อย่าคาดหวังการปฏิวัติจากการเลือกตั้ง ระบอบ คสช. กลายร่างจะดำรงอยู่ต่อไป เตือน ‘ก้าวไกล’ รักษาจุดแข็งให้มั่นคง

นับถอยหลังการเข้าสู่ การเลือกตั้งใหญ่ที่เหลือเวลาอีกไม่นาน การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองครั้งสำคัญ หรือจะเป็นการสืบทอดอำนาจต่อไปของระบอบ คสช.กลายร่าง ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี สัมภาษณ์พิเศษ “อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล” อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ถึงศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะช่วยเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้นจากเดิมได้หรือไม่

และคนไทยคาดหวังได้แค่ไหนกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างหนึ่งที่ผมอยากจะพูดคือ อย่าคาดหวังการปฏิวัติจากการเลือกตั้ง การปฏิวัติในที่นี้หมายความว่า อย่าคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนเแปลงอะไรแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินจากการเลือกตั้ง เพราะว่าตัวระบบเลือกตั้งมันคือกระบวนการทางการเมือง การเลือกตั้งคือการทำให้การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น

ประวัติศาสตร์ในโลกนี้แทบไม่เห็นการปฏิวัติที่มาจากการเลือกตั้งแบบจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ไม่เลยครับ ถ้าเกิดเราคาดหวังการเปลี่ยนแปลงแบบนั้น มันต้องปฏิวัติที่หมายถึงการลุกฮือของมวลชน ซึ่งแม้แต่กระทั่งการลุกฮือของมวลชนในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้เปลี่ยนมากนัก

หรือแม้กระทั่งสังคมไทย การลุกฮือของมวลชนหลายครั้งมันก็เปลี่ยนได้เฉพาะบางจุด เช่น 14 ตุลาคม 2516 ก็เปลี่ยนแค่ผู้นำ 3 คนออกไป โครงสร้างอะไรไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตัวระบบเลือกตั้ง มันคือกระบวนการทางการเมืองที่พยายามทำให้ทุกอย่างค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด

ในรัฐสภายังมี ส.ว.อายุ 5 ปี พวกนี้ยังเหลืออีก 1 ปี ต่อให้พ้นจาก ส.ว. ก็ยังมีองค์กรอิสระอย่างน้อย 3 องค์กรที่มีอำนาจในการกำกับความเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ในความเห็นผมมี กกต., ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ต่อให้ ส.ว.ไม่อยู่ แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าทั้ง 3 องค์กรจะยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบชนิดที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นมาในสังคมการเมืองไทย

หลายๆ เรื่องผมก็กังวล เช่น ตอนนี้ กกต.จะออกกฎเกณฑ์ว่าด้วยการยุบพรรคแบบเทอร์โบ ผมรู้สึกว่าหน้าที่ของ กกต.สำคัญสุดคือควรจะจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม

แต่ กกต.กลับมาสนใจเรื่องการยุบพรรค แล้วที่สำคัญมันคือการพุ่งเป้าไปที่บางพรรค

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าดูโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ถ้าจะหวังให้เห็นการเปลี่ยนแปลง มันคงไม่เยอะมาก

แต่ถ้าเราดูในมุมอำนาจของรัฐบาลตอนนี้ อย่างน้อยผมคิดว่ามันกำลังจะเปลี่ยนผ่าน หลังปี 2557 มันเป็นระบบ คสช. ที่ขาต้องยืนอยู่กับกองทัพ จนกระทั่งมาถึงการเลือกตั้งปี 2562 อันนี้ระบอบ คสช.ต้องพึ่งกองทัพเยอะ พอปี 2562 เลือกตั้งเสร็จอันนี้ผมเรียกว่าเป็นระบอบ คสช.กลายร่าง ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องมายืนบนขาของนักการเมืองมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทำให้คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องมาดีลกับนักการเมืองมากขึ้น บทบาทของกองทัพเริ่มน้อยลง

ถามว่าช่วงเลือกตั้ง 2566 ไป ผมคิดว่ามันก็ยังอยู่ในภาวะที่เรียกว่ามันยังเป็นระบอบ คสช.กลายร่างอยู่

เพียงแต่ว่ามันอาจจะเบาลงกว่าตอนปี 2562 ที่ยังมี กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ คอยกำกับความเปลี่ยนแปลงเอาไว้

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง แต่มันคงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร

 

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ตั้งคำถามว่า หรือจนกว่าตัวละครหรือผู้นำรัฐประหารจะพ้นจากการเมือง ถึงจะทำให้การเมืองไทยดีขึ้น?

อาจารย์สมชายบอกว่า ผมคิดว่า 3 องค์กรนี้เวลาทำหน้าที่ นอกจากปกป้อง คสช.แล้วผมคิดว่าสิ่งที่เขาทำคือเขาปกป้องสิ่งที่เรียกว่าอำนาจนำดั้งเดิมของสังคมไทย มันไม่ใช่แค่เพียงทหาร แต่มันมีหลายกลุ่ม

เช่น เรามีกลุ่มทุนผูกขาดที่เข้ามาสนับสนุน อย่างน้อย 8 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนผูกขาดเจริญรุ่งเรืองมาก

ฉะนั้น ผมคิดว่าแม้ว่าคุณประยุทธ์ คุณประวิตรจะไม่อยู่ องค์กรพวกนี้ผมคิดว่ายังจะมีบทบาทปกป้องสิ่งที่เรียกว่าอำนาจนำดั้งเดิมของสังคม

มันมีกรณีศึกษาจากหลายๆ ประเทศว่า ทำไมต้องหันมาพึ่งองค์กรพวกนี้ เขาพบว่าองค์กรพวกนี้ในเวทีเลือกตั้ง ชนชั้นนำดั้งเดิมสู้ไม่ได้ สู้ยังไงก็แพ้ ทางที่ดีที่สุดคือใช้องค์กรพวกนี้ที่มาจากการแต่งตั้ง ที่อ้างว่ามีทักษะความรู้ มาทำหน้าที่เป็นตัวกำกับความเปลี่ยนแปลง

เมื่อไรที่เกิดการรัฐประหารปุ๊บ สิ่งแรกที่คนกลุ่มนี้ทำก็คือเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ซึ่งแปลว่าพยายามจะออกแบบระบบเลือกตั้งทำยังไงให้ตัวเองชนะ แต่พบว่าแม้พยายามจะออกแบบยังไงก็ไม่สามารถยึดครองสนามเลือกตั้งได้

ผมคิดว่าเลือกตั้งในปี 2562 ในทัศนะผมถือว่าประหลาดพิกล ใบเดียวแต่นับ 2 ครั้ง นี่ก็ประหลาดพิกลแล้วนะ กลายเป็นว่าในที่สุดระบบเลือกตั้งสุดท้ายกลับไปใช้เหมือนปี 2540 ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยตอนนี้ตระหนักแล้วว่า ถ้าเล่นเกมเลือกตั้ง เล่นเกมในสนามเลือกตั้งเมื่อไหร่ สู้นักการเมืองที่อยู่ในระบบการเลือกตั้งไม่ได้ ผมเข้าใจว่าระบบการเลือกตั้งในเมืองไทยตอนนี้เปลี่ยนมาจนไม่รู้จะเปลี่ยนไปยังไง และเปลี่ยนมาจนเป็นแบบนี้

พอปี 2566 ผมคิดว่ามันเริ่มเปลี่ยน การย้ายค่าย จะเริ่มเป็นไปตามที่นักการเมืองคาดเดาได้มากขึ้น พอเป็นแบบนี้เราก็เห็นได้ชัดว่าในสนามเลือกตั้ง กลุ่มเครือข่ายชนชั้นนำดั้งเดิมสู้ไม่ได้ จึงพยายามออกแบบ ส.ว. ลากมา 5 ปี ถึงปีหน้าจะหมดไป แต่องคาพยพอันอื่นก็จะยังอยู่

 

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ตั้งคำถามอีกว่า ถ้าต้องรอการเลือกตั้งให้ผ่านไปอีก 2-3 ครั้ง ถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ หมายความว่าประชาชนต้องทนอยู่กันแบบนี้?

อาจารย์สมชายบอกว่า ก่อนหน้านี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เคยเสนอมาหลายครั้ง ว่าดูเหมือนสังคมไทยจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้ ถ้ายังไม่ตระหนักว่าตอนนี้มีคนในสังคมจำนวนมากไม่พึงพอใจระบบการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่แบบนี้ แล้วคนกลุ่มเหล่านี้ ผมคิดว่าเขากล้าหาญและทุ่มเทได้มากกว่าคนรุ่นผม ถ้าสมมุติว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น ผมคิดว่าแรงกดดันจากการเมืองบนท้องถนนจะเพิ่มขึ้น

ลองคิดดูว่าในรอบปี 2563-2564 ที่ผ่านมา เราเห็นการเมืองบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่าเราจะเห็นการปรับตัวจากชนชั้นนำที่มากกว่านี้

แต่พอมาถึงตอนนี้เครือข่ายชนชั้นนำไทยปรับตัวต่ำมาก ในขณะเดียวกันเราก็เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะต่อสู้อย่างจริงจัง ซึ่งถ้าเกิดการเมืองไทยมันไม่เปลี่ยน ผมคิดว่ามันก็เป็นไปได้ที่อาจจะเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น

แต่ในโลกความเป็นจริง ถ้าถามผม ถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบสันติ นาทีนี้ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลคือเป้าหมายที่เราควรจะเลือก

ผมคิดว่าในแง่หนึ่งพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ในทุกประเด็น

บางประเด็นมีจังหวะที่จะถอยที่จะต่อรองกับพรรคอื่นๆ ในขณะที่พรรคก้าวไกล ถามผมสิ่งที่จะทำให้เราหย่อนคะแนนให้พรรคก้าวไกล สิ่งที่พรรคควรทำคือควรประกาศแนวนโยบายและแนวทางของตัวเองให้ชัด การไปเน้นประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องให้มากขึ้น โอเคในแง่หนึ่งมันก็ดี ทำให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลถูกมองว่าสนใจประเด็นอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่ว่าเมื่อไหร่ที่หันไปเสนอนโยบายเหมือนกับพรรคอื่นๆ ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลจะถูกกลืน

อาจารย์สมชายยังกล่าวอีกว่า ถ้าเพื่อไทยกับก้าวไกลเสนอประเด็นนโยบายทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คนจำนวนมากจะเลือกเพื่อไทยเพราะมีผลงานมาก่อน

แต่สิ่งที่ต่างคือพรรคก้าวไกลต้องเสนอนโยบายที่จะผลักสังคมไทยไปสู่อนาคต และนี่คือจุดแข็งของพรรคก้าวไกล

แต่ถ้าก้าวไกลถอยประเด็นนี้หรือทำให้เบาลง ฐานเสียงที่สนับสนุนจะหายไป

 

อาจารย์สมชายสรุปทิ้งท้ายไว้ก่อนจบการสัมภาษณ์ครั้งนี้ไว้ว่า อย่าคาดหวังการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง ผ่านการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวว่าจะพลิกแผ่นดินได้

อย่างน้อยอาจจะต้องใช้เวลาผ่านการเลือกตั้งอย่างน้อยสองหรือสามครั้ง

เนื่องจากประเทศของเรามีโครงสร้างที่สะสมปัญหาหมักหมมมานาน

การแก้ไขให้ดีขึ้นในครั้งเดียวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน