อุษาวิถี (19) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (19)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

ข.จีนวิถีในยุคขงจื่อ

ความเสื่อมถอยของราชวงศ์โจวเกิดขึ้นในยุค “โจวตะวันออก” โดยประวัติศาสตร์จะแบ่งอธิบายความเสื่อมถอยของยุคนี้ออกเป็นสองยุคย่อยซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี

ยุคหนึ่งคือ “ยุควสันตสาร์ท” หรือ “ชุนชิว” (Spring and Autumn Period, ชุน หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ, ชิว หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง) อยู่ในช่วง ก.ค.ศ.771-481 (ก.ค.ศ. หมายถึง ก่อนคริสต์ศักราช) อีกยุคหนึ่งคือ “ยุครัฐศึก” หรือ “จ้านกั๋ว” (Warring State Period, จ้าน หมายถึง สงคราม, กั๋ว หมายถึง อาณาจักร รัฐ ประเทศ) อยู่ในช่วง ก.ค.ศ.403-221

จะสังเกตได้ว่า ช่วงสิ้นสุดยุควสันตสาร์ทกับยุคเริ่มต้นยุครัฐศึกนั้นมีความลักลั่นไม่ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะมีการจัดแบ่งเวลาที่ใช้เกณฑ์แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีบางที่ระบุเวลาของ “โจวตะวันออก” สิ้นสุดลงในช่วง 256 ปีก่อน ค.ศ. หรือบางที่ระบุว่า ยุควสันตสาร์ทเริ่มในช่วง 722 ปีก่อน ค.ศ. เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้อาจจะอธิบายได้เป็นประเด็น

ดังนี้

 

หนึ่ง ที่ระบุว่า ยุควสันตสาร์ทอยู่ในห้วง ก.ค.ศ.722-481 (รวม 241 ปี) นั้น ระบุตามที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุวสันตสาร์ท (ชื่อเอกสารนี้ต่อมาได้ถูกนำมาเรียกเหตุการณ์ในยุคนี้ว่า “ยุควสันตสาร์ท”)

แต่ในความเป็นจริงคือ เป็นการแบ่งเวลาตามที่ได้เกิดสงครามระหว่างรัฐต่างๆ นับร้อยรัฐที่เริ่มในห้วง ก.ค.ศ.771-481 (รวม 290 ปี) อันแตกต่างกับที่แบ่งตามเอกสารฉบับนั้น

สอง การระบุให้โจวตะวันออกสิ้นสุดลงในห้วง ก.ค.ศ.256 ปี เป็นการใช้เกณฑ์จากจริงที่กษัตริย์ของราชวงศ์นี้สูญสิ้นอำนาจอย่างแท้จริง และโดยที่ไม่มีผู้ใดสามารถตั้งตนขึ้นมาเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวได้โดยเด็ดขาด

การนับเวลาในทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงคล้ายกับยกประโยชน์ให้กับอายุที่ยืนยาวของราชวงศ์โจวไปด้วย นั่นคือ นับเอาเวลาที่สิ้นสุดลงตรงที่มีการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ที่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างแท้จริงเมื่อ ก.ค.ศ.221 ปี ซึ่งก็คือ ราชวงศ์ฉิน

สาม ส่วนในยุครัฐศึกที่เริ่มเมื่อ ก.ค.ศ.403 โดยไม่ต่อเนื่องกับยุควสันตสาร์ทนั้น เกิดจากเกณฑ์ที่เห็นว่า แม้ในช่วงนั้น (ก.ค.ศ.403) การทำสงครามของรัฐใหญ่น้อยจะยังคงดำรงอยู่ แต่ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสงครามเมื่อมีการคิดค้นการใช้อาวุธใหม่ๆ ที่ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมขึ้นมาใช้ (เช่น ธนู) อีกทั้งรูปแบบของสงครามก็เปลี่ยนไป

เกณฑ์นี้ยังมีการโต้แย้งกันในแง่รายละเอียด แต่โดยรวมแล้ว เกณฑ์การยอมรับมักจะอยู่ตรงเหตุผลที่ว่า แม้จะยังคงมีการโรมรันกันระหว่างรัฐใหญ่น้อยนับร้อยรัฐก็ตาม (และถูกเรียกว่า “ยุควสันตสาร์ท”) แต่ก็ได้ปรากฏรัฐใหญ่ที่มีแสนยานุภาพเสมอกันเกิดขึ้นแล้ว รัฐใหญ่เหล่านี้มีอยู่ไม่กี่รัฐ และได้เข้าโรมรันระหว่างกันต่อไป

สี่ การแบ่งเวลาของทั้งสองยุคดังกล่าวยังมีที่แตกต่างไปจากการแบ่งของสำนักอื่นในแง่รายละเอียดของปีอีกด้วย ซึ่งจะคลาดเคลื่อนกันไม่กี่ปี

กล่าวโดยภาพรวมแล้วจีนจะแบ่งเวลายุควสันตสาร์ทให้อยู่ในห้วง ก.ค.ศ.770-475 และยุครัฐศึกอยู่ในห้วง ก.ค.ศ.475-221 ซึ่งจะแตกต่างไปจากการระบุในงานศึกษานี้

อย่างไรก็ตาม ความลักลั่นในการแบ่งเวลาของประวัติศาสตร์จีนจากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า มีสาเหตุจากทัศนะที่ใช้วิเคราะห์ส่วนหนึ่ง และจากวิธีการทางประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่ง

ทั้งสองส่วนนี้ไม่มีปัญหาในการเลือกใช้ เป็นอยู่แต่ว่าจะเลือกใช้ทางใด การเลือกนั้นพึงตั้งอยู่บนความเข้าใจถึงที่มาที่แตกต่างกันเป็นสำคัญ และในที่นี้เลือกใช้ตามที่ได้ระบุเอาไว้ในตัวบทแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมถอยของราชวงศ์โจวตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถแยกสาเหตุได้สามประการ คือ

หนึ่ง เป็นเพราะผู้นำรัฐต่างๆ ต่างแย่งชิงกันเป็นใหญ่

สอง เป็นเพราะรัฐต่างๆ ต่างมุ่งขยายเขตแดนของตนเอง

และ สาม เป็นเพราะรัฐต่างๆ ต่างต้องการความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การตั้งตนเป็นใหญ่ของชนชั้นผู้ดีแต่ละตระกูลยังนับเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกด้วย ในระยะแรกที่ความเสื่อมถอยเริ่มขึ้นนั้น ชนชั้นกษัตริย์ได้อ่อนแอลงจนไร้ความหมายในทางพฤตินัย

จากนครรัฐที่มีอยู่ประมาณ 3,000 นครรัฐในสมัยราชวงศ์ซาง พอมาถึงราชวงศ์โจวในยุคที่รุ่งเรืองก็เหลือประมาณ 1,800 นครรัฐ หลังจากนั้นต่อมา นครรัฐจำนวนไม่น้อยหากไม่สูญสลายไปเพราะมีขนาดเล็กจนถูกนครรัฐที่ใหญ่กว่าดูดกลืนเข้าไปแล้ว ก็จะถูกนครรัฐที่ใหญ่กว่าบุกเข้าตีชิงเอามาขึ้นต่อ

ช่วงนี้เองที่ความเป็นนครรัฐ (city state) ได้ค่อยๆ สลายไปกลายเป็นรัฐ (state) และในห้วงที่ราชวงศ์โจวเริ่มเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอยหรือ “ยุคโจวตะวันออก” นั้น รัฐทั้งแผ่นดินจีนเหลือเพียงประมาณ 170 รัฐ

และที่เหลือทั้งหมดนี้ก็เข้าโรมรันในสงครามที่ครอบคลุมเวลายาวนานหลายร้อยปี อันนับเป็นช่วงที่จีนเข้าสู่ “กลียุค” อย่างแท้จริง ซึ่งก็คือ ยุควสันตสาร์ทและยุครัฐศึก

 

ในยุควสันตสาร์ท รัฐต่างๆ ที่เหลือไม่ถึง 200 รัฐได้เข้าโรมรันกันมากกว่าสองร้อยปี แล้วยุคนี้ก็ค่อยๆ สลายลงไปพร้อมกับการเข้ามาแทนที่ของยุครัฐศึกที่เหลือรัฐใหญ่ๆ อยู่เพียงสิบกว่ารัฐ

เพราะเมื่อเวลาผ่านไปรัฐที่เหนือกว่าย่อมดูดกลืนรัฐที่ด้อยกว่าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตน และจากที่เหลืออยู่สิบกว่ารัฐนี้จะมีอยู่เจ็ดรัฐที่แข็งแกร่งมั่นคงจริงๆ

ซึ่งประกอบด้วยรัฐฉี ฉิน ฉู่ เอียน หาน จ้าว และเว่ย

ที่ตั้งของรัฐทั้งเจ็ดนี้ในปัจจุบันคือ บริเวณมณฑลซานตงและบางส่วนของมณฑลเหอเป่ย (รัฐฉี), บริเวณมณฑลส่านซี กานซู่ และเสฉวน (รัฐฉิน), บริเวณมณฑลหูเป่ย หูหนาน เจียงซี เจียงซู และอานฮุย (รัฐฉู่)

บริเวณมณฑลเหอเป่ย และที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลียว (รัฐเอียน), บริเวณด้านใต้ของมณฑลเหอหนานและตะวันออกเฉียงใต้ของซานซี (รัฐหาน), บริเวณด้านเหนือของมณฑลซานซี และตะวันตกของเหอเป่ย (รัฐจ้าว)

และบริเวณด้านใต้ของมณฑลซานซี และตะวันออกของเหอหนาน (รัฐเว่ย)

ในบรรดารัฐทั้งเจ็ดนี้มีบางรัฐยังคงมุ่งไปสู่การรวมจีนให้เป็นจักรวรรดิ หรือเป็นแผ่นดินเดียวกัน ในขณะที่บางรัฐเลือกที่จะปล่อยให้เสถียรภาพดำรงอยู่เช่นนั้น โดยไม่ก้าวก่ายคุกคามในระหว่างกัน รัฐกลุ่มหลังนี้ส่วนหนึ่งตระหนักดีว่า แสนยานุภาพทางการทหารของตนมีฐานะด้อยกว่า

ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์จึงมักจะเรียกทั้งสองยุคนี้รวมๆ กันไปในฐานภาพที่เป็นกลียุคเหมือนๆ กันว่า “วสันตสาร์ท-รัฐศึก” หรือ “ชุนชิว-จ้านกั๋ว”