Anglo Oriental College (MAO College) ที่ Aligarh ซึ่งได้รับผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด นักเรียนจาก Aligarh ได้สร้างชื่อสำหรับอุปนิสัยและความประพฤติที่ถูกต้องทั่วประเทศอินเดีย อลิการ์อาจถูกถือเป็นแบบอย่างให้กับผู้คนทั่วทั้งอินเดีย ที่นี่เราอาจพบความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างครูและนักเรียนกับสมาคมในโรงเรียน สนามเด็กเล่นและหอพัก ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างอุปนิสัยของนักศึกษา

เซอร์ แฮมิลตัน กิบบ์ (SIR HAMILTION GIBB) : MAO College เป็นยุคใหม่ในอัลอิสลาม

รอชีด อะห์มัด ศิดฎีกี (RASHEED AHMAD SIDDIQUI) วิทยาลัย MAO เป็นกิจกรรมเดียวของชุมชนมุสลิม นับจากปี 1857 ที่กระตุ้นและท้าทาย

เซอร์ วิลเลียม ฮันเตอร์ (SIR WILLIAM HUNTER) ในบรรดานักเรียน 259 คน ข้าพเจ้าพบชาวฮินดู 57 คน หรือเกือบหนึ่งในสี่ของนักเรียนทั้งหมด ชาวคริสต์และปาร์ซีก็ได้รับการศึกษาแบบเสรีนิยมภายในกำแพงวิทยาลัยนี้ จิตใจที่เสรีนี้ไม่เพียงแผ่ซ่านไปทั่วกฎเกณฑ์และคำสอนเท่านั้น

แต่ยังแผ่ซ่านไปตลอดชีวิตของสถานที่นี้ด้วย

 

มหาตมะ คานธี บิดาของอินเดีย

: เซอร์ ซัยยิด เป็นศาสดาแห่งการศึกษา

บัดรุดดิน ตายาบยี : อย่างที่ฉันหวัง ถ้าอลิการ์พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัย มันจะกลายเป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวทางการศึกษาสำหรับชาวมุฮัมมะดัน (หมายถึงชาวมุสลิม) ทุกคน ไม่เพียงแต่จะมาจากโรงเรียนและวิทยาลัยโมฮัมมะดันต่างๆ ของอินเดียเท่านั้น แต่ยังอาจมาจากส่วนต่างๆ ของโลกอีกด้วย

บาร์บารา ดี. เมทคาล์ฟ : เซอร์ ซัยยิด เป็นบิดาทางปัญญาของมุสลิมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

ดร. ซากิร ฮุสเซน (DR. ZAKIR HUSSAIN) อดีตรองประธานาธิบดีและประธานาธิบดีของอินเดีย (1967-1969) : วิธีการทำงานของ Aligarh, วิธีที่ Aligarh คิด, ผลงานที่ Aligarh มอบให้กับชีวิตชาวอินเดียส่วนใหญ่จะกำหนดด้วยสถานที่ ที่ชาวมุสลิมครอบครองอยู่ในรูปแบบชีวิตของชาวอินเดีย

ราชโมฮัน คานธี (RAJMOHAN GANDHI) : ด้วยการเปิดตัวของ MAO ซัยยิด อะห์มัด ถูกมองว่าเป็นบุคคลระดับชาติและเป็นผู้นำของชาวมุสลิมอินเดีย

โมลวี อับดุล ฮัก (MAULVI ABDUL HAQ) : คนพูดว่า เซอร์ ซัยยิด ก่อตั้งวิทยาลัย ไม่เลย เขาไม่ได้เป็นแค่ผู้ก่อตั้งวิทยาลัย แต่เป็นผู้ฟื้นฟูประเทศ พัฒนาแนวคิดเรื่องสัญชาติ ดูดกลืนเอาความสนใจของการศึกษามาไว้ในหัวใจที่ตายแล้ว ตกแต่งทุกด้านของชีวิต และให้ความกระจ่างแก่พวกเขา

เขามองความรู้ วรรณกรรม อุดมการณ์ ภาษา การเมือง วารสารศาสตร์ และศาสนาด้วยมุมมองเสรีนิยม

เขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองความต้องการของเวลาและพยายามทุกวิถีทางที่จะลบล้างความคิดเชิงลบและความคิดผิดๆ ที่นำเราไปสู่การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง

ฮากีม อับดุล ฮามีด (HAKEEM ABDUL HAMEED) : บุคลิกของเซอร์ ซัยยิด ที่ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจมากที่สุดคือความมุ่งมั่นแน่วแน่ของเขา

อินเดอร์ กุมาร กุจรัล (INDER KUMAR GUJRAL) อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย (1997-1998) : วิสัยทัศน์ของเซอร์ ซัยยิด และความอุตสาหะของเขาในการตอบสนองความต้องการในช่วงเวลาที่ท้าทายนั้นน่ายกย่องอย่างสูง

ยุคมืดหลังปี 1857 นั้นสิ้นหวังอย่างแท้จริง และมีเพียงผู้ชายอย่างราชาโมฮัน รอย และเซอร์ ซัยยิด เท่านั้นที่สามารถเจาะทะลุผ่านม่านหนาทึบเพื่อจินตนาการถึงชะตากรรมของชาติ

พวกเขาเชื่ออย่างถูกต้องว่าอดีตมีข้อดีและมรดกของมันมีค่า แต่เป็นอนาคตที่สังคมต้องรับมือ ข้าพเจ้าขอแสดงความเคารพต่อเซอร์ ซัยยิด สำหรับวิสัยทัศน์และความกล้าหาญของเขาที่ยืนหยัดต่ออุปสรรคทั้งหมดทั้งจากมิตรและศัตรู