TDRI จี้พรรคการเมือง เสนอนโยบายที่ทำได้จริง ไม่สร้างภาระการคลัง

การเลือกตั้งใหญ่ใกล้เข้ามา พรรคการเมืองปล่อยนโยบายหาเสียงเลือกตั้งออกมากันเกือบทุกพรรคแล้ว ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดก็เป็นนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ-ปากท้องของประชาชน

นโยบายที่หลายพรรคชูขึ้นมาเรียกคะแนนนั้นจะให้ประโยชน์แก่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม มีเสียงทักท้วงจากภาควิชาการถึงความเป็นไปได้จริงว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน หรือถ้าทำได้จริงก็อาจจะสร้างภาระทางการคลังในระยะยาว

โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความกังวลว่า จากนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงกันนั้นมีอย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี

และหากรวมนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (โดยไม่นับนโยบายที่ซ้ำกัน) ก็ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นหลายประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่ง ดร.สมเกียรติเป็นคนหนึ่งที่มั่นใจว่าประเทศไทยมีความหวังและมีอนาคต เพียงแต่ที่ผ่านมาพลาดโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายตามศักยภาพที่แท้จริง

ดังนั้น ต้องอาศัยภาวะทางการเมืองที่จะนำประเทศไทยไปสู่จุดมุ่งหมายให้ได้

ดร.สมเกียรติเชื่อว่า การที่ประเทศจะไปได้ดี “ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยก่อน” เพื่อจะได้มีนโยบายสาธารณะที่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ

แต่ถึงอย่างนั้น ดร.สมเกียรติได้ยกงานวิจัยของทีดีอาร์ไอมาชี้ข้อควรระวังในการออกนโยบายของพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองมักจะเอาใจประชาชนในระยะสั้น นำเสนอสิ่งที่เห็นผลและจับต้องได้ในระยะสั้น แข่งกันลด แลก แจก แถม ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

แต่บางเรื่องต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะสร้างภาระทางการคลัง เป็นการนำเงินของอนาคตมาใช้ในวันนี้

“นโยบายสาธารณะที่ดีควรจะเป็นนโยบายที่เมื่อพรรคการเมืองสัญญาแล้วสามารถทำได้จริง ทั้งในทางการเมือง คือไม่ติดกฎหมายใดๆ หรือติดกฎหมายก็ต้องแก้ไขได้ และเป็นไปได้ในทางการคลัง มีสตางค์มากพอที่จะมาทำ และไม่สร้างภาระหนี้สินให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

ประธานทีดีอาร์ไอยังชี้อีกว่า มีนโยบายที่ไม่ได้เป็นต้นทุนทางการเงินแต่ก็ไม่ควรทำด้วยเช่นกัน ก็คือ นโยบายที่ทำให้เสียวินัยของประชาชนและวินัยด้านการเงินของประเทศ เช่น การยกหนี้โดยไม่มีเงื่อนไข

และนโยบายอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนมากๆ เช่น นโยบายในการเปิดเสรีสารเสพติด ซึ่งถ้าทำโดยไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ ไม่มีกลไกเตรียมการที่ดีพอ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้

 

ข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยของ ดร.สมเกียรติ และคณะนักวิจัยทีดีอาร์ไอ คือ อยากให้พรรคการเมืองทบทวนนโยบายว่าเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริงหรือไม่ทั้งในทางการคลังและในทางการเมือง เพราะนโยบายและคำสัญญาของพรรคการเมืองนั้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจ และมีผลต่อการลงหลักปักฐานประชาธิปไตยของประเทศไทย

ดร.สมเกียรติอธิบายขยายความว่า ถ้ารัฐบาลนำนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ไปทำ ประเทศไทยมีโอกาสจะเกิดวิกฤตทางการคลัง เพราะมีเงินไม่พอ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากพรรคการเมืองได้เป็นรัฐบาลแต่ไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติได้ ประชาชนก็จะมีคำถามต่อระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบที่ดีจริงหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริงไหม

แล้วอาจจะทำให้ประเทศไทยถดถอยกลับไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีก

“พรรคการเมืองควรจะต้องทบทวนด้วยว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำ นักการเมือง-พรรคการเมืองที่รับผิดชอบ ควรเสนอนโยบายที่เป็นไปได้จริง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ทำนโยบายเหล่านี้ออกมาให้สำเร็จให้ได้”

 

สําหรับนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดร.สมเกียรติแสดงความเห็นว่า เป็นนโยบายที่มีความจำเป็น เพราะว่าที่ผ่านมานั้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยปรับขึ้นน้อยเกินไป จึงควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้มากขึ้น แต่ไม่ควรขึ้นแบบก้าวกระโดด

“การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างที่ควรจะเป็น ควรจะต้องปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยดูประสิทธิภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ดูค่าครองชีพที่แรงงานที่ครัวเรือนต้องจ่าย ให้พอกินพอใช้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่อั้นค่าจ้างขั้นต่ำไว้นานๆ อย่างที่เคยเป็นมาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แล้วก็จะปล่อยให้มีการกระโดดครั้งใหญ่ ซึ่งธุรกิจเองก็จะรับมือไม่ไหว”

นอกจากจะเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ดร.สมเกียรติยังเห็นด้วยกับนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมให้มากขึ้น

“ประเทศไทยคงไม่สามารถมีสวัสดิการมากมายเหมือนสแกนดิเนเวียซึ่งเก็บภาษีในระดับสูง แต่ประเทศไทยก็ควรให้สวัสดิการแก่กลุ่มเปราะบางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก หรือกลุ่มต่างๆ อีกมากมาย”

แต่ก็เน้นย้ำสิ่งที่พรรคการเมืองควรทำว่า พรรคการเมืองควรดูในภาพรวมว่านโยบายทั้งหมดของพรรคตนเองก่อให้เกิดภาระการคลังหรือไม่ ต้องใช้เงินเท่าไร และจะหาเงินมาจากไหน

 

ยังมีข้อเสนอแนะสำหรับพรรคการเมืองที่ต้องตัดสินใจแลกได้แลกเสีย ในเมื่อไม่สามารถทำทุกเรื่องที่จะเอาใจคนทุกกลุ่มได้ ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะเอานโยบายไหนมาทำก่อน-ทำหลัง ด้วยน้ำหนักเท่าไร ด้วยเงินในแต่ละเรื่องจำนวนเท่าไร ถ้าทำแบบนี้จึงจะมีความเป็นไปได้ทางการคลัง และสามารถนำนโยบายที่หาเสียงไปปฏิบัติได้จริง

เมื่อถามถึงทุนใหญ่กับการเมือง ดร.สมเกียรติแสดงความเห็นว่า เป็นที่ทราบกันว่าบริษัทใหญ่ๆ เป็นสปอนเซอร์ของพรรคการเมืองและมีอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งประเด็นที่คิดว่าประชาชนอยากทราบก็คือ แต่ละพรรคได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจใหญ่ๆ มากน้อยขนาดไหน จะส่งผลให้เมื่อแต่ละพรรคเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วหันเหนโยบายไปเอาใจธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าประชาชนหรือไม่

“ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ระบอบประชาธิปไตยก็จะเดินหน้าได้ไม่ค่อยดี เพราะสิ่งที่นักการเมืองหาเสียงกับสิ่งที่ส่งมอบต่อประชาชนไม่ตรงกัน”

“เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนใดก็ตาม เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว เวลาจะกำหนดนโยบายต้องมีกระบวนการในการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน แรงงาน ธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม สตาร์ตอัพ ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ว่าแต่ละนโยบายที่จะเอามาปฏิบัตินั้นส่งผลกระทบกับแต่ละกลุ่มอย่างไร แล้วเปิดฟังเสียง เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สมดุลว่ารัฐบาลถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่ไป”

 

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีแบบไหนที่จะเหมาะสมกับการบริหารประเทศไทยในช่วง 4 ปีต่อจากนี้

ดร.สมเกียรติตอบทันทีว่า “สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น พรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเยอะๆ ควรมีโอกาสได้เสนอตัวผู้แทนของพรรคตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี”

“แน่นอนว่านอกจากเสียงข้างมากแล้ว ประชาชนคงอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถ มีภาวะผู้นำในการนำประเทศไปสู่โลกใหม่ที่มีปัญหาท้าทายอยู่มากมาย ซึ่งแปลว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่ฟังคนเป็น เลือกใช้รัฐมนตรีที่เหมาะสม-มีความสามารถ เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง”

ประธาน TDRI เสนอแนะไปถึงว่าที่รัฐบาลใหม่ด้วยว่า เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการได้จริง รัฐบาลใหม่ต้องมีเสถียรภาพพอสมควร

ซึ่งแปลว่านายกรัฐมนตรีต้องมีภาวะผู้นำ สามารถประสานผลประโยชน์ในทางการเมืองกับผลประโยชน์สาธารณะได้ดีพอสมควร มีภาวะผู้นำในลักษณะที่ปลุกเร้าความรู้สึกดีๆ ให้ประชาชนมาช่วยกันพัฒนาประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อไป