‘นักวิชาการ’ พื้นที่ภาคใต้ มองการเมือง ‘ด้ามขวาน’ สถานการณ์อยู่ในระยะ ‘เปลี่ยนผ่าน’

รายงานพิเศษ | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

‘นักวิชาการ’ พื้นที่ภาคใต้

มองการเมือง ‘ด้ามขวาน’

สถานการณ์อยู่ในระยะ ‘เปลี่ยนผ่าน’

 

ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองปัจจัยการเมืองภาพรวมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ต้องมอง 2 ประเด็นหลัก

1. กรอบนโยบายของพรรคการเมือง ว่าจะมีนโยบายอะไรดึงดูด ประชากรใน 14 จังหวัดภาคใต้ได้

และ 2. เวลาที่เราจะมองภาคใต้ เราต้องไม่มองภูมิรัฐศาสตร์แบบเดียว พื้นที่ภาคใต้ มี 3 กลุ่มหลักที่แตกต่างกัน

1. คือฝั่งที่ติดกับอ่าวไทยที่มีมิติทางด้านเศรษฐกิจสังคมการเมืองแบบหนึ่ง

2. กลุ่มอันดามัน มีมิติเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจผู้คนที่แตกต่าง

3. พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ + 4 อำเภอสงขลา รวมถึง จ.สตูล เวลาผมจะอธิบายภาคใต้อยากจะพูดถึงความแตกต่างของ 3 โซนที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภูมิหลังต่างๆ มีความแตกต่างกัน ก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งด้วย

นอกจากนโยบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ครองมาอย่างยาวนาน และหลังจากปี 2562 ปชป.สูญเสียที่นั่งจำนวนมากให้กับพลังประชารัฐ รวมถึงอีกผู้เล่นในสมการที่น่าสนใจคือพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ที่นั่งไปจำนวนไม่น้อยใน

ความเปลี่ยนแปลงของตลาดทางการเมืองระบบพรรคการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ณ ขณะนี้หลังจาก กกต.ประกาศไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าภาคใต้จะได้ ส.ส.เพิ่มมาอีก 2 ที่นั่งคือจังหวัดนครศรีธรรมราชจาก 9 คนเป็น 10 คน และจังหวัดปัตตานีจาก 4 คนเป็น 5 คน หมายความว่าภาคใต้จะมี ส.ส.ทั้งหมด 60 ที่นั่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จาก ส.ส.เขต 400 ที่นั่งคือ 15% นั่นคือจำนวนจะมากขึ้น

สำหรับพรรคการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ซีกฝ่ายพรรครัฐบาลหวังกับพื้นที่นี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ 3 พรรคหลัก และบวกพรรคใหม่ คือรวมไทยสร้างชาติ จากเดิมที่แข่งขันกันระหว่างพลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยล้วนแล้วเป็นสัดส่วนที่อยู่ในซีกของรัฐบาลปัจจุบันทั้งสิ้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบครบ 4 ปี 3 พรรคการเมืองนี้ เป็นผู้ที่กุมทรัพยากรอำนาจรัฐผ่านกระทรวงต่างๆ เราจะเห็นเรื่องของนโยบายที่ออกมา เพื่อช่วยทั้ง 14 จังหวัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด ความพยายามเปิดมิติด้านการท่องเที่ยว และในจังหวัดชายแดนใต้ก็พยายามมีการเปิดการเจรจาพูดคุย ตลอดเวลาที่ผ่านมาซีกที่ได้เปรียบคือซีกของรัฐบาลปัจจุบัน

เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ 3+1 พรรคการเมืองนี้ พูดกันอย่างตรงไปตรงมา คือไม่มีใครที่จะได้เปรียบกันและกันไปกว่าใครเลย เพราะว่าถ้าดูจากตัวผู้สมัคร จากพรรคต่างๆ เราจะเห็นว่ามีการโยกย้ายมีการดึงตัวใช้ทรัพยากรสูง เดิมทีพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคหลัก

แต่ข้อที่น่าสังเกต จากการเปิดตัวมีคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมากส่วนคนเก่าๆ ก็จะมีออกไปอยู่พรรคภูมิใจไทยและพรรคอื่นๆ

ผมคิดว่าสิ่งที่อาจจะต้องรอคือการพูดถึงพรรครวมไทยสร้างชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวชูโรง จะเปิดตัวผู้สมัครที่จะเข้ามาได้ยิ่งใหญ่มากน้อยแค่ไหน การเปิดตัวผู้เล่นแบบเขตของ รทสช. จะเป็นปัจจัยที่จะสามารถชี้ได้ว่าจะสร้างความดุเดือดมากขึ้นขนาดไหน

 

ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์

ณ ปี 2566 ในพื้นที่ภาคใต้

ความนิยม พล.อ.ประยุทธ์ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบกับ 3 พรรคที่เหลือว่าผู้นำมีความใกล้ชิดกับผู้คนในโซนภาคใต้ คนแรกที่อยากจะพูดถึง “หัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” (ที่คนใต้/คนท้ายเหมืองพังงาเขาเรียก) ดูบุคลิกแล้วไม่ค่อยเข้มแข็งพอที่จะก้าวนำพาประเทศ ดูจากการพูดคุยแล้วรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในลักษณะของความเป็นผู้นำ ที่กล่าวมาก็ไม่ได้ต้องการจะวิจารณ์พรรค แต่เป็นการดูจากมุมมองถ้าหากเทียบตัว “ผู้นำพรรค”

ส่วน “คุณอนุทิน ชาญวีรกูล” ดูห่างออกไปจากภาคใต้ แต่ก็ยังมีผู้เล่นระดับแกนนำพรรคในภาคใต้ที่คอยดูอยู่ว่าพื้นที่ไหนที่จะส่ง ส.ส. หรือผู้สมัครแบบไหน ยังถือว่าห่างกับตำแหน่งผู้นำประเทศ

ต่อมา “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มองว่าที่ผ่านมาความนิยมมีให้เห็นไม่มากนัก เพราะครั้งที่แล้วทางพรรคก็ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก

ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งที่เคยมีประสบการณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีทำให้เวลามีการทำโพลออกมา พล.อ.ประยุทธ์จึงมักจะได้คะแนนนิยม

ความนิยมนี้ เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย วาทกรรมความมั่นคงของประเทศ ที่ชัดเจนคือ ถ้าเลือกแล้วประเทศจะสงบ ประกอบกับอุปนิสัยของคนใต้ที่จะชอบคนแข็งแรง เข้มแข็ง ทำให้การเมืองตลอดที่ผ่านมาก็มีความคิดในมิติของความมั่นคงอยู่มาก ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าหลายคนจะเอา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเปรียบเทียบ ทำให้ในมิติความมั่นคงของ พล.อ.ประยุทธ์จะมีคะแนนเสียงที่สูงกว่าคนอื่นๆ และจากความอ่อนแอลงของ ปชป. ทำให้คนใต้ที่เดิมผูกโยงอยู่กับพรรคนี้ ไม่รู้จะไปไหน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถแทรกเข้ามาในบทบาทผู้นำได้ และน่าสนใจว่าทำให้พรรคภูมิใจไทยก็สามารถแทรกเข้ามาได้ด้วย ซึ่งก็น่าสนใจว่าจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นหรือไม่?

คราวนี้กลับมามองทางซีกฝ่ายค้าน “พรรคเพื่อไทย” ตลอด 2 ทศวรรษยังไม่สามารถสร้างความนิยมให้แก่คนภาคใต้ได้ ทางกลับกัน “พรรคก้าวไกล” เมื่อปี 2562 คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ได้รับคะแนนสียงจากทางภาคใต้ค่อนข้างเยอะเพราะมีความชัดเจน และมีชุดความคิดทางการเมืองที่ถูกใจคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย แต่ปัจจุบันพรรคภายใต้การนำของ “คุณทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ยังไม่รู้สึกว่าพรรคจะแข็งแรงเท่าคุณธนาธร แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงการสร้างความนิยมอยู่ ดังนั้น มองเจาะรายพื้นที่สำหรับปีกฝ่ายค้าน สำหรับเพื่อไทยควรจะตัดออกไปก่อน 3 จังหวัดชายแดน และ 4 อำเภอเพราะมีพรรคประชาชาติที่เป็นพรรคที่คล้ายกัน อยู่ในซีกฝั่งเดียวกันทำให้ถึงแม้จะชอบเพื่อไทย แต่คะแนนเสียงอาจเทไปยังประชาชาติมากกว่า

จะเหลืออีกประมาณ 11 จังหวัด เมื่อพิจารณาแล้วถ้าจะได้ น่าจะเป็นในเขตอันดามัน เพราะพื้นที่นี้มีความปฏิสัมพันธ์กับคนนอกเยอะไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ หรือนักลงทุนต่างๆ ทำให้วิธิคิดวิธีการมองมันก็เหมาะสมกับพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งถ้าพิจารณาตัวผู้เล่นแล้วพรรคเพื่อไทยในเขตอันดามัน ก็เป็นผู้สมัครที่น่าจะพอมีลุ้น แต่ก็คิดว่ายังไม่ง่าย

ส่วนของก้าวไกลถ้ามองตอนนี้ยังไม่ประกาศชัดว่าใครลงพื้นที่ไหนบ้าง แต่ดูจากกระแสแล้วถ้าจะลุ้นอาจต้องลุ้นในพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัย เพราะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นอย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เมืองคิดว่ายังยากอยู่เพราะยังมีการเมืองที่เป็นระบบเครือข่าย หรือระบบอุปถัมภ์เดิมอยู่ในการส่ง ส.ส.เข้าสู่สภา

เพราะฉะนั้น ในเขตพื้นที่เมืองที่มีมหาวิทยาลัย และเขตอันดามันคิดว่าพรรคก้าวไกลก็น่าจะทำคะแนนได้

 

จากประชามติ ถึงเลือกตั้ง 66

กับกรอบคิด คน 3 จังหวัด

จากประชามติปี 2559 จนถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงในปี 2566 ผมคิดว่าผลของประชามติที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 ชัดเจนว่าพรรคประชาชาติที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับทหาร ที่ได้ ส.ส.เยอะที่สุด มันสะท้อนให้เห็นว่าคนภาคใต้ใน 3 จังหวัดปฏิเสธทหาร ย้อนไปในปี 2547 มีการใช้ความรุนแรงทำให้การเลือกตั้งในปี 2548 รัฐบาลชุดนั้นถูกปฏิเสธ

จำได้ว่าตอนนั้น 11 เขตได้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เพราะว่าเขาชอบพรรค แต่เขาต้องการแสดงออกว่าไม่เอารัฐบาลชุดเดิม

การลงคะแนนเสียงมันสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจะกำหนดชะตาชีวิตของตนเองอย่างไร

ซึ่งการเมืองรูปแบบนี้มันจะทำให้พื้นที่ของการใช้ความรุนแรงมันลดลง และมันยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าวิธีคิดของจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้กับสามจังหวัดเขามีกรอบคิดที่ต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งในวิธีการมองรัฐไทย และเรื่องของการเมืองวัฒนธรรมที่มันต่างกัน

ทำให้วิธีคิดวิธีการเลือกผู้นำจึงต่างกัน

 

พรรคประชาธิปัตย์

กับวาทกรรม ส่งเสาไฟฟ้า?

คิดว่าใช้ไม่ได้แล้ว เพราะการแข่งขันตอนนี้สูงมาก

และการเมืองในยุคดิจิทัลนี้ ทุกพรรครู้จักการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล หมายความว่าถ้าจะส่งเสาไฟฟ้าหรือการส่งใครลงไปก็ได้ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

ทำให้ในตอนนี้การส่งตัวแทนลงในแต่ละพื้นที่ทุกพรรคจำเป็นต้องคัดคุณภาพด้วย

 

“ลุงป้อม 700 ลุงตู่ 1000”

นโยบายประชานิยมมีผลต่อพื้นที่?

นโยบายเหล่านี้ตอนนี้ก็มีผลในเชิงการพูดกันของชาวบ้าน ต้องเป็นนโยบายที่เข้าใจง่ายทำให้คนพูดต่อๆ กัน ตอนนี้ผมคิดว่าเรื่องของแคมเปญนโยบายของพรรคการเมืองจะเริ่มมีให้เราเห็นเรื่อยๆ เพื่อให้คนพูดถึง เพราะการเมืองตอนนี้จะเริ่มเอียงไปทางนโยบายมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่จะยึดอยู่กับตัวบุคคล

ผมคิดว่าตอนนี้ทุกพรรคการเมืองอาจต้องทำนโยบายต่างๆ นำเสนอด้วยภาษาที่คนเข้าใจได้ง่าย สำหรับภาคใต้นโยบายเองก็มีส่วนหากดูย้อนไป นโยบายยางพาราที่เคยล้มรัฐบาลมาแล้ว โดยพื้นฐานเลยสำหรับภาคใต้ในเรื่องของราคายาง พืชสวน ผลไม้ ที่เป็นสินค้าหลักของภาคใต้ที่ค่อนข้างมีผล

สุดท้าย ผมคิดว่าการเมืองภาคใต้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน เกิดจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน

อย่างแรกคือพรรคประชาธิปัตย์อ่อนแรงลงทำให้คนใต้จะหาที่มั่นใหม่

สอง ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นประเด็นทางด้านของเศรษฐกิจดิจิทัล และคนรุ่นใหม่ทำให้เห็นว่าภาคใต้ที่ผ่านมา ไม่ได้ไปไกลเลย สิ่งที่ภาคใต้ต้องการตอนนี้คือนโยบายรัฐบาลหรือกลุ่มคนที่จะนำภาคใต้ไปสู่มิติใหม่

สุดท้ายสิ่งที่จะต้องจับตามองตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจำนวน 60 เขต หรือ 15% นี้จะเป็นตัวบ่งบอกอนาคตว่าคนใต้ต้องการอนาคตแบบไหน

ชมคลิป

https://www.youtube.com/@MatichonWeekly/videos